×

อัปเดตประมาณการเศรษฐกิจไทย-ทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย แต่ละสำนักมองอย่างไร?

10.06.2024
  • LOADING...
ดอกเบี้ยนโยบาย

จับตาผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธที่ 12 มิถุนายนนี้ ท่ามกลางปัจจัยซับซ้อนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ต่ำรั้งท้ายหลายประเทศในภูมิภาค โดยขยายตัวเพียง 1.5%YoY ในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุด (เดือนพฤษภาคม) ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 13 เดือน และแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล

 

จากการสำรวจประมาณการของสำนักวิจัยต่างๆ พบว่า มีความเห็นที่หลากหลาย โดยนักวิเคราะห์ 17 จาก 20 รายในการสำรวจของ Bloomberg คาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50%

 

ขณะที่ UOB ระบุใน Markets Overview ที่เผยแพร่วันนี้ (10 มิถุนายน) ว่า มีโอกาสที่ กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมวันพุธนี้ (12 มิถุนายน) อย่างไรก็ตาม UOB ก็ยังมองว่า กนง. มีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม จากเห็นท่าทีที่แข็งกร้าวของ ธปท. ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เรื้อรัง

 

กสิกรไทยมอง กนง. ไม่ลดดอกเบี้ยทั้งปี

ขณะที่ ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH โดยมองว่า การประชุม กนง. ครั้งนี้ คณะกรรมการน่าจะมีมติไม่เอกฉันท์เช่นเดิม โดยเสียงส่วนใหญ่น่าจะลงความเห็นให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% เนื่องจากให้น้ำหนักไป 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่

 

  1. ทิศทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง จากภาคท่องเที่ยวและภาคส่งออกที่ฟื้นตัวจากฐานต่ำในปีที่แล้ว
  2. แรงกดดันจากเงินเฟ้อต่ำก่อนหน้านี้ก็ลดลงไปแล้ว

 

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนในช่วงนี้ ณัฐพรมองว่าน่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ กนง. ติดตาม เนื่องจาก “ก่อนหน้านี้ กนง.ใช้คำว่าติดตามเรื่องเงินบาทมาโดยตลอด และน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาด้วย เนื่องจากตอนนี้เงินบาทเหวี่ยงค่อนข้างสวิงจาก 36 บาทต่อดอลลาร์ไป 37 บาทต่อดอลลาร์”

 

อย่างไรก็ดี ณัฐพรไม่ได้คิดว่า ธปท. จะใช้เครื่องมืออย่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาดูแลเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากต้นทุนอาจสูงเกินไป และ ธปท. ก็มีเครื่องมืออื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพในการดูแลเสถียรภาพได้ดีกว่า

 

CIMB มอง ไทย-สหรัฐฯ กอดคอ ‘คงดอกเบี้ย’

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH โดยคาดการณ์ว่า การประชุม กนง. วันพุธนี้ คณะกรรมการน่าจะมีมติไม่เอกฉันท์เช่นเดิม โดยส่วนใหญ่น่าจะลงคะแนนคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% เนื่องจากการให้น้ำหนักกับปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทย และอัตราเงินเฟ้อที่กลับมาพลิกบวกได้

 

อย่างไรก็ดี ดร.อมรเทพยืนยันว่า ทั้ง 3 ปัจจัยที่กล่าวมาไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการลดดอกเบี้ย เนื่องจากก่อนหน้านี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และแคนาดา (BOC) ก็ลดดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไปแล้ว โดยไม่ได้เกิดผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนเนื่องจากมีการสื่อสารที่ชัดเจน

 

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ ดร.อมรเทพประเมินว่า น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% เช่นกัน แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ Dot Plot ว่า Fed จะปรับลดคาดการณ์การลดดอกเบี้ยในปีนี้ลงหรือไม่จาก 3 ครั้งในปัจจุบัน เนื่องจากตลาดมองว่าปีนี้ Fed มีโอกาสอาจลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว

 

นอกจากนี้ ดร.อมรเทพยังมองว่า มีสิ่งที่ต่างออกไปในการประชุม กนง. รอบนี้จากรอบก่อนอยู่ 2 ประการ ได้แก่

 

  1. แรงกดดันในการลดดอกเบี้ยน่าจะเบาบางลง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) มีการประกาศลดดอกเบี้ย MRR เพื่อช่วยลูกค้ารายย่อย ซึ่งนับเป็นมาตรการที่ตรงจุดไปแล้ว
  2. พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 นำมาใช้ได้เต็มที่แล้ว ทำให้มีเครื่องมือจากนโยบายการคลังเข้ามาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ

 

สำนักวิจัยต่างๆ มอง GDP ไทยโตไม่ถึง 3% ในปีนี้

ส่วนประมาณการ GDP ของไทยปี 2567 พบว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สำนักวิจัยหลายแห่งก็ประกาศปรับลดคาดการณ์ลง ตัวอย่างเช่น SCB EIC, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และศูนย์วิจัยกรุงศรี เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น

 

  • การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งแม้ว่าจะกลับมาเร่งตัวจากการเร่งรัดเบิกจ่ายหลังพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ประกาศใช้ล่าช้ากว่าครึ่งปี แต่จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม
  • ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงชะลอลงต่อเนื่อง
  • ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดน้อยกว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า จากผลกระทบของสภาพอากาศที่ร้อนจัดและภัยแล้ง
  • การส่งออกไทยหดตัวจากปีก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยฐานสูง ประกอบกับการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยที่ส่งผลให้การส่งออกไทยฟื้นตัวช้า
  • ประสิทธิภาพของแรงงาน (Labor Productivity) หลังจากเกิดโควิดลดลงถึง -1.6% ต่อปี และลดลงชัดเจนในหลายภาคอุตสาหกรรม
  • การลงทุนภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากความอ่อนแอของภาคส่งออก และความล่าช้าของการลงทุนภาครัฐ

 

ดอกเบี้ยนโยบาย

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X