วันนี้ (1 เมษายน) ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวบนบกบริเวณประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.20 น. ของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รับรู้แรงสั่นสะเทือน และหลายพื้นที่ได้รับความเสียหายนั้น
ปัจจุบัน มีรายงานพื้นที่รับรู้แรงสั่นสะเทือนรวมจำนวน 63 จังหวัด และมีพื้นที่ได้รับความเสียหายจำนวน 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และชัยนาท รวม 104 อำเภอ 278 ตำบล 416 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 591 หลัง วัด 68 แห่ง โรงพยาบาล 94 แห่ง อาคาร 11 แห่ง โรงเรียน 62 แห่ง สถานที่ราชการ 29 แห่ง และมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 34 ราย (กรุงเทพมหานคร 33 ราย จังหวัดนนทบุรี 1 ราย) และผู้เสียชีวิต 19 ราย ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ส่วนของการแก้ไขและให้ความช่วยเหลือประชาชนของกรุงเทพมหานคร ด้านการแก้ไขสภาพการจราจรในพื้นที่ ปัจจุบัน (1 เมษายน) ลดการปิดเส้นทางจราจรบริเวณพื้นที่เกิดเหตุอาคารถล่มเหลือเพียง 1 เส้นทาง คือเส้นทางสายกำแพงเพชร 2 เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัยในการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนออกมาจากอาคาร
สำหรับการให้บริการรถไฟฟ้า วันนี้ทุกสายเปิดให้บริการตามปกติ ยกเว้นสายสีชมพู ซึ่งยังต้องมีการตรวจสอบรางจ่ายไฟฟ้าที่สถานีมีนบุรีเพิ่มเติม ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมได้จัดรถขนส่งมวลชน ของ ขสมก. ให้บริการประชาชน จนกว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูจะกลับมาให้บริการได้ตามปกติ ในส่วนการปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุอาคารถล่ม วันนี้จะยังคงใช้เครื่องจักรกลหนักในการปฏิบัติการควบคู่กับการปฏิบัติงานของทีมค้นหาและกู้ภัย ซึ่งจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนของการตรวจสอบอาคาร ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบไปแล้วทั้งสิ้น 355 แห่ง และจะเร่งตรวจสอบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบความเสียหายของอาคารบ้านเรือนเบื้องต้นด้วยตนเองได้ผ่าน Traffy Fondue ซึ่งมีวิศวกรอาสาคอยตรวจสอบและประเมินความเสียหาย รวมถึงให้คำแนะนำประชาชน
นอกจากนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองยังได้สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของอาคาร โดยแบ่งอาคารออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นอาคารของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งกรมโยธาฯ ได้เร่งตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยวานนี้ (31 มี.ค. 68) ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 73 แห่ง กลุ่มที่ 2 ได้แก่ อาคารที่มีทางเชื่อม อาคารสูง คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า อาคารของภาคเอกชน ซึ่งเป็นอาคารที่ต้องมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกปีตามปกติ จึงได้ประสานให้เจ้าของอาคารแจ้งผู้ตรวจสอบเข้าดำเนินการ
หากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอสามารถประสานมายังกรมโยธาฯ เพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจสอบ และกลุ่มที่ 3 ได้แก่ อาคาร บ้านเรือน ตึกแถวของประชาชน ซึ่งกรมโยธาฯ ได้ประสานและดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานครในการตรวจสอบความปลอดภัย ในส่วนของพื้นที่ต่างจังหวัด ได้สั่งการให้สำนักงานโยธาธิการจังหวัดเร่งตรวจสอบอาคาร โดยเน้นไปที่กลุ่มอาคารที่คนจำนวนมากใช้ปฏิบัติงานหรือใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาลที่มีผู้ใช้บริการและผู้ป่วยพักรักษาตัวเป็นจำนวนมาก
ด้านการดูแลสภาพจิตใจของประชาชน กระทรวงสาธารณสุขได้มีการดูแลเยียวยาจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในรูปแบบ On site On call และ On air โดยในส่วนของ On site ได้มีการจัดทีมเยียวยาจิตใจ ดูแลสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ครอบครัวและญาติผู้ได้รับบาดเจ็บ ครอบครัวและญาติผู้เสียชีวิต รวมถึงครอบครัวและญาติผู้เสียหายอย่างใกล้ชิด ณ พื้นที่เกิดเหตุ โรงพยาบาลที่พักรักษาตัว และภูมิลำเนาของครอบครัว ในส่วนของ On Call ได้เปิดสายด่วน 1323 และ 1667 เพื่อรับฟัง ให้คำแนะนำ และดูแลสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบ และในส่วนของ On Air ได้ขอความร่วมมือไปยังสื่อต่าง ๆ เพื่อช่วยเผยแพร่ข้อมูล รวมถึงงดการแชร์ภาพผู้เสียชีวิต และงดสอบถามความรู้สึกจากญาติผู้ได้รับผลกระทบ
ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ส่งทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (USAR) ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้าสนับสนุนการปฏิบัติงานค้นหาผู้สูญหายจากเหตุอาคารถล่มในเขตจตุจักรเพิ่มเติม โดยปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ USAR ปภ. ปฏิบัติงานรวมทั้งสิ้น 77 นาย และได้ส่งเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี เขต 2 สุพรรณบุรี เขต 3 ปราจีนบุรี และเขต 16 ชัยนาท สนับสนุนการปฏิบัติการค้นหาผู้ประสบภัย ร่วมกับทีมค้นหาและกู้ภัยของกรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม รวมถึงทีมค้นหาและกู้ภัยจากนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น จีน อิสราเอล สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเม็กซิโก ที่เข้ามาร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้
ทีม USAR ปภ. จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และประสานการปฏิบัติงานกับทีมค้นหาและกู้ภัยที่ร่วมปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีความคืบหน้าโดยเร็วที่สุด