×

เงินบาทจะแข็งถึงไหน? กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร?

26.09.2024
  • LOADING...
เงินบาท

HIGHLIGHTS

  • ตั้งแต่ต้นปี (YTD) เงินบาทแข็งค่ากว่า 4% แล้ว แข็งค่าและผันผวนเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า บาทแข็งค่าเฉลี่ยทุกๆ 1% ต่อปี อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี และอาจฉุดรายได้จากท่องเที่ยวถึง 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีด้วย
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยามอง บาทมีโอกาสแตะ 32 หรือ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่น่าจะยืนระยะได้นาน
  • เหตุมองบาทแข็งค่าต่ำกว่า 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็เกินปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยแล้ว

ตั้งแต่ต้นปี (YTD) เงินบาทแข็งค่ากว่า 4% แล้ว นับว่าแข็งค่าและผันผวนเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวในช่วง 1 ปี (52-Week Range) อยู่ที่ราว 32.5637.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

โดยเมื่อวันที่ 25 กันยายน พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนมากขึ้น และปรับแข็งค่าเร็วอยู่ในกลุ่มนำสกุลภูมิภาคในไตรมาส 3 จากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

 

  • การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด จีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเงินสกุลภูมิภาค
  • เงินลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม
  • ราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่

 

ทำไมเงินบาทแข็งนำภูมิภาค?

 

จากการรวบรวมข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH พบว่า เงินบาทแข็งเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค เป็นรองเพียงริงกิตมาเลเซียเท่านั้น

 

  • มาเลเซียแข็งค่า 9.69%
  • ไทยแข็งค่า 4.43%
  • สิงคโปร์แข็งค่า 2.34%
  • อินโดนีเซียแข็งค่า 1.69%
  • จีนแข็งค่า 1.05%
  • อินเดียอ่อนค่า 0.58%
  • ฟิลิปปินส์อ่อนค่า 1.09%
  • เวียดนามอ่อนค่า 1.33%
  • ญี่ปุ่นอ่อนค่า 2.53%
  • เกาหลีใต้อ่อนค่า 3.23%
  • ไต้หวันอ่อนค่า 4.24%

 

โดย รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเป็นผลมาจากราคาทองคำ ซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed อีกที

 

นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีท่าทีว่ายังไม่รีบลดดอกเบี้ยนโยบายก็มีน้ำหนักบ้าง แต่มีน้ำหนักน้อยกว่าปัจจัยนอกประเทศ

 

“ค่าความสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างทองคำกับเงินบาทแทบจะสูงที่สุดในภูมิภาค กล่าวคือเมื่อราคาทองคำแพง เงินบาทก็จะแข็งค่าตามไปด้วย” รุ่งกล่าวพร้อมอธิบายว่า เมื่อผู้ค้าทองในประเทศนำทองออกมาขาย พอขายได้ในรูปดอลลาร์ แล้วค่อยแลกกลับมาเป็นเงินบาท จึงทำให้บาทแข็งค่าหนักไปอีก

 

เงินบาทจะแข็งถึงไหน?

 

รุ่งยังกล่าวอีกว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าหลุดระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ภายในปีนี้ เนื่องจากในไตรมาสที่ 3 เพียงไตรมาสเดียว เงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบ 12% โดยหลักๆ ให้น้ำหนักไปที่แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed มากที่สุดมากกว่าปัจจัยอื่นๆ

 

“ถ้าถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ก็มองว่ามีความเป็นไปได้ทั้งนั้นที่บาทจะแข็งค่าลงมาต่ำกว่า 32 หรือ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะอยู่ได้ไม่นานและไม่น่าจะยืนระยะได้ เนื่องจากในที่สุดแล้วคนก็จะกลับมาดูว่าบาทแข็งเกินปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจหรือไม่”

 

กรุงศรีมอง เงินบาทแข็งเกินปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแล้ว

 

รุ่งยังมองว่าการที่บาทแข็งค่าต่ำกว่า 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ลงมาก็เกินปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยแล้ว ดังนั้นในระยะสั้นมากๆ เงินบาทมีโอกาสกลับไปอ่อนค่าได้ตามแรงขายทำกำไร นอกจากนี้การลดดอกเบี้ยของ Fed ตลาดก็รับรู้ไปมากพอสมควรแล้ว

 

‘บาท’ ต้องอยู่ที่เท่าไรถึงเหมาะสมกับเศรษฐกิจ?

 

สำหรับของระดับเงินบาทที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทย รุ่งกล่าวว่า เป็นเรื่องที่คำนวณยาก โดย ธปท. เองก็ไม่ได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ โดยไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ (Managed Float) ซึ่งก็จะทำให้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเยอะมากในแต่ละวัน

 

คาดแบงก์ชาติแทรกแซงบาทอยู่ ลดความผันผวนให้ภาคธุรกิจ

 

กระนั้นรุ่งก็ห่วงว่า ความผันผวนของเงินบาทที่ค่อนข้างสูงจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ เนื่องจากจะทำให้คำนวณต้นทุนและรายได้ยาก

 

พร้อมมองว่า “แบงก์ชาติน่าจะดูแลเรื่องความผันผวนมากพอสมควร เห็นได้จากตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศที่ ธปท. เปิดเผยในแต่ละสัปดาห์พบว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็จะเป็นเครื่องชี้วัดว่า ธปท. เข้ามาซื้อดอลลาร์ในตลาดอยู่เหมือนกัน”

 

สอดคล้องกับแถลงการณ์ของ ธปท. เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ย้ำว่า ธปท. จะติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง

 

บาทแข็งกระทบเศรษฐกิจอย่างไร?

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทที่แข็งค่าเฉลี่ยทุกๆ 1% ต่อปี อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 0.5% ของ Nominal GDP อย่างไรก็ดี ในการดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะต้องคำนึงถึงผลในด้านอื่นๆ เช่น ผลดีจากบาทที่แข็งต่อการนำเข้า ตลอดจนผลกระทบจากคำสั่งซื้อที่อาจจะหายไปจากบาทแข็งเมื่อเทียบกับคู่แข่งด้วย

 

บาทแข็งเร่งไทย ‘ขาดดุล’ การค้าหนักขึ้น

 

เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจทำให้ดุลการค้าอยู่ในทิศทางที่แย่ลง เนื่องจากผู้นำเข้าจะได้ประโยชน์ด้านราคา ทำให้อาจเร่งนำเข้าสินค้ามากขึ้น นอกจากนี้บาทที่แข็งจะทำให้ราคาสินค้าไทยแพงขึ้นในสายตาผู้ซื้อ และอาจเป็นไปได้ที่คู่ค้าจะซื้อสินค้าส่งออกไทยน้อยลง

 

โดยในประมาณการเศรษฐกิจล่าสุด (เดือนสิงหาคม) ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) มีการปรับประมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นขยายตัว 4.5% จากขยายตัว 3.5% ในเดือนพฤษภาคม 

 

โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่จากเงินบาทที่แข็งเพียงอย่างเดียว รวมถึงราคาพลังงาน, การค้าในช่วง High Season ในช่วงปลายปี, การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาคุ้มค่ากว่าด้วย เป็นต้น

 

เปิดกลุ่มผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบหนัก

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุไว้ในรายงานอีกว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจมีผลกระทบชัดเจนขึ้นต่อผู้ส่งออกที่พึ่งพิงวัตถุดิบจากในประเทศเป็นหลัก (หรือมีสัดส่วน Import Content ต่ำ) เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถใช้กลไก Natural Hedge เพื่อบรรเทาผลกระทบได้ โดยตัวอย่างธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่

 

  • ยางและพลาสติก
  • รถยนต์
  • การผลิตอาหาร

 

เปิดผลกระทบต่อภาค ‘ท่องเที่ยว’ จากการแข็งค่าของเงินบาท

 

จากการประเมินเบื้องต้น เกวลินระบุว่า ทุกๆ การแข็งค่าของบาท 1% จะมีค่าเสียโอกาสจากรายได้ที่ไทยจะได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 1-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวประเมินผลกระทบเพียงขาเดียวคือ นักท่องเที่ยวขาเข้าประเทศ

 

“ปกติแล้วนักท่องเที่ยวก่อนจะเดินทางก็จะตั้งงบประมาณไว้ก้อนหนึ่ง ดังนั้นการที่เงินบาทแข็งก็จะทำให้นักท่องเที่ยวแลกเงินบาทได้น้อยลง เงินที่นำมาใช้จ่ายในประเทศไทยก็จะน้อยกว่าแผนที่เคยตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม ถ้านักท่องเที่ยวต้องการมาเที่ยวประเทศไทยอย่างแท้จริงก็อาจยอมรับที่บาทแข็งได้ หรือยอมจ่ายเงินเพิ่มได้ แล้วค่อยกลับไปประหยัดทีหลังก็เป็นไปได้” เกวลินอธิบาย

 

ปัจจุบันศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ในปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 36 ล้านคน ขณะที่เม็ดเงินจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้กลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด 2 ล้านล้านบาท

 

นอกจากนี้เกวลินยังกล่าวอีกว่า ปัจจัยด้านค่าเงินไม่ได้มีน้ำหนักต่อภาคการท่องเที่ยวเท่ากับที่มีต่อภาคการส่งออกและนำเข้า ซึ่งมีปริมาณการทำธุรกรรมถี่กว่า นอกจากนี้การเดินทางท่องเที่ยวก็มาจากการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะประกอบกับปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากค่าเงินที่มีผลด้วย แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักทั้งหมด 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X