‘พิชัย รมว.คลัง’ ลั่น เตรียมดันการใช้ ‘คริปโต’ ผูกบัตรเครดิตให้ใช้ซื้อสินค้าในประเทศได้ตามโมเดลต่างประเทศ จ่อถกแบงก์ชาติให้ทดลองระบบ พร้อมเล็งแก้กฎหมายเชื่อมการซื้อขายระหว่างตลาดหุ้นกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เปิดทางให้นักลงทุนหุ้นสามารถข้ามไปลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ด้วย
วันนี้ (26 พฤษภาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลกำลังสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) โดยเริ่มต้นด้วยการออก ‘โทเคนดิจิทัลของรัฐบาล’ (Government Token: G-Token) ไปแล้ว โดยในระยะต่อไปรัฐบาลเตรียมจะผลักดันอนุญาตให้ใช้คริปโตเคอร์เรนซี ‘ซื้อสินค้า’ ในประเทศได้ ผ่านการผูกกับบัตรเครดิตตามโมเดลในต่างประเทศ
“มีหลายเรื่องที่รัฐบาลเตรียมจะทำ โดยในต่างประเทศกึ่งๆ ให้เอาคริปโตมาซื้อสินค้าได้ โดยผูกไว้กับเครดิตการ์ดแล้วซื้อสินค้าได้เลย แต่บ้านเรายังทำไม่ได้ ยกตัวอย่างนะครับ ผมเป็นนักท่องเที่ยวไปเที่ยวที่จังหวัดหนึ่งในเมืองไทย ผมก็สามารถใช้คริปโตซื้อของได้เลยผ่านบัตรเครดิต โดยวิธีนี้คนขายไม่รู้หรอกว่าคนซื้อใช้คริปโตซื้อ เพราะว่าเขารับเงินเป็นเงินบาท” พิชัยกล่าว
พิชัยยังยืนยันว่า ตอนนี้ไทยสามารถทำได้เลย ขอแค่ให้มีระบบ ส่วนในด้านของการทดลองคงต้องคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากในต่างประเทศทำกันได้แล้ว แต่ไทยยังไม่อนุญาตให้ทำ
เล็งแก้กฎหมายเชื่อมการซื้อขายระหว่างตลาดหุ้นกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
นอกจากนี้ พิชัยยังเปิดเผยว่า เตรียมแก้กฎหมายเชื่อมการซื้อขายระหว่างตลาดหุ้นกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเปิดทางให้นักลงทุนหุ้นสามารถข้ามไปลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ด้วย
“เนื่องจากไทยมีกฎหมาย 2 ฉบับแยกกัน ได้แก่ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้มีแพลตฟอร์มต่างกัน จึงเกิดความไม่สะดวก เพราะว่านักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มนี้ในที่สุดก็เป็นกลุ่มเดียวกัน ดังนั้นตอนนี้ต้องมีการแก้กฎหมายเพื่อให้ (แพลตฟอร์ม) เชื่อมกันได้ (Cross) โดยหวังว่าวันหนึ่ง นักลงทุนใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ สามารถข้ามไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ เนื่องจากปัจจุบันก็มีการทำ KYC กันอยู่แล้ว” พิชัยกล่าวในงานเสวนา ‘Dailynews Talk 2025 ปลุกเสน่ห์หุ้น-คริปโทฯ ครึ่งปีหลัง 2025’
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมาพิชัยกล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการยกตัวอย่างของต่างประเทศ มีการใช้คริปโตเคอร์เรนซีนำมาผูกบัตรเครดิตเพื่อซื้อสินค้าได้ แต่ในส่วนของประเทศไทยขณะนี้ยังไม่ใช่นโยบายหลักที่จะผลักดันในตอนนี้