×

ไทยกำลังเผชิญวิกฤตเยาวชน-แรงงานขาดแคลนทักษะ World Bank ประเมินความเสียหายสูงถึง 20% ของ GDP

23.02.2024
  • LOADING...

รายงานล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า ไทยเผชิญวิกฤตเยาวชนและประชากรวัยแรงงานขาดแคลนทักษะหรือมีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ (Threshold Level) ‘ในสัดส่วนที่สูง’ โดยปัญหาดังกล่าวคาดว่าได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20.1% ของ GDP 

 

ทักษะทุนชีวิตคืออะไร

 

ทักษะทุนชีวิต (Foundational Skills) ในรายงานฉบับนี้แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การรู้หนังสือ (Reading Literacy), ทักษะดิจิทัล (Digital Skills) และทักษะทางอารมณ์และสังคม (Socio-Emotional Skills)

 

โดยรายงานระบุว่า ทักษะทุนชีวิต (Foundational Skills) เป็นทักษะที่มีความเกี่ยวพันกับการทำงานในทุกๆ อาชีพ ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้กับทุกๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต

 

แตกต่างจากทักษะด้านเทคนิคของแต่ละอาชีพ เช่น การป้อนคำสั่งด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ขั้นสูง (Advanced Coding) หรือการประเมินผลการลงทุน (Investment Evaluation)

 

 

เปิดข้อค้นพบ (ที่น่าตกใจ) ในรายงาน

 

จากการสำรวจพบว่า เยาวชนและประชากรวัยแรงงานในประเทศไทยจำนวนเกือบ 2 ใน 3 (64.7%) มีทักษะทุนชีวิตในด้านการรู้หนังสือ (Reading Literacy) ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งหมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะอ่านและเข้าใจข้อความสั้นเพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ เช่น การทำตามฉลากยา

 

ขณะที่จำนวน 3 ใน 4 (74.1%) ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานมีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัล (Digital Skills) ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ประสบปัญหาในการใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (Pointing Device) เช่น เมาส์และแป้นพิมพ์ (Keyboard) บนคอมพิวเตอร์พกพา และไม่สามารถทำงานง่ายๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ได้

 

ยิ่งไปกว่านั้น 30.3% ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานมีทักษะทุนชีวิตทางอารมณ์และสังคม (Socio-Emotional Skill) ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งหมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มเพื่อสังคม หรือมีความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็น และมีจินตนาการ

 

 

แรงงานมีทักษะต่ำสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างไร?

 

รายงานระบุว่า การที่สัดส่วน ‘ที่ใหญ่’ ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ในด้านการรู้หนังสือและด้านดิจิทัลนั้น เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก โดยมีมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20.1% ของ GDP ในปี 2566

 

เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้ว เยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ซึ่งมีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ สามารถสร้างผลลัพธ์ในตลาดแรงงานได้น้อยกว่ากลุ่มที่มีทักษะสูงกว่าเกณฑ์ เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มที่มีทักษะทุนชีวิตด้านการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์มีรายได้จากการทำงานเฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่ากลุ่มที่มีทักษะสูงกว่าเกณฑ์ถึง 6,324 บาท (หรือประมาณ 179 ดอลลาร์สหรัฐ)

 

ดังนั้นช่องว่างของรายได้ที่เกิดจากการขาดทักษะนี้ถือว่าสูงมาก เนื่องจากประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยรายได้ของครัวเรือนอยู่ที่เพียงประมาณ 27,352 บาทต่อเดือน (หรือ 775 ดอลลาร์สหรัฐ) 

 

โดยผู้จัดทำรายงานได้คำนวณความสูญเสียทางเศรษฐกิจดังกล่าว โดยประเมินว่า มูลค่าน่าจะสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20.1% ของ GDP ในปี 2565

 

เป็นการคำนวณเฉพาะจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากรายได้ต่อเดือนที่ต่ำลงของการที่มีสัดส่วนที่ใหญ่ของกลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงานที่มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ในด้านการรู้หนังสือและด้านดิจิทัล โดยมูลค่าดังกล่าวมีจำนวนสูงกว่างบประมาณภาครัฐประจำปี 2565

 

เปิดข้อเสนอแนะ 5 ข้อในรายงานสำหรับรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทักษะ

 

  1. จัดเตรียมให้นักการศึกษาและนักพัฒนาแรงงานมีข้อมูลที่ตรงประเด็น เพื่อตอบสนองวิกฤตด้านทักษะได้

 

  1. พัฒนาการส่งมอบการเรียนรู้แบบกระจายอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพและมีความครอบคลุม เช่น การจัดตั้งหน่วยประสานงานในระดับจังหวัด เป็นต้น

 

  1. ใช้เครื่องมือนวัตกรรม เช่น เร่งการเปลี่ยนผ่านหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum) และริเริ่มให้มีบัญชีการเรียนรู้สำหรับแต่ละบุคคล (Individual Learning Accounts: ILA) เพื่อให้กลุ่มเยาวชนและกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่เปราะบาง Upskill และ Reskill ได้

 

  1. เพิ่มประสิทธิภาพการรับรองคุณภาพ โดยรับรองให้ครูทุกคนในระบบการศึกษามีสมรรถภาพที่เพียงพอในการส่งเสริมทักษะทุนชีวิต

 

  1. สื่อสารและกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้ทุกคนให้ความสำคัญต่อทักษะทุนชีวิต เช่น รณรงค์เผยแพร่ข้อมูลที่เน้นเรื่องผลประโยชน์ต่อการหารายได้ ที่ส่งผลมาจากการศึกษาและการพัฒนาทักษะ เป็นต้น

 

ภาพ: Sutthichai Supapornpasupad / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising