รมว.คลังระบุ หากไทยต้องการแก้ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยและปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม เผยเล็งทบทวนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ยังไม่มีแผนที่แน่นอน
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในรายการ Executive Espresso ของ THE SECRET SAUCE ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและกำลังซื้อทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะแย่ลง เนื่องมาจากหลายประเทศอาจได้รับจากนโยบายภาษีศุลกากรของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศส่งออกอาจได้รับผลกระทบ และทำให้การจ้างงานลดลง ไทยจึงควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม เพื่อเพิ่มการจ้างงาน ชดเชยการส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบ
“เมื่อถอดบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาพบว่า หลายประเทศแก้ปัญหาด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเช่น เขื่อน สนามบิน และรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยการจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเช่นนี้ได้หมายความว่า ประเทศเหล่านั้นมีกำลังเงิน และมีความสามารถในการกู้ จึงทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศ”
พิชัยกล่าวอีกว่า การที่จะแก้ปัญหาการขาดขีดความสามารถในการแข่งขันและปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ไทยจะต้องยอมขยายเพดานหนี้สาธารณะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หนี้เสียยังฉุดเศรษฐกิจไทย! แรงงาน 40 ล้านคน เป็นหนี้เสียถึง 5.4 ล้านคน | Exclusive Interview EP.28
- รัฐบาลไทยมีหนี้สาธารณะสูงเป็นอันดับ 11 จาก 35 ประเทศเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2024 ตามการประเมินของ IMF
- รัฐขอ ‘ซื้อหนี้เสีย’ จากธนาคารในราคา 1% ของมูลหนี้ เป็นไปได้หรือไม่? ใครได้หรือเสียประโยชน์
“ทุกคนกำลังบ่นเกี่ยวกับปัญหาการขาดขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือในเชิงวิชาการคือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าเราตัดสินใจว่า เราจะไปอย่างนั้น (ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน) ก็แปลว่า เราก็ต้องอนุญาตให้เพดานหนี้ขยับขึ้นไป แต่การขยับขึ้นต้องมั่นใจสองอย่าง อย่างแรกคือ ต้องไปลงทุนในสิ่งที่ดีและมีผลตอบแทนในอนาคต อย่างที่สองคือ ความสามารถที่จะสร้างหนี้ต้องอยู่ภายใต้ความเชื่อถือจากต่างชาติ”
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวต่อว่า คำว่าหนี้สาธารณะไม่ใช่เป็นหนี้ของประเทศกับต่างชาติ แต่หนี้สาธารณะหมายถึง หนี้รัฐบาลกับคนที่ไม่ใช่รัฐบาล พร้อมทั้งย้ำว่า หนี้สาธารณะของรัฐบาลไทยกว่า 90% เป็นหนี้ในประเทศแปลว่าในประเทศมีเงินให้รัฐบาลกู้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าหนี้สาธารณะเป็นหนี้ต่างประเทศเยอะ เช่นในอเมริกาใต้นั่นคือปัญหา
ทั้งนี้ ไทยเพิ่งปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% เมื่อปี 2564 หลังเผชิญกับวิกฤตการระบาดของโควิด ขณะที่ตามข้อมูลล่าสุดของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า หนี้สาธารณะไทย ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ 64.21% ต่อ GDP
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักประเมินว่า หนี้สาธารณะของไทยอาจแตะเพดานในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะของไทยจะแตะเพดาน 70% ต่อ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ SCB EIC ประเมินว่าหนี้สาธารณะของไทยอาจแตะเพดานที่ 70% ภายในปี 2029 เริ่มสะท้อนถึงข้อจำกัดของกระสุนทางการคลังในระยะปานกลาง
จ่อปรับแผนดิจิทัลวอลเล็ต?
ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายว่า รัฐบาลอาจไม่ได้กู้เงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่จะนำเงินไปใช้จ่ายในโครงการอื่นแทน เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต
พิชัยตอบว่า “ทุกอย่างเราต้องเอามาทบทวนหมด ดิจิทัลวอลเล็ตเราก็มาทบทวนถึงแผนใหม่ดูซิว่า ช่วงนี้ควรจะต้องปรับอย่างไร ผมก็ยังไม่มีแผนที่แน่นอน แต่ผมคิดว่า แน่นอนเลย เราค่อนข้างจะมองเห็นว่าเศรษฐกิจโลกมันกำลังจะวิกฤตมากน้อย เมื่อมันลงมา เราต้องเตรียมตัว ดังนั้น เราจะต้องทำแผนเตรียมตัวเรื่องนี้ว่า เราจะทำให้มันเศรษฐกิจมันกระเตื้อง มีการจ้างงาน มีการลงทุนได้อย่างไร ในสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อเอื้ออำนวยต่อการสร้างประเทศในอนาคต”
รับชมบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่