×

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ‘ขุมทรัพย์พลังงาน OCA’ สำคัญต่อไทยอย่างไร ทำไมอาจช่วยให้คนไทยจ่ายค่าไฟถูกลง?

28.09.2023
  • LOADING...
พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

จากกรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการในวันนี้ (28 กันยายน) ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ รวมถึงกระชับมิตรภาพและความร่วมมือทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การค้าชายแดน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด THE STANDARD WEALTH จึงชวนทำความรู้จักกัมพูชาในมิติของเศรษฐกิจให้ลึกยิ่งขึ้น 

 

กัมพูชาถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งไทยมีเป้าหมายเพิ่มปริมาณการค้าของ 2 ประเทศ จาก 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2568

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือนโยบายด้านพลังงาน แม้ล่าสุด ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่างออกมาระบุตรงกันว่า “การเดินทางเยือนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ยังไม่มีวาระการเจรจาพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา หรือ OCA แต่อย่างใด”

 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Area: OCA) แห่งนี้ เป็นหนึ่งในนโยบายด้านพลังงานสำคัญของพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีเป้าหมายหลักและหวังว่าหากเจรจาสำเร็จจะสามารถสร้างรายได้ให้ภาครัฐจาก ‘ค่าภาคหลวง’ เพื่อเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูก ท้ายที่สุดก็เพื่อทำให้คนไทยจ่ายค่าไฟได้ถูกลง

 

เพื่อไทยพร้อมเจรจาทันทีหลังจัดตั้งรัฐบาล

 

หากย้อนไปในช่วงนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และในฐานะรองประธานยุทธศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย วางนโยบายด้านพลังงานไว้ว่า สิ่งแรกที่จะทำทันทีคือการเจรจากับกัมพูชา เพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะไทยเองก็มีโรงแยกก๊าซของ ปตท. จำนวน 6 โรง ในส่วนนี้สามารถต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอีกมาก คิดเป็นมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ที่สำคัญคือช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชน

 

8 ข้อที่ไทยควรต้องทำเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้แก่ 

 

  • เป็นแหล่งพลังงานที่มีปริมาณมาก และจะเจรจาเฉพาะเรื่องแหล่งพลังงานโดยจะไม่พูดถึงเขตแดน 
  • ก๊าซในอ่าวไทยและก๊าซจากเมียนมามีปริมาณลดลง ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาสูง
  • ก๊าซจากพี้นที่ทับซ้อนจะทำให้ราคาไฟฟ้าที่แพงมหาโหดในปัจจุบันถูกลงได้
  • ในอนาคตน้ำมันและก๊าซอาจไม่มีค่าแล้วก็ได้ เพราะโลกอาจไม่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว 
  • ก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนนี้สามารถนำมาแยกก๊าซเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในธุรกิจปิโตรเคมีที่มีมูลค่ามหาศาลได้
  • รัฐยังได้รายได้มหาศาลจากค่าภาคหลวงในการขุดก๊าซ 
  • รายได้น่าจะมากกว่าในอดีต เพราะเป็นพื้นที่ที่พิสูจน์แล้วว่ามีก๊าซ รายได้เหล่านี้รวมถึงภาษีจากธุรกิจต่อเนื่อง จะสามารถนำมาเป็นสวัสดิการของกลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุ 
  • หลังจากเจรจาจบแล้วยังต้องใช้เวลา 2-7 ปี กว่าจะสามารถขุดก๊าซขึ้นมาใช้ได้

 

ดังนั้นจึงอยากขอสนับสนุนให้รัฐบาลได้เร่งเจรจาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชานี้ให้จบโดยเร็ว 

 

เนื่องจากมีบริษัทที่ปรึกษาทำรายงานว่า แหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนน่าจะมีในปริมาณเท่ากับหรือมากกว่าแหล่งก๊าซในอ่าวไทยที่ขุดกันมากว่า 30 ปี คิดเป็นมูลค่าก๊าซและน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนมากกว่า 10 ล้านล้านบาท และนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก 6-20 เท่า ขึ้นอยู่กับชนิดของก๊าซและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกด้วย

 

และที่สำคัญจะช่วยทำให้ราคาไฟฟ้าที่กำลังมีราคาพุ่งสูงและจะสูงอีกนี้มีราคาลดลงได้ เพราะไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซในอ่าวไทยและเมียนมาจะมีราคาเพียงหน่วยละ 2-3 บาทเท่านั้น ในขณะที่ค่าไฟฟ้าใหม่จะพุ่งถึงหน่วยละ 5.33 บาท ซึ่งแพงมาก และหากค่าไฟฟ้าลดลง ราคาก๊าซหุงต้มก็จะลดลงด้วย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสินค้าลดลง เงินเฟ้อลดลง และยังเป็นการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของไทยได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยน่าลงทุนมากขึ้นด้วย

 

ย้อนปม 50 ปี พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา

 

THE STANDARD WEALTH สรุปที่มาของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา OCA ให้เข้าใจง่าย ดังนี้ 

 

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลแห่งนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อนในหลายมิติ แต่โดยรวมแล้วเกิดจากปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชามากว่า 50 ปี 

 

โดยเกิดขึ้นจากการที่กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยเมื่อปี 2515 ก่อนที่ไทยจะประกาศในปี 2516 ซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิขีดเส้นล้ำเข้ามาทับเส้นของอีกฝ่าย ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น จึงส่งผลต่อสิทธิสัมปทานที่ทั้งไทยกับกัมพูชาได้ให้กับบริษัทเอกชนด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จึงทำให้ยังไม่มีใครสามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้

 

แผนที่พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

 

กระทั่งเมื่อปี 2544 ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้ลงนาม MOU ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ซึ่งนับจากนั้นก็มีการหารือมาโดยตลอด แต่จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถพัฒนาได้อย่างจริงจัง

 

แล้วพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา สำคัญกับคนไทยอย่างไร? 

 

เนื่องจากลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาเป็นแอ่งที่เรียกว่า Pattani Basin จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการจัดหาทรัพยากร โดยประเมินว่ามีศักยภาพที่จะสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติและแหล่งน้ำมันดิบในปริมาณสำรองไม่น้อยไปกว่าที่สำรวจพบมาแล้วในเขตทางทะเลฝั่งไทย ประกอบกับพื้นที่ในส่วนทางใต้ของ OCA นั้นติดกับแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติของไทย ที่ปัจจุบันแม้จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว ก็ยังคงมีปริมาณสำรองเหลือพอผลิตต่อไปได้อีก 10 ปีภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต 

 

ดังนั้นหากไทยและกัมพูชายังไม่สามารถมีข้อยุติเพื่อเริ่มต้นการเข้าไปสำรวจปิโตรเลียมได้ จะเป็นการสูญเสียโอกาสในการที่จะนำทรัพยากรก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

 

โดยเฉพาะเนื้อที่ทางทะเลที่มีมากกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร มีการประเมินกันว่ามีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองขนาดใหญ่ไม่แพ้แหล่งในอ่าวไทย หากเจรจาสำเร็จ ไทยจะสามารถจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูก หรือสามารถนำมาช่วยทดแทนปริมาณก๊าซในอ่าวไทยได้ในอนาคตอีกด้วย

 

เสนอรัฐบาลตั้งทีมไทยแลนด์เร่งเจรจาหาข้อยุติ

 

สำนักข่าว Khmer Times สื่อของกัมพูชา รายงานว่า ประเด็นนี้ทั้งสองประเทศหารือกันมายาวนานหลายปี และล่าสุดในงานสัมมนาที่จัดขึ้นร่วมกันโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปใจความสำคัญได้ว่า พื้นที่ OCA สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานที่มีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท และอาจกำลังได้รับแรงผลักดันอย่างจริงจังอีกครั้งจากรัฐบาลเพื่อไทย เนื่องจากเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคในเรื่องของการผลักดันความมั่นคงด้านพลังงาน

 

คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรเชื้อเพลิงพลังงานที่จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในช่วงเวลาต่อไปไม่น้อยกว่า 30 ปี 

 

ที่ผ่านมาได้เสนอรัฐบาลตั้งทีมไทยแลนด์เร่งเจรจาหาข้อยุติพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชาให้เปลี่ยนความขัดแย้งในอดีต (Conflicts)​ กลับมาเป็นโอกาส (Opportunities)​ ของประเทศที่จะได้ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง เมื่อเทียบกับการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ (LNG) นำเข้า 

 

โดยหากประเมินตัวเลขปี 2565 ประเทศจ่ายเงินเพิ่มกว่า 5.9 แสนล้านบาท เพราะราคา Spot LNG นำเข้าแพงกว่าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทย 

 

นอกจากนี้ สุบิน ปิ่นขยัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ มองว่าปัจจัยความสำเร็จในการเจรจาอยู่ที่ผู้นำของทั้งไทยและกัมพูชาต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งการเจรจาเพื่อแบ่งเส้นเขตแดนอาจนำไปสู่ข้อยุติได้ยาก 

 

ดังนั้นทางที่เป็นไปได้มากที่สุดจึงควรเน้นไปในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน เหมือนไทย-มาเลเซีย มีโอกาสที่จะสำเร็จและได้ข้อยุติเร็วกว่า และสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองฝ่าย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X