×

เปิดข้อเท็จจริงพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา กางสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ยืนยัน ‘เกาะกูด’ เป็นของไทย

05.11.2024
  • LOADING...
เกาะกูด

กระทรวงการต่างประเทศแจงข้อเท็จจริงพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area: OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา พร้อมกางสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ยืนยัน ‘เกาะกูด’ เป็นของไทย ชี้ MOU 2544 ไม่ทำให้ไทยเสียดินแดน เล็งตั้ง ภูมิธรรม เวชยชัย นั่งประธานคณะกรรมการ JTC เสนอกรอบการเจรจาให้รัฐบาลเห็นชอบ เพื่อทาบทามการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา เผยอยู่ระหว่างหาแนวทางเจรจาใช้ประโยชน์ร่วมกัน 50:50 ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำสำเร็จกับมาเลเซีย

 

สุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย อธิบายถึงเขตทางทะเลประเภทต่างๆ และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 รวมทั้งชี้แจงที่มาของ OCA ระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยของทั้งไทยและกัมพูชา

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันผ่านการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 หรือที่เรียกกันว่า MOU 2544

 

อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายชี้แจงว่า MOU 2544 เป็นความตกลงที่กำหนดกรอบและกลไกการเจรจาระหว่างกัน โดยมิได้เป็นการยอมรับการอ้างสิทธิทางทะเลของอีกฝ่ายแต่อย่างใด ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจากันต่อไป

 

ทั้งนี้ MOU 2544 ระบุให้ดำเนินการทั้งในเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ร่วมไปพร้อมกัน โดยให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาหารือกันบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีกลไกหลักของการเจรจาแก้ไขปัญหา OCA ภายใต้ MOU 2544 คือคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านความมั่นคง กฎหมาย และพลังงาน โดยที่ผ่านมามีการประชุม JTC สองครั้งเมื่อปี 2544 และ 2545 

 

นอกจากนี้ยังมีกลไกย่อยอื่นๆ ได้แก่ คณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Sub-JTC), คณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับการกำหนดเขตทางทะเล และคณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับระบอบพัฒนาแนวทางร่วมในการแก้ไขปัญหา OCA ที่ทั้งไทยและกัมพูชาเห็นสอดคล้องกันทั้งในระดับนโยบายและระดับเทคนิค คือ 1. ประชาชนของทั้งสองประเทศจะต้องยอมรับข้อตกลงได้ 2. จะต้องนำเรื่องให้รัฐสภาของทั้งสองประเทศพิจารณาให้ความเห็นชอบ และ 3. ข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

เกาะกูด

 

ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแต่งตั้งองค์ประกอบ JTC (ฝ่ายไทย) โดยเมื่อทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งองค์ประกอบ JTC เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของไทยจะเสนอกรอบการเจรจาให้รัฐบาลเห็นชอบ หลังจากนั้นจะทาบทามการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา รวมถึงแต่งตั้งกลไกย่อยต่างๆ ต่อไป

 

“กระทรวงการต่างประเทศยืนยันคำมั่นที่จะเจรจาเรื่อง OCA บนพื้นฐานของกฎหมายไทย พันธกรณีของไทย ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและกรอบการเจรจาที่ได้รับความเห็นชอบ ดังที่ได้ปฏิบัติเช่นนี้กับประเทศอื่นๆ มาโดยตลอด ด้วยความเป็นมืออาชีพและยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง”

 

เปิดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส แจง ‘เกาะกูด’ เป็นของไทย – ยืนยัน MOU 2544 ไม่ทำให้ไทยเสียดินแดน

 

กรณีกระแสโซเชียลมีเดียกล่าวถึงพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือ OCA ซึ่งเกี่ยวข้องกับ MOU 2544 นั้นเกิดความคลาดเคลื่อนในหลายประเด็น โดยยืนยันว่า MOU 2544 ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนใดๆ โดยเฉพาะพื้นที่เกาะกูด เนื่องจากตามสนธิสัญญาที่สยามลงนามร่วมกับฝรั่งเศสบัญญัติชัดเจนว่า “เกาะกูดเป็นของไทย” 

 

ทั้งนี้ จะมีการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และคาดว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติองค์ประกอบเร็วๆ นี้ ที่จะใช้เป็นองค์ประกอบในการเจรจากับประเทศกัมพูชา โดยมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เนื่องจากภูมิธรรมดูแลทั้งด้านความมั่นคงและด้านทรัพยากรของประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยเกิดปัญหาการอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนลักษณะดังกล่าวกับประเทศมาเลเซีย และมีกรอบความร่วมมือร่วมกัน จึงร่วมพัฒนาเป็นพื้นที่การแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน 50:50 ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ประเทศไทยทำสำเร็จมาแล้วกับประเทศมาเลเซีย และสามารถใช้แนวทางนี้กับประเทศกัมพูชาต่อไป 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising