×

ผบ.ตร. สั่งทุกหน่วยงานตำรวจในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดตามแผนกรกฎ/67

โดย THE STANDARD TEAM
24.07.2025
  • LOADING...
police-border-security-thailand-cambodia

วันนี้ (24 กรกฎาคม) พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ออกคำสั่งให้หน่วยงานตำรวจในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความมั่นคงที่อาจส่งผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติและความปลอดภัยของประชาชน

 

ผบ.ตร. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจภูธรภาค 2, ตำรวจภูธรภาค 3, กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เตรียมความพร้อมในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ส่วนหน้าตามอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ภายใต้แผนพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังอย่างเต็มที่

 

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงภายใต้สถานการณ์ภัยคุกคาม ผบ.ตร. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ พิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังและการอพยพประชาชน หรือแผนกรกฎ/67 ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ 

 

โดยมีวัตถุประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสอดคล้องกับภารกิจด้านความมั่นคงของรัฐ และสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที สาระสำคัญของแผนครอบคลุมอำนาจหน้าที่ของตำรวจใน 7 ด้านหลัก ได้แก่:

 

  1. การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน: ตำรวจมีบทบาทสำคัญในการดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ส่วนหลังตลอดเส้นทางการอพยพประชาชน โดยจะมีการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และจัดสายตรวจเฝ้าระวัง รวมถึงยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยในจุดยุทธศาสตร์ และสนับสนุนกำลังร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่น ๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์

 

  1. การอพยพประชาชนและการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง: ตำรวจรับผิดชอบในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในเส้นทางอพยพ ควบคุมการเคลื่อนย้ายให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ ปลอดภัย และรวดเร็ว พร้อมจัดกำลังดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก นักเรียน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้พิการ ตลอดกระบวนการอพยพ รวมถึงดูแลความปลอดภัยในศูนย์พักพิง

 

  1. การวิเคราะห์สถานการณ์และการสืบสวนหาข่าว: ตำรวจมีหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์เชิงรุกร่วมกับหน่วยข่าวกรองและหน่วยงานความมั่นคงทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อประเมินแนวโน้มภัยคุกคาม ระบุพื้นที่เสี่ยง และสืบสวนหาข่าวเพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของพื้นที่ โดยจะประสานความร่วมมือกับกองทัพบก สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ

 

  1. การเตรียมความพร้อมและซักซ้อมแผน: เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเตรียมกำลังพลและทรัพยากรให้พร้อม ทั้งอุปกรณ์การสื่อสาร ยานพาหนะ เครื่องมือช่วยชีวิต และระบบสื่อสารฉุกเฉิน รวมถึงการฝึกซ้อมแผนในรูปแบบ Table Top Exercise (TTX) และ Field Simulation Exercise เพื่อทดสอบความพร้อมและความเข้าใจร่วมกับภาคีเครือข่าย

 

  1. การสื่อสารสาธารณะและการประชาสัมพันธ์: ตำรวจมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารความเสี่ยงต่อประชาชนในพื้นที่ผ่านช่องทางที่เหมาะสม เช่น หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน สื่อออนไลน์ และกิจกรรม ‘Stop Walk Talk’ เพื่อชี้แจงสถานการณ์และสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของภาครัฐ พร้อมขอความร่วมมือในการไม่เผยแพร่ภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง

 

  1. การบังคับใช้กฎหมายและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน: ในการควบคุมสถานการณ์ ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และความได้สัดส่วนของการใช้อำนาจรัฐ ห้ามเลือกปฏิบัติหรือใช้กำลังเกินกว่าเหตุ พร้อมจัดทำเอกสารบันทึกการควบคุมตัวหรือการตรวจค้นอย่างเป็นระบบและตรวจสอบได้

 

  1. การประสานงานและบูรณาการความร่วมมือ: ตำรวจต้องทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานงานกับฝ่ายปกครอง ทหาร สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน โดยจัดตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจและศูนย์บัญชาการระดับพื้นที่ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีเอกภาพและรวดเร็ว

 

ผบ.ตร. ย้ำว่า แผนพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังและการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของตำรวจในฐานะหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงที่ต้องมีขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อม รับมือ และฟื้นฟูสถานการณ์ได้อย่างครอบคลุม 

 

โดยเน้นย้ำถึงความเป็นมืออาชีพ ความสอดคล้องกับภารกิจ อำนาจและความชัดเจนของหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย และการปฏิบัติที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นกรอบการทำงานที่สำคัญยิ่งในบริบทชายแดนที่มีความอ่อนไหวทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising