แม้โลกจะหมุนเวียนเข้าสู่ปี 2022 แต่ภาพของสายไฟและสายเคเบิลที่พันกันระโยงระยางอยู่บนเสาไฟตามจุดต่างๆ ทั่วทุกสารทิศในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังคงเป็นปัญหาสุดคลาสสิกที่รอวันแก้ไขแบบให้หายไปจากสายตาผู้คน
ภาพความยุ่งเหยิงของสายต่างๆ บนเสาไฟฟ้าที่ประกอบไปด้วย สายไฟฟ้าแรงสูง, สายไฟฟ้าแรงต่ำ และสายสื่อสาร นับเป็นหนึ่งในปัญหาที่ผู้คนร้องเรียนกันมาอย่างยาวนาน เพราะที่ผ่านมาปัญหาเหล่านี้ไปสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่สายไฟพาดขวางทางเดินสะพานลอยไปจนถึงภาพไฟที่ขาด แต่ยังถูกปล่อยทิ้งไว้ห้อยเหนือศีรษะผู้คน
อย่างไรก็ตาม ภาพสายเคเบิล-สายไฟที่พันกันอย่างไร้ระเบียบใน กทม. ไม่ได้ถูกพูดถึงกันเป็นวงแคบแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ทว่าภาพเหล่านี้เคยถูกกล่าวถึงและนำเสนอสู่สายตาชาวโลก จนเป็นที่เข้าใจกันว่า ความยุ่งเหยิงของสายต่างๆ บนเสาไฟฟ้า คือหนึ่งในเอกลักษ์ของกรุงเทพฯ
เริ่มตั้งแต่ บิล เกตส์ มหาเศรษฐีระดับโลก ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft เคยโพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในช่วงปี 2016 ที่สื่อถึงภาพสายไฟที่ปล่อยให้อยู่แบบระโยงระยาง ไร้ระเบียบการดูแล และชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นบนเสาไฟเกิดจากปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่บกพร่อง ทำให้หลายเมืองต้องประสบปัญหาไฟดับและถูกตัดไฟเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
นอกจากนี้ยังมีกรณีของ รัสเซล โครว์ ดารานักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง เป็นอีกหนึ่งคนที่ไปสะดุดตาเข้ากับภาพความยุ่งเหยิงของสายไฟและเคเบิลในกรงเทพฯ ได้นำภาพไปโพสต์ลงในทวิตเตอร์ระหว่างเดินทางมาเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย จนกลายเป็นกระแสบนหน้าสื่อออนไลน์อยู่ช่วงหนึ่ง ไปจนถึงไวรัลร้านก๋วยเตี๋ยวเรือในเมืองเกาสงของไต้หวัน ที่เจ้าของร้านตกแต่งบรรยากาศร้านให้ได้ความรู้สึกเหมือนกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ประเทศไทย โดยมีสายไฟจำลองพัวพันกันอยู่บนฝ้าเพดานของร้าน จนกลายเป็นพร็อพประกอบร้านที่ถูกพูดถึงอย่างมาก
ทั้งนี้ ปัญหาสายไฟระโยงระยางดังกล่าว ในความเป็นจริงก็ไม่ได้ถูกละเลยเสียทีเดียว เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานของ กทม. ได้พยายามแก้ไขและจัดเก็บสายไฟเหล่านี้ลงใต้ดินอยู่ตลอด ซึ่งข้อมูลจากข่าวที่ THE STANDARD ได้นำเสนอไปเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา กทม. (ในยุค พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ทยอยนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารบริเวณจุดต่างๆ ลงใต้ดินไปบ้างแล้ว
และจากข้อมูลยังพบอีกว่า กทม. ได้นำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินแล้วจำนวน 21 เส้นทาง ระยะทางรวม 133,050 เมตร เช่น ถนนราชปรารภ, ถนนพหลโยธินและถนนลาดพร้าว, ถนนรัชดาภิเษกถึงถนนพระราม 9, และถนนรัชดาภิเษกถึงถนนอโศก, ถนนพระราม 4, ถนนพระราม 3, ถนนจรัญสนิทวงศ์, ถนนวิทยุ, ถนนนานาเหนือ, ถนนชิดลม และยังอยู่ระหว่างดำเนินการอีกมากกว่า 20 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 250 กิโลเมตร
ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังคงชวนให้ชาวกรุงเทพฯ ต้องติดตามกันต่อไป สำหรับภารกิจการจัดการเก็บสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ 100% ได้ตอนไหน เพราะต้องยอมรับว่าในชีวิตจริงทุกครั้งที่มีการตีแผ่ปัญหาความยุ่งเหยิงของสายต่างๆ นี้ ใจความหลักไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อต้องการให้เมืองหลวงแห่งนี้มีทัศนีย์ภาพที่เป็นระเบียบ เหมาะสมกับความเป็นเมืองสมัยใหม่เพียงด้านเดียว หากแต่ยังหมายถึงการป้องกันและลดความอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้คนที่สัญจรผ่านพื้นที่ที่ยังมีปัญหาเหล่านี้อยู่