เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 เวลา 13.30 น. (ตามเวลาสมาพันธรัฐสวิส) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามในข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส กับ ซีมอเน็ตตา ซอมมารูกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม คมนาคม พลังงานและสารสนเทศ สมาพันธรัฐสวิส หรือ สวิตเซอร์แลนด์ ณ กรุงเบิร์น สมาพันธรัฐสวิส นับเป็นการลงนามข้อตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตร่วมกันเป็นคู่แรกของโลก
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยกับสมาพันธรัฐสวิสดำเนินความร่วมมือภายใต้ความตกลงปารีส ข้อ 6.2 เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ โดยสมาพันธรัฐสวิสจะสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า หรือ ‘อีบัส’ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี 2065 ที่ประเทศไทยประกาศไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26
โดยความร่วมมือนี้นับเป็นส่วนเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) ของประเทศไทย ซึ่งการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงจะช่วยให้ประเทศไทยเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานจากโครงการ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาต่อยอด และขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย NDC ของไทย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในประเทศเกิดความตื่นตัว และให้ความสนใจในการดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ และสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
ในโอกาสนี้ วราวุธได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงความมุ่งมั่น และความยินดีที่ทั้งสองประเทศพัฒนาความร่วมมือและความพยายาม นับแต่การลงนามในแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ร่วมกันในความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในวาระครบรอบ 90 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่แสดงออกถึงความตั้งใจอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
อีกทั้งคาดว่าประเทศไทยจะสามารถถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากโครงการดังกล่าวเป็นประเทศแรกของโลก ซึ่งข้อตกลงในวันนี้เป็นการขยายความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทั้งสองประเทศ ไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคส่วนอื่น เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป