×

คุยกับ ‘BOI’ ทำไมไทยเนื้อหอม ต่างชาติเลือกย้ายฐานผลิตมาไทย กับแผนหนุนอุตสาหกรรม Local Content หนุนรายใหญ่ดันหลังรายเล็ก

01.11.2024
  • LOADING...
BOI

จากกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็น Geopolitics หรือ Climate Change ทำให้ทิศทางการลงทุนโลกเปลี่ยน หลายๆ ประเทศต่างต้องการแย่งชิงเป็นเบอร์หนึ่ง ‘อุตสาหกรรมใหม่’

 

ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่โดดเด่นในการรองรับคลื่นการย้าย ฐานผลิต จากทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์, PCB, Data Center, EV และพลังงานหมุนเวียน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

THE STANDARD WEALTH ร่วมพูดคุยกับ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระหว่างเยี่ยมชมโรงงาน บริษัท เม็กเท็ค แมนูแฟ็คเจอริ่ง คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิด FPCB ระดับโลกจากญี่ปุ่น ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงความสำคัญของอุตสาหกรรม PCB และปีนี้ทำไมมาแรงในไทย ซึ่งโดดเด่นในการรองรับคลื่นการย้าย ฐานผลิต จากทั่วโลก

 

ทำไม PCB มีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศในเวลานี้

 

นฤตม์กล่าวว่า จากกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ในวันนี้ไทยอยู่ท่ามกลางความท้าทาย 3 G นั่นคือ Geopolitics, Green Transition, Global Minimum Tax ทำให้เทรนด์และทิศทางการลงทุนอุตสาหกรรมเปลี่ยน ดังนั้นในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2024-2027 รัฐบาลจึงมุ่งดึงดูดการลงทุน ‘เศรษฐกิจใหม่’ โดยปี 2024 คาดว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนอยู่ที่ 900,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2025 คาดว่าจะเติบโตเช่นกัน และเชื่อว่าถึงปี 2027 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะแตะ 3,000,000 ล้านบาท

 

นฤตม์ระบุว่า เพียงแค่เฉพาะอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ถือว่ามาแรงมากในช่วง 2-3 ปี นอกจากเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ วันนี้ PCB ถือเป็นหัวใจของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์, เครื่องมือแพทย์, โทรคมนาคม, เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ, ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

 

“ด้วยกระแสการย้ายฐานการผลิตและปรับโครงสร้างซัพพลายเชนครั้งใหญ่ของโลก ส่งผลให้ผู้ผลิต PCB รายใหญ่จำนวนมากตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย ทำให้ปัจจุบันไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก”

 

นับตั้งแต่ปี 2023 การลงทุนในอุตสาหกรรม PCB ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในช่วงเดือนมกราคม 2023 – กันยายน 2024 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB จำนวน 95 โครงการ เงินลงทุนสูงถึง 162,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงปี 2021-2022 ที่มีมูลค่าคำขอเฉลี่ย 15,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น

 

จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ย้ายฐานผลิตมาไทยเพิ่ม

 

ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของผู้ผลิต PCB ชั้นนำจากจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะเกิดการจ้างงานในระยะแรกกว่า 20,000 ตำแหน่ง ใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี และมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้น 700,000 ล้านบาทต่อปีทีเดียว” นฤตม์กล่าว

 

อย่างบริษัท เม็กเท็ค แมนูแฟ็คเจอริ่ง คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท Mektec Manufacturing Corporation ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบริษัทในเครือ NOK Corporation สัญชาติญี่ปุ่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม PCB ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในญี่ปุ่น และอันดับ 6 ของโลก โดยบริษัทมีความเชี่ยวชาญในการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดยืดหยุ่น (Flexible Printed Circuit Board: FPCB และ FPCBA)

 

BOI

 

เมื่อถามว่า FPCB คืออะไร ต้องบอกว่า FPCB มีคุณสมบัติพิเศษสำหรับใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่โค้งงอให้เข้ากับพื้นที่และรูปทรงที่ซับซ้อนได้ มีข้อดีตรงที่รูปทรงบางและเบา เหมาะสำหรับการใช้งานในผลิตภัณฑ์ที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และน้ำหนัก

 

ปัจจุบันนำ FPCB ไปใช้ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กอย่างสมาร์ทคอนแทคเลนส์ ไปจนถึงแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า นับว่าอยู่ในหลายๆ ผลิตภัณฑ์รอบตัวเรา

 

ปีนี้จึงถือว่ากลุ่ม PCB มีมูลค่าสูงต่ออุตสาหกรรมไทย ซึ่งโครงการของเม็กเท็คที่ได้รับการส่งเสริมใหม่ในครั้งนี้เป็นการขยายกำลังการผลิต FPCB และ FPCBA รองรับคำสั่งซื้อในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น มีเงินลงทุน 920 ล้านบาท จ้างงานบุคลากรไทยเพิ่ม 260 คน (ปัจจุบันจ้างงานกว่า 3,000 คน) และใช้วัตถุดิบในประเทศเพิ่มอีกกว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี

 

“ไทยได้รับการยอมรับให้เป็นฐานการลงทุน PCB แห่งใหม่ของเอเชีย ในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมามีทั้งการขยายการลงทุนของผู้ผลิตรายเดิม เช่น Mektec, KCE และการลงทุนตั้งโรงงานใหม่โดยบริษัทผู้ผลิต PCB ระดับโลกจำนวนมาก เช่น Unimicron, Compeq, WUS, Gold Circuit, Chin Poon, Dynamic Electronics, Apex Circuit, Unitech และ Well Tek

 

“คาดว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจะยังมีผู้ผลิต PCB และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยยกระดับซัพพลายเชนต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกมาก” นฤตม์กล่าว

 

โดยปัจจัยสำคัญที่บริษัทต่างชาติเลือกลงทุนในไทยคือการซัพพอร์ตจากรัฐ สิทธิประโยชน์ 3 ประเภทหลัก คือ ภาษีเงินได้ การยกเว้นภาษีอากรนำเข้าวัตถุดิบ ไปจนถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘Non-Tax’ ให้เข้ามาครอบครองที่ดินและประกอบกิจการได้ และมี Financial Incentives อีกด้วย

 

 

หนุนอุตสาหกรรม Local Content หวังให้รายใหญ่ดันหลังรายเล็ก

 

นฤตม์กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในปีนี้มีการลงทุนต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อให้อุตสาหกรรมในประเทศได้รับประโยชน์จากทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย BOI จึงมีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศให้มากขึ้น โดยอยู่ระหว่างหารือใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) กับผู้ผลิตเพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา BOI ให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกเซ็กเมนต์ แต่ละรายเองก็มีจุดยืนในการใช้ไทยเป็นฐานผลิตหลักในอาเซียน ซึ่ง BOI กำหนดไว้ที่ 40% แต่บริษัทส่วนใหญ่ใช้ Local Content อยู่ที่ 45-55% บางรายอาจจะตั้งเป้า 80% และทำอยู่แล้ว

 

“ก่อนหน้านี้ก็มีเวทีหารือค่ายรถจีนไปแล้วหลายราย ซึ่งแต่ละรายก็พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมซัพพลายเชนในประเทศ ดังนั้นอนาคตอาจจะต้องเพิ่มสัดส่วน Local Content ให้มากขึ้นราว 50-80% ซึ่งในส่วนนี้เป็นมาตรการสมัครใจ ต้องยอมรับว่าปีนี้ยอดขายรถยนต์หายไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาทิ เศรษฐกิจชะลอ และไทยก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยนต์”

 

ดังนั้นเพื่อยกระดับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยให้เข้มแข็ง เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก ในอนาคตเราจะเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน ทั้งสันดาป (ICE), ไฮบริด, EV ซึ่งจุดประสงค์หลักๆ ก็เพื่อให้รายใหญ่ช่วยรายเล็กไปด้วยกัน” นฤตม์กล่าว

 

เล็งออกมาตรการใหม่หารือผู้ผลิต EV ที่ชดเชยไม่ทัน

 

นอกจากนี้ จะหารือถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุนของแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับรถ EV เพิ่มเติม มาตรการช่วยผู้ประกอบการชิ้นส่วนภายในประเทศในรถ ICE และการพิจารณาเพื่อขยายระยะเวลาการผลิตรถ EV เพื่อชดเชยการนำเข้าแบบสำเร็จรูปตามมาตรการ EV 3.0 ซึ่งอยู่ที่ 1 ต่อ 1 คัน

 

“เนื่องจากตามเงื่อนไขของการลงทุนเพื่อตั้งฐานการผลิตรถ EV ในประเทศกำหนดให้ช่วงแรกสามารถนำเข้ารถ EV สำเร็จรูปได้ แต่จะต้องผลิตชดเชยในปี 2024 ซึ่งกลับพบว่าตลาดรถยนต์ติดลบต่อเนื่องและยังคงมีแนวโน้มติดลบไปจนถึงสิ้นปี 2024 หมายความว่าผู้ผลิตผลิตชดเชยไม่ทัน เรื่องนี้กำลังหารือกับทุกฝ่าย”

 

ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายน 2024 จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ครั้งแรก โดยนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานบอร์ด รวมถึงกรมสรรพสามิต มาร่วมกันพิจารณาและดำเนินตามนโยบาย 30@30

 

เล็งเก็บภาษี 15% จากบริษัทข้ามชาติ รับ OECD

 

นอกจากนี้ จะพิจารณามาตรการลดผลกระทบจากการเข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่จะเก็บภาษี 15% จากบริษัทข้ามชาติ โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ต้นปี 2025

 

โดยขณะนี้เป็นภารกิจของกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดการจัดเก็บภาษี 15% กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีบริษัทต่างชาติในไทยประมาณ 1,000 บริษัท

 

ทั้งนี้ BOI จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านภาษีและด้านการเงินคือสิทธิการลดหย่อนภาษีแทนการยกเว้น แต่เป็นระยะเวลานานขึ้น

 

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทได้รับสิทธิยกเว้นภาษี 5 ปี เปลี่ยนเป็นสิทธิลดหย่อนภาษี 50% เป็นเวลา 10 ปี และการใช้ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ) เพื่อเป็นเงินสนับสนุนในส่วนของการลงทุนเพื่อพัฒนา วิจัย ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีลงทุนหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้ได้ของบเพิ่มไปแล้วราว 30,000 ล้านบาท

 

คลื่นลงทุน Data Center ไทยยังมีต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ การประชุมบอร์ด BOI วันนี้ (1 พฤศจิกายน) ซึ่งมี พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนกิจการ Data Center 2 โครงการใหญ่ มูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ควอตซ์ คอมพิวติ้ง จำกัด ในเครือ Google มูลค่าลงทุน 32,760 ล้านบาท และบริษัท ดิจิทัลแลนด์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือ GDS มูลค่าลงทุน 28,000 ล้านบาท

 

“กระแสการลงทุนในกิจการ Data Center ในไทยยังมีอย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจลงทุน Data Center ขนาดใหญ่ทั้ง 2 โครงการของบริษัทระดับโลกเป็นการตอกย้ำศักยภาพของไทย ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ รองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลของทั้งภาคธุรกิจและองค์กรภาครัฐ อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนไทยสู่การเป็น Digital Innovation Hub ของภูมิภาคอาเซียนด้วย” นฤตม์กล่าว

 

 

ด้านสมชาย อัศวรุ่งแสงกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เม็กเท็ค แมนูแฟ็คเจอริ่ง คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เม็กเท็คมีแต้มต่อในการลงทุนอย่างมากจากการได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในหลายโครงการ มูลค่ารวมกว่า 5,800 ล้านบาท โดยโครงการส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น FPCB, FPCBA ทั้งนี้คาดว่าธุรกิจกลุ่ม PCB ในไทยจะยังขยายอย่างต่อเนื่องจากแรงขับเคลื่อนที่มาจากการเติบโตของเทคโนโลยี 5G, ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อกับ IoT, การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า, หุ่นยนต์ AI, ความก้าวหน้าในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ และอื่นๆ

 

“เม็กเท็คมีโรงงานผลิตและสำนักงานขายกระจายอยู่ทั่วโลก เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อผลิต FPCB ตั้งแต่ปี 1995 ด้วยซัพพลายเชนที่เข้มแข็งในอุตสาหกรรม ทำให้บริษัทเกิดความเชื่อมั่นในไทย” ส่วนแนวโน้มในปี 2025 น่าจะเติบโตอีกมาก เพราะจะมีการพัฒนาระบบ AI และระบบอัตโนมัติต่างๆ

 

ดังนั้นบริษัทยังมีแผนขยายการลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้าโดยเฉลี่ย 300 ล้านบาทต่อปี และการลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอีก 200 ล้านบาทต่อปี เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก” สมชายกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X