×

สภาเอกฉันท์ ผ่าน ‘ร่างกฎหมายไม่ตีเด็ก’ ยืนยันการไม่เฆี่ยนตีส่งผลเชิงบวกในระยะยาว

โดย THE STANDARD TEAM
30.10.2024
  • LOADING...
ร่างกฎหมายไม่ตีเด็ก

วันนี้ (30 ตุลาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 36 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ‘ร่างกฎหมายไม่ตีเด็ก’ ซึ่งพรรคประชาชนเป็นผู้เสนอเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในวันนี้

 

ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า พร้อมชี้แจงถึงประเด็นที่สมาชิกท้วงติง และกรรมาธิการรับไปพิจารณาตั้งแต่วาระที่ 1 ซึ่งมี 4 ประเด็น กล่าวคือ

 

  1. กลัวว่าร่างของกรรมาธิการที่ผ่านมาถ้อยคำจะไม่ครบในหลักการที่สภารับมา โดยเฉพาะการตัดถ้อยคำในเรื่องของการทารุณกรรม การทำร้าย และเน้นเรื่องความรุนแรงแทน ซึ่งกรรมาธิการนำคำว่า ‘การกระทำทารุณกรรม’ หรือ ‘ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ’ กลับเข้ามาสู่ร่างกฎหมายแล้ว เพื่อให้ตอบโจทย์สิ่งที่สมาชิกตั้งข้อสังเกต

 

  1. การตั้งคำถามว่า คำว่า ‘ความรุนแรง’ มีความหมายและครอบคลุมถึงไหน กรรมาธิการเห็นว่า คำว่าความรุนแรงนั้นปรากฏทั้งในข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งอยู่ในกฎหมายของไทยหลายฉบับ จึงไม่เป็นปัญหาในแง่ของการนิยามความหมายแต่อย่างใด

 

  1. การเฆี่ยนตี ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาก กรรมาธิการเสียงข้างมากยังยืนยันอยากให้มีการใส่คำว่า ‘ไม่เป็นการเฆี่ยนตี’ ในกรณีของการลงโทษหรือการปรับพฤติกรรมโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยในร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นชอบใช้ถ้อยคำว่า “ทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรมโดยต้องไม่กระทำทารุณกรรม หรือกระทำด้วยความรุนแรง หรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตีหรือกระทำโดยมิชอบ” 

 

ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยสงวนถ้อยคำไว้โดยใช้ถ้อยคำว่า “ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณ หรือทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ” แทน ซึ่งความแตกต่างโดยนัยสำคัญอย่างยิ่ง คือกรรมาธิการเสียงข้างน้อยตัดคำว่า ‘ไม่เป็นการเฆี่ยนตี’ ออกไป

 

ต่อให้เป็นไปตามที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยเห็นชอบให้ตัดคำว่า ‘ไม่เป็นการเฆี่ยนตี’ ออกไป ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ปกครองจะยังสามารถเฆี่ยนตีบุตรได้ เพราะการเฆี่ยนตีล้วนเป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้ในการส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตรเชิงบวก หรือกระทั่งการเฆี่ยนตีด้วยความรุนแรงถึงขั้นเกิดผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจก็ย่อมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก หรือประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แตกต่างในสาระสำคัญ เพียงแต่กรรมาธิการเสียงข้างมากอยากย้ำประเด็นให้สังคมตระหนักว่า การไม่ตีเด็กจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือการส่งเสริมการพัฒนาของเด็กในระยะยาวมากกว่า

 

  1. การปรับถ้อยคำด้วยการนำคำว่า ‘การด้อยค่า’ และ ‘การกระทำที่อาจละเมิดหรือกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ ออกไป แล้วใช้คำว่า ‘การกระทำโดยมิชอบ’ แทน ซึ่งวิญญูชนโดยทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่ามีความหมายในลักษณะเดียวกัน

 

ณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่า กรรมาธิการพยายามปรับแก้ไขตามข้อเสนอของสมาชิกโดยไม่ตกหล่น แต่จุดยืนยังชัดเจนว่าต้องการให้ทำโทษหรือปรับพฤติกรรมเป็นไปด้วยความเหมาะสม

 

หลังจากการชี้แจงกรรมาธิการและสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยสภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นรายมาตราที่มีการแก้ไข โดยสภาลงมติด้วยเสียงข้างมากเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้วยคะแนน 391 ต่อ 1 

 

หลังจากนั้นสภาพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการทั้ง 11 ข้อ และให้ความเห็นชอบต่อข้อสังเกตอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยมีเนื้อหาสรุปคร่าวๆ ด้วยการให้หน่วยงานต่างๆ ทำความเข้าใจกับสังคม ถึงการสนับสนุนให้ผู้ปกครองเลี้ยงบุตรในเชิงบวก เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของผู้ปกครองต่อการใช้ความรุนแรงต่อบุตร รวมถึงมาตรการทางสังคมอื่นๆ เช่น การให้คำปรึกษาต่อผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นจะต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบนำเรื่องไปดำเนินการเพื่อปรับวิธีการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ทั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของเด็ก หลังจากนี้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาโดยวุฒิสภาต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising