×

KKP Research มองไทยไม่ดึงดูด Tesla ในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ EV ขณะที่การตั้งโรงงานของแบรนด์จีนอาจไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ

09.02.2023
  • LOADING...

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ออกบทวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรม EV ไทย โดยระบุว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นปีทองของรถยนต์ไฟฟ้าไทย ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาตั้งโรงงานของค่ายรถไฟฟ้าจีนตามมาตรการสนับสนุนของรัฐ หรือข่าวใหญ่ปลายปีเมื่อ Tesla ตัดสินใจเปิดตลาดในไทย อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างสำคัญคือกลยุทธ์ในการบุกตลาดไทยของค่ายจีน และ Tesla โดยบริษัท EV จีนมีการตัดสินใจเปิดโรงงานและตั้งฐานการผลิตในไทย ในขณะที่ค่ายรถยนต์ระดับโลกอย่าง Tesla เลือกนำเข้ารถยนต์จากจีนมาขายในไทยและยังไม่มีการพิจารณาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย

 

การเปลี่ยนแปลงของตลาดยานยนต์ที่เห็นภาพชัดเจนขึ้นเป็นสัญญาณสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดย KKP Research ประเมินว่า ถึงแม้แนวโน้มการลงทุนทางตรงเพื่อผลิตรถยนต์ EV ของบริษัทจีนจะปรับตัวดีขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่ผลบวกต่อเศรษฐกิจจะมีไม่มากจากยอดการลงทุนที่มีขนาดเล็ก และมูลค่าเพิ่มในการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทยที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของค่ายรถยนต์ EV ใหม่ๆ ทั้ง Tesla และค่ายจีน ยังสามารถช่วยเพิ่มการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ EV ในไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ ในช่วงหลังจากนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญจะยังคงรักษาสถานะผู้นำในภูมิภาคต่อไปได้หรือไม่ การเข้ามาของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะกระทบกับตลาดรถยนต์เดิมอย่างไร และไทยมีความสามารถอะไรที่จะดึงดูดการลงทุนเพื่อผลิต EV ในเวลาที่อุตสาหกรรมนี้กลายเป็นเป้าหมายที่ภาครัฐทั่วโลกต้องการผลักดันเพื่อเป็นผู้นำ

 

ไทยดึงดูดผู้ผลิต EV ได้ดีแค่ไหนเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน

KKP Research ประเมินว่าไทยกำลังน่าสนใจน้อยลงในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ EV เมื่อมองจากมุมของ Tesla ที่เป็นผู้เล่นสำคัญของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลก จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

 

  1. ไทยมีตลาดที่ค่อนข้างเล็กจากกำลังซื้อภายในประเทศที่มีจำกัด โดยราคา Tesla ในปัจจุบันสามารถเจาะตลาดไทยได้เพียง 30,000 คันต่อปี หรือคิดเป็น 4.5% ของตลาดรถยนต์ไทย

 

  1. การนำเข้าจากโรงงานจีนมีต้นทุนที่ถูกกว่าเพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และโอกาสถึงจุดคุ้มทุนจากการตั้งโรงงานผลิตขายในตลาดไทยมีน้อย

 

  1. การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตโลก โดยมีความพยายามของนโยบายรัฐในประเทศพัฒนาแล้วในการดึงการสร้างฐานการผลิตกลับไปยังประเทศต้นทางมากขึ้น (Reshoring) ทำให้ความจำเป็นในการพึ่งพาตลาดเกิดใหม่มีน้อยลง

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าไทยหมดโอกาสเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะประเด็นการตัดสินใจตั้งฐานการผลิตของค่ายรถยนต์จีนในไทยแตกต่างจาก Tesla และทำให้ไทยมีโอกาสดึงดูดค่ายจีนบางกลุ่มได้ เนื่องจากค่ายรถยนต์จีนมีสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวไทยมากกว่า ตัวอย่างเช่น ราคาที่ถูกกว่า Tesla จนมีฐานผู้บริโภคให้ทำตลาดที่กว้างกว่า ทำให้การตั้งโรงงานมีโอกาสถึงจุดคุ้มทุนเร็วกว่า และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่อาจจะทำให้การขยายธุรกิจไปยังอเมริกาและยุโรปยังมีอุปสรรคในอนาคต

 

“ในปี 2022 มีปัจจัยภายนอกและภายในช่วยดึงดูดค่ายจีนมาหาไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ EV ในประเทศจีนที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขันที่สูงขึ้นในจีน และการยกเลิกมาตรการเงินอุดหนุน พร้อมๆ กับนโยบายของไทยที่ให้การสนับสนุนมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เราจึงเห็นการเข้ามาตั้งฐานการผลิตของค่ายรถยนต์จีนในประเทศไทยบ้างในปีที่ผ่านมา” KKP Research ระบุ

 

การเข้ามาของโรงงานจีนอาจไม่ส่งผลบวกมากต่อเศรษฐกิจไทย

KKP Research ประเมินว่าการเข้ามาลงทุนทางตรงในช่วงที่ผ่านมาในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้ายังสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจได้น้อยจาก 2 ประเด็นสำคัญ คือ

 

  1. ขนาดการลงทุนยานยนต์ EV จากจีนยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ และยังน้อยกว่าการลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นเพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์ในอดีต

 

  1. มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้จากการผลิตรถยนต์ EV มีน้อยลง และจำเป็นต้องนำเข้าชิ้นส่วนมากขึ้น อาจทำให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยเคยสร้างได้ในประเทศหายไปมากกว่าครึ่ง ในขณะที่การเข้ามาทำธุรกิจขายรถยนต์ของ Tesla แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่มีตัวเลือกหลากหลายขึ้น แต่ไม่ได้มีผลบวกต่อเศรษฐกิจมากนัก และสร้างความท้าทายมากขึ้นในระยะยาวต่อค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทย

 

“ในภาพรวมแม้ว่าการเข้ามาของโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนจะเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งใหม่ๆ อย่างอินโดนีเซีย ขนาดการลงทุนจากจีนมาไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยขนาดการลงทุนจากบริษัทจีนในอินโดนีเซียอย่าง CATL ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับหนึ่งของโลกเพียงบริษัทเดียว มีมูลค่าการลงทุนมากกว่าครึ่งของมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ทั้งหมดของไทย และมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในอินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมามากกว่าไทยถึง 2 เท่า สะท้อนว่าไทยกำลังจะเจอการแข่งขันที่มากขึ้น และการดึงดูดให้เกิดการลงทุนในไทยจะเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายอย่างมาก” KKP Research ระบุ

 

การเข้ามาของ Tesla สร้างแรงกระเพื่อมกับตลาดรถยนต์ไทย

แม้ว่าการเข้ามาของ Tesla จะยังไม่สามารถจับตลาดยานยนต์ทั่วไปของไทยได้ แต่ก็สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อตลาดรถยนต์ในบางกลุ่ม โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทันทีในระยะสั้นคือตลาดรถหรูและตลาดรถหรูมือสอง และในระยะยาวค่ายรถจีนและญี่ปุ่นจะได้รับแรงกดดันมากขึ้นคือ

 

  1. ตลาดรถหรู กลุ่มผู้ใช้รถหรูมีแนวโน้มเปลี่ยนมาใช้ EV เร็วกว่ากลุ่มผู้ใช้รถยนต์ทั่วไปถึง 5 เท่า จากการเพิ่มขึ้นของตัวเลือกรถยนต์ในตลาดที่มีระดับราคาใกล้เคียงกับผู้ใช้กลุ่มนี้ และ Tesla ที่เข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของตลาดไทยจะเป็นคู่แข่งสำคัญของค่ายรถหรู จากราคาที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ที่มีความทันสมัยกว่า

 

  1. ตลาดรถหรูมือสอง มูลค่าการขายต่อรถหรูมีแนวโน้มลดลงจากระดับราคาซื้อ-ขายที่ใกล้เคียงกับรถยนต์ใหม่ Tesla ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมา

 

  1. รถไฟฟ้าจากค่าย Tesla มีข้อได้เปรียบแบรนด์จีนด้านภาพลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าและได้รับความไว้วางใจมากกว่า ซึ่งมีแนวโน้มกดดันให้ราคา EV จีนลดลงได้

 

  1. ค่ายรถญี่ปุ่น การขยับตัวที่ช้าของค่ายญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้ค่ายรถ EV อย่าง Tesla ขยายตลาดได้ง่ายขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะเสียส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นจากระดับราคารถยนต์ Hybrid และ BEV ที่ใกล้เคียงกับ Tesla

 

ตลาด EV ในไทยมีแนวโน้มโตเร็วขึ้นแค่ไหน เมื่อ Tesla และค่ายจีนเร่งบุกไทย?

EV ในไทยถือว่ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา จากมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนผ่านส่วนลดภาษีและเงินอุดหนุน และเติบโตได้เร็วกว่าหลายประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวการขยายตลาดรถยนต์ EV มายังตลาดรถยนต์ใหญ่ของไทยยังทำได้ยากเนื่องจากราคารถยนต์ EV ที่ยังสูง อีกทั้งปัจจัยด้านอุปทานยังเป็นปัจจัยที่กำหนดความเร็วของตลาด EV ไม่ว่าจะเป็นสถานีอัดประจุรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุม ภาวะขาดแคลนแผงวงจรไฟฟ้าทั่วโลกที่ทำให้ส่งมอบรถยนต์ EV ได้ช้า และที่สำคัญที่สุดคือการขาดแคลนสินแร่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV

 

ในระยะต่อไป ประเด็นที่ต้องติดตามสำหรับยานยนต์ไทยคือ

  1. สงครามราคาที่กดดันให้ราคา EV ถูกลง อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่เร่งให้ตลาดไทยเปลี่ยนมาใช้ EV ได้เร็วขึ้น
  2. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
  3. นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ไทย
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising