×

เมื่อ ‘ตลาดหุ้นไทย’ ส่งสัญญาณฟื้นตัวสวนทาง ‘ตลาดโลก’

28.11.2022
  • LOADING...

ในครึ่งหลังของปี 2565 โดยภาพรวมของตลาดหุ้นไทยถือว่ามีความผันผวนน้อยกว่าตลาดอื่นในภูมิภาคและตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้วในฝั่งตะวันตก ซึ่งเกิดมาจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งจากนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1.0% ในการประชุมรอบล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังจัดได้ว่ายังคงเป็นนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย เมื่อเทียบกับชาติอื่น อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา (ดอกเบี้ยนโยบาย 4.75-5.0%) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการหลายท่านเริ่มแสดงความกังวลของส่วนต่างของดอกเบี้ยนโยบายระหว่างประเทศไทยกับของต่างประเทศที่มีมากเกินไป และจะเป็นปัจจัยเสี่ยงข้อใหญ่ที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างรุนแรงในอนาคต จนส่งผลให้ภาคธุรกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทันและย่อมส่งผลต่อตลาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังคงมีความมั่นใจในเสถียรภาพของค่าเงินบาท โดยให้เหตุผลว่าปัจจัยเสี่ยงจากเงินเฟ้อในประเทศยังมีค่อนข้างจำกัด จากการที่เศรษฐกิจฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเกิดจากฝั่งอุปทานที่ขาดแคลนไม่ได้เกิดจากฝั่งอุปสงค์ ถึงแม้การที่ดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยจะขึ้นช้ากว่าประเทศอื่น จนอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเงินทุนที่อาจไหลออกนอกประเทศไทย แต่ทิศทางการอ่อนค่าของค่าเงินบาทก็ยังไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี จากการที่นโยบายของภาครัฐที่เริ่มมีการเปิดประเทศ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจากทางภาครัฐบาล

 

หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มมีการเปิดประเทศโดยมีมาตรการที่ผ่อนผันมากขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ตัวเลขนักท่องเที่ยวก็เริ่มมีการฟื้นตัวไปในเชิงที่ดีขึ้น โดยที่ยอดนักท่องเที่ยวขาเข้าในไตรมาส 3 นั้นอยู่ที่ราว 1.15 ล้านคนต่อเดือน ซึ่งในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยสูงขึ้นถึงประมาณ 1.31 ล้านคน จะเห็นได้ว่าตัวเลขจะค่อยๆ ปรับตัวแบบเร่งตัวขึ้นมาจาก 1.12 ล้านคนในเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวขาเข้าจะยิ่งเร่งตัวขึ้นอีกในช่วงไตรมาสที่ 4 โดยสาเหตุหลักจะมาจากเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวของประเทศไทย ประเมินว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวขาเข้าอาจจะปรับตัวสูงขึ้นเป็นราว 1.6-1.7 ล้านคนต่อเดือนเลยทีเดียว นอกจากนั้น ยังมีการคาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติทุกๆ 1 ล้านคนที่ไหลเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย จะช่วยให้ GDP เติบโตขึ้นประมาณ 0.2% และหากพิจารณาถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวขาเข้าช่วงก่อนและหลังโควิด นักท่องเที่ยวนั้นกลับมาเพียง 14% เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด) ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญที่ภาครัฐควรเร่งกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเนื่องจากยังโอกาสอีกมากในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่งและเติบโตเร็วขึ้น

 

สิ่งที่ต้องจับตาของการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในครั้งนี้ มีอยู่ 2 ประเด็นหลักคือ 1. สัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด และ 2. ความสามารถในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัว 

 

ประการแรก ตัวเลขสถิติจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยชี้ชัดว่าหลังจากเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติจากกลุ่ม ASEAN กลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักแทนที่นักท่องเที่ยวจากประเทศจีน โดยคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวขาเข้านับตั้งแต่เริ่มมีการเปิดประเทศ ในขณะที่สัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนเหลือเพียงราว 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด นักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนมากถึง 27.6% ของนักท่องเที่ยวขาเข้าทั้งหมด โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ทางรัฐบาลจีนยังคงนโยบาย Zero-COVID ทำให้นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนไม่สามารถออกนอกประเทศได้ 

 

ประการที่สอง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อหัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปและจีนมีค่าเฉลี่ยราว 1,800 และ 1,250 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อการท่องเที่ยว ซึ่งมากกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวจากกลุ่ม ASEAN ซึ่งอยู่เพียงราว 750 ดอลลาร์สหรัฐต่อการเดินทาง โดยมาจากปัจจัยเรื่องกำลังซื้อและเรื่องจำนวนวันเข้าพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวจากยุโรปและจีนมีมากกว่ากลุ่ม ASEAN นั่นเอง ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยจะต้องมีนักท่องเที่ยวไหลเข้ามากกว่าราว 2 เท่า เพื่อที่จะทำให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด 

 

นอกจากนั้น ยังเป็นอีกหนึ่งโจทย์ให้ผู้ประกอบการที่เน้นขายสินค้า/บริการให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะต้องนำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์และตรงใจฐานผู้บริโภคนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ที่เปลี่ยนไปอีกด้วย และท้ายที่สุดภาครัฐและภาคเอกชนต้องเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการบริการให้สอดคล้องกับตัวเลขนักท่องเที่ยงที่จะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยดังที่เกิดในประเทศญี่ปุ่นที่ภาคบริการไม่สามารถจ้างพนักงานกลับมาได้ทันท่วงทีเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ 

 

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีข่าวเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยคือ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนท่าทีของทางรัฐบาลจีนที่เริ่มผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์มากขึ้น สังเกตได้จากการผ่อนปรนระยะเวลาในการกักตัวเป็นในโรงแรม 5 วันในโรงแรม และ 3 วันที่บ้าน ซึ่งลดลงจากเดิม 7 วันที่โรงแรม และ 3 วันที่บ้าน ย่อมเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกที่ดีจากรัฐบาลต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกในแง่ที่จีนพร้อมที่เพิ่มความยืดหยุ่นในการเปิดประเทศ ซึ่งย่อมส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าต่างๆ ทั่วโลก และย่อมเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยที่เน้นภาคบริการการท่องเที่ยวอีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X