×

คุยกับทูตไทยประจำฟินแลนด์: เปิดบทเรียน ‘สมรสเท่าเทียม’ จากแดนไกล

23.01.2025
  • LOADING...
คุยกับทูตไทยประจำ ฟินแลนด์: เปิดบทเรียน ‘สมรสเท่าเทียม’ จากแดนไกล

THE STANDARD พูดคุยกับ ชวนาถ ทั่งสัมพันธ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ในช่วงเวลาสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ที่ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ในประเทศไทยมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 23 มกราคม 2025 

 

ทูตไทยประจำฟินแลนด์เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการกล่าวแสดงความยินดีกับประเทศไทยในก้าวสำคัญของการสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกๆ คน โดยระบุว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยโอบรับความหลากหลายทางเพศ โดยให้สิทธิเสรีภาพแก่ทุกคนในการสร้างครอบครัว ไม่ว่าเขาคนนั้นจะมีเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศแบบใดก็ตาม พร้อมกล่าวชื่นชมและขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้ประเทศไทยก้าวเดินมาจนถึงจุดนี้ได้

 

ภาพ: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ

 

สมรสเท่าเทียมกับภาพลักษณ์ของไทยบนเวทีโลก

 

ทูตชวนาถกล่าวว่า การประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของประเทศไทยที่จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ พร้อมผลักดันการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงสนับสนุนและให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

 

นอกจากนี้การผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม อันเป็นผลมาจากการประสานความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนรัฐบาลและผู้นำประเทศ ยังทำให้ประเทศไทยมีส่วนสร้างสรรค์แรงบันดาลใจให้แก่ประเทศอื่นๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคที่ต้องการให้สังคมของตนเกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้ไทยมีบทบาทนำมากยิ่งขึ้นบนเวทีโลก ในฐานะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะในมิติของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)

 

ภาพ: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ

 

ชุมชนคนไทยในฟินแลนด์และบทบาทของสถานทูตไทย

 

ทูตชวนาถเล่าว่า กระแสตอบรับในโซเชียลมีเดียของสถานทูตต่อประเด็นการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นไปอย่างคึกคัก มีคนไทยและชาวต่างชาติร่วมแสดงความยินดีและชื่นชมต่อผลงานรัฐบาลในครั้งนี้อย่างมาก โดยเฉพาะคู่รัก LGBTQIA+ ชาวไทยและชาวฟินแลนด์ รวมถึงชาวไทยด้วยกันเอง 

 

ถึงแม้ว่าคู่รักเหล่านี้จะสามารถจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมได้อยู่แล้วตามกฎหมายฟินแลนด์ แต่การที่พวกเขาสามารถนำหลักฐานการจดทะเบียนสมรสนั้นมารับรองเอกสารที่สถานทูตไทย เพื่อยื่นคำร้องขอเพิ่มรายละเอียดในทะเบียนครอบครัวของไทย หรือแม้กระทั่งดำเนินการจดทะเบียนสมรสใหม่ตามกฎหมายไทยได้ ก็จะทำให้คู่รัก LGBTQIA+ เหล่านี้ได้รับสิทธิตามกฎหมายครอบครัวของไทยโดยบริบูรณ์ และทำให้ชาวไทยในฟินแลนด์ได้รับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ตามที่ประชาชนไทยคนหนึ่งพึงมี

 

สถานทูตได้จัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลสำคัญผ่านสื่อช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะเว็บไซต์และเฟซบุ๊กทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียมและสิทธิทางกฎหมายต่างๆ ที่ LGBTQIA+ จะได้รับและสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้ชาวไทยและชาวฟินแลนด์ที่เข้าเยี่ยมชมโซเชียลมีเดียของสถานทูต สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับประเทศไทยในการสนับสนุนความเข้าใจและการยอมรับสิทธิของกลุ่ม LGBTQIA+ ซึ่งเป็นการช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของสังคมให้เกิดความเสมอภาค โดยโอบรับความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น

 

ภาพ: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ

 

ที่ผ่านมาสถานทูตได้ทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น การจัดฉายภาพยนตร์ LGBTQIA+ ของไทยในงานเทศกาลภาพยนตร์ Love is Love – LGBTQIA+ Summer Film Festival in Helsinki 2023 ในระหว่างสัปดาห์ Helsinki Pride Week 2023, การพบปะหารือกับเลขาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคน LGBTQIA+ ในฟินแลนด์ (SETA) รวมถึงการร่วมเดินขบวนพาเหรดในงาน Helsinki Pride 2023/24 และการออกแถลงการณ์ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตต่างชาติในฟินแลนด์ในการสนับสนุนความเข้าใจและการยอมรับสิทธิของกลุ่ม LGBTQIA+ ซึ่งทุกกิจกรรมล้วนมีส่วนขับเคลื่อนให้เกิดการยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่ม LGBTQIA+ และรณรงค์ให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างพื้นฐานของสังคม เพื่อสนับสนุนคนกลุ่มนี้

 

ภาพ: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ

 

บทเรียนจากฟินแลนด์

 

ฟินแลนด์ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมตั้งแต่ปี 2017 และเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2023 ฟินแลนด์ได้ประกาศใช้กฎหมายการเลือกใช้เพศสภาพ (Act on Legal Recognition of Gender) ตามหลักสิทธิกำหนดใจตนเอง (Self-Determination) โดยทูตชวนาถเผยว่า ประเทศไทยก็กำลังพิจารณาการออกกฎหมายในประเด็นดังกล่าวเช่นเดียวกัน จึงอาจนำมาใช้พิจารณาเปรียบเทียบได้ นอกจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จะมีส่วนสำคัญในการเติมเต็มสิทธิให้กับคู่รัก LGBTQIA+ แล้ว กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องและส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศก็มีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฟินแลนด์และประเทศตะวันตกจะมีความก้าวหน้าทางสังคมในด้านการรณรงค์ส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมกันของกลุ่ม LGBTQIA+ แต่จากข้อมูลขององค์การ SETA ทูตชวนาถระบุว่า ยังมีประเด็นที่ฟินแลนด์ยังคงเป็นห่วงอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

 

  1. กรณีผู้เยาว์ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการยอมรับตัวตนได้ (แม้จะรู้จักตนเองตั้งแต่อายุยังน้อย แต่จะต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปีจึงจะสมัครเปลี่ยนเพศได้ตามกฎหมายภายหลังการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในฟินแลนด์เริ่มสำรวจและเก็บข้อมูลจากเยาวชนในเรื่องดังกล่าวทุกๆ 2 ปี
  2. ประเด็นเรื่องสภาวะการตีกรอบความสำนึกทางเพศที่ไม่ใช่ชาย-หญิง (Non-binary หรือ Genderless) ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่มีการยอมรับทางกฎหมาย โดยสถานทูตกำลังติดต่อขอรับข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของฟินแลนด์ในเรื่องดังกล่าว 

 

นอกจากนี้ประเทศไทยยังสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับฟินแลนด์ได้ในกรณีการต่อต้าน Hate Speech และ Hate Crimes หรือการจัดการกับ ‘การเกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน’ (Homophobia) ในโรงเรียน สถานที่ทำงาน หรือแม้แต่ในพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งขณะนี้การเมืองโลกกำลังเปลี่ยนขั้วไปทางขวาจัด ประเด็นเหล่านี้จึงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

ภาพ: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ

 

ไทยกับพันธมิตรหลากสี

 

ทูตชวนาถแสดงความเห็นว่า เมื่อนานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตกอย่างสหภาพยุโรป (EU) ที่ส่วนใหญ่มีมุมมองเปิดกว้างต่อประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศมองเห็นว่า ประเทศไทยเริ่มมีมุมมองไปในแนวทางเดียวกันกับเขา มีจุดยืนและสนับสนุนในหลักการเดียวกัน พร้อมที่จะเปิดรับและปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์ ย่อมจะทำให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างการยอมรับในกลุ่ม LGBTQIA+ มากยิ่งขึ้น 

 

ทั้งนี้ ในการประชุม Political Consultations ระหว่างไทยกับฟินแลนด์ ทูตชวนาถเผยว่า ฟินแลนด์ชื่นชมไทยเป็นอย่างมากที่ดำเนินกิจกรรมสนับสนุน LGBTQIA+ และเข้าเป็นสมาชิก Equal Rights Coalition (ERC) เมื่อช่วงกลางปี 2024 พร้อมให้คำมั่นว่าฟินแลนด์จะร่วมมือกับไทยในการส่งเสริมสิทธิของกลุ่ม LGBTQIA+ อย่างแข็งขันต่อไป

 

ภาพ: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ

 

ทูตชวนาถกล่าวทิ้งท้ายว่า การประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยจะเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทยในการยอมรับความรักของกลุ่มคน ‘ทุกเพศสภาพ’ โดยปราศจากการตีตราหรือกดทับ และสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยทุกภาคส่วนพร้อมแล้วที่จะร่วมแรงร่วมใจกันส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โอบรับทุกความแตกต่างหลากหลาย และเปิดโอกาสให้คนทุกเพศได้สร้างครอบครัวกับคนที่พวกเขารักและรักเขา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising