×

ปี 2568 ไทยเร่งปรับตัวรับความท้าทายระลอกใหม่…เมื่อสงครามการค้าโลกยังไม่จบ

17.07.2024
  • LOADING...

สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนระลอกใหม่กำลังกลับมาเป็นประเด็นให้พูดถึงกันอีกครั้ง หลังจากที่ทั้ง 2 ประเทศมีการผ่อนคลายชั่วคราวไปแล้วในช่วงปี 2563 อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ (Strategic Industries ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์, โซลาร์เซลล์ และรถยนต์ไฟฟ้า) ช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่สหภาพยุโรปประกาศขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) จากจีนเป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรม ยิ่งไปกว่านั้น แนวนโยบายการหาเสียงในการเลือกตั้งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ จะเป็นอีกจุดสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อสงครามการค้าในอนาคต โดยเฉพาะผู้เข้าชิงตำแหน่งคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนถึง 60% ขณะที่ทางฝั่งของจีนที่ผ่านมาก็แสดงจุดยืนที่พร้อมจะตอบโต้มาตรการการค้าของสหรัฐฯ ยิ่งทำให้ความเป็นไปได้ที่สงครามการค้าระลอกใหม่อาจรุนแรงขึ้นกว่าเดิม จึงเกิดคำถามที่น่าสนใจว่า ไทยยังจะมีโอกาสและรับมือกับความเสี่ยงจากสงครามการค้าระลอกใหม่ได้มากน้อยเพียงใด

 

จากบทเรียนสงครามการค้าปี 2561 ไทยได้รับผลประโยชน์ไม่มาก และมีแนวโน้มที่จะได้รับผลบวกที่จำกัดจากสงครามการค้าครั้งใหม่

 

ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากสงครามการค้าครั้งที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่สหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าจากประเทศกลุ่มเอเชียอื่นๆ มากขึ้น ทดแทนการนำเข้าจากจีน ขณะเดียวกันจีนเองก็มีการส่งออกสินค้ามาในภูมิภาคมากขึ้น บางส่วนเป็นสินค้าขั้นต้นเพื่อนำมาเพิ่มมูลค่า ก่อนส่งออกไปสหรัฐฯ ในท้ายที่สุด นอกจากนี้ไทยยังได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนของต่างชาติ โดยมีการย้ายฐานการผลิต (Relocation) ของหลายบริษัทที่ส่งออกจากจีนไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น เพื่อลดอุปสรรคการค้าจากกำแพงภาษีที่สูง ตลอดจนลดความเสี่ยงผ่านการกระจายฐานการผลิต

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบภาพรวมผลประโยชน์เชิงการค้ากับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค พบว่า ไทยยังได้รับผลประโยชน์ไม่มากนัก สะท้อนได้จากสัดส่วนการค้าที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคู่แข่ง โดยสัดส่วนการนำเข้าสินค้าไทยของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.50% ใกล้เคียงกับสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจีนของไทยที่เพิ่มขึ้น 0.49% (เทียบเป็นสัดส่วนในช่วงระหว่างปี 2557-2560 ก่อนปรับภาษีของสหรัฐฯ-จีน กับช่วงปี 2564-2566 ซึ่งเป็นช่วงหลังปรับภาษี) ในขณะที่สัดส่วนการนำเข้าสินค้าเวียดนามของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.08% สูงกว่าสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจีนของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นเพียง 1.18% เท่านั้น

 

นอกจากนี้ยังพบว่า ไทยมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ในช่วงปี 2564-2565 อยู่ที่ 26.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าเวียดนามและมาเลเซีย ที่มีเม็ดเงิน FDI มากถึง 33.6 และ 35.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ประกอบกับผลจากการย้ายฐานการผลิตมาไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) ในไทยอยู่ในขั้นเริ่มต้นการผลิตในประเทศ แตกต่างจากเวียดนามและมาเลเซียที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มาตั้งแต่ต้น ซึ่งได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต เช่น บริษัท Intel Corporation ที่ลงทุนสร้างฐานการผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในมาเลเซีย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนในระลอกต่อไปที่เน้นในกลุ่ม Strategic Industries ทำให้ไทยอาจได้รับผลประโยชน์ที่จำกัดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

 

โครงสร้างเศรษฐกิจและนโยบายการค้าช่วยสนับสนุนได้อย่างจำกัด ส่งผลให้อาจได้รับผลเสียทางอ้อมจากสงครามการค้าระลอกใหม่

 

ด้วยศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่ต่ำกว่าในอดีตจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมา จากกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีเก่าที่มีความต้องการในตลาดโลกน้อยลง ความน่าสนใจในการลงทุนเพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยังคงมีน้อยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพสูง ตลอดจนนโยบายสนับสนุนที่ค่อนข้างจำกัด ผ่านการมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTAs) ที่ครอบคลุมไม่มากเท่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค หรือผลกระทบข้างเคียงจากนโยบายการค้าเสรี ทำให้การระบายสินค้าของจีน (Destocking) เข้ามาในไทยมากขึ้น เนื่องจากภาคการผลิตในบางอุตสาหกรรมของจีนมีปัญหาอุปทานล้นตลาด (Over Capacity) รวมถึงการที่ราคาสินค้านำเข้าจากจีนมีระดับต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการอุดหนุนการผลิตและส่งออก จึงกระทบต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมในประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อยหรือมีต้นทุนสูงกว่า เช่น เหล็กและโลหะ ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงเคมีภัณฑ์ หรือที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้คืออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) ในไทยที่มีการแข่งขันด้านราคาที่ดุเดือดมากขึ้นจากการที่จีนเร่งส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะได้รับผลเสียจากผลกระทบทางอ้อมของสงครามการค้ารอบถัดไป

 

โดยสรุป สงครามการค้าระลอกใหม่อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจากบทเรียนในอดีต ไทยได้รับอานิสงส์ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศภูมิภาค นอกจากนี้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำลง ความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และนโยบายสนับสนุนต่างๆ ที่ยังไม่สามารถยกระดับศักยภาพขึ้นได้ในปัจจุบัน ทำให้ไทยอาจมีความเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมากขึ้น ท้ายที่สุดอาจส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศมากกว่าที่คิด ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ของภาครัฐที่จะช่วยขับเคลื่อนและยกระดับการแข่งขันของอุตสาหกรรมภายในประเทศในระยะต่อๆ ไป ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการเอกชนจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและเพิ่มการวิจัยพัฒนาเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้

 

ภาพ: Imagine Photographer / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X