×

ผ่างบกลาโหม 68 สามเหล่าทัพอยากซื้ออะไรบ้าง

10.07.2024
  • LOADING...
กระทรวงกลาโหม

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่สำคัญสำหรับ กระทรวงกลาโหม เพราะเป็นสัปดาห์ที่สภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มพิจารณางบประมาณของกระทรวงกลาโหมในปี 2568 ซึ่งจะชี้ว่ากระทรวงกลาโหมจะได้รับงบประมาณในการปฏิบัติหน้าที่เท่าไร และคำของบประมาณจำนวน 200,923,780,500 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2567 เป็นจำนวนเงิน 5,179 ล้านบาทนั้น จะถูกตัดออกไปมากน้อยแค่ไหน

 

และแน่นอนว่าสิ่งที่สังคมสนใจค่อนข้างมากก็คืองบจัดหายุทโธปกรณ์หรืองบซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหม ซึ่งส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่กับสามกองทัพคือ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ 

 

เริ่มกันที่กองทัพบก ซึ่งปีนี้กองทัพบกมีงบผูกพันเพื่อจัดหาอาวุธใหม่เพียง 509 ล้านบาท และรวมตั้งแต่ปี 2568-2570 เป็นจำนวน 3,394 ล้านบาท ถือว่าน้อยที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งอาจเป็นเพราะกองทัพบกยังมีภาระผูกพันที่ต้องผ่อนจ่ายเงินค่าซื้ออาวุธที่เริ่มในปีก่อนๆ และยังต้องจ่ายต่อจนถึงปี 2569 จำนวน 14 โครงการ ราว 8,326 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

สำหรับโครงการเริ่มใหม่ในปีนี้ที่เด่นๆ ก็มี เช่น โครงการจัดหายานเกราะล้อยาง VN-1 เพิ่มเติม ซึ่งเป็นการจัดหาจากประเทศจีนมากกว่า 100 คัน มูลค่ากว่า 7 พันล้านบาท แม้จะมีข่าวว่ายานเกราะมีความพร้อมรบค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด คือต่ำกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนยานเกราะทั้งหมด เนื่องจากปัญหาการซ่อมบำรุงและอะไหล่ทั้งที่เพิ่งประจำการมาไม่กี่ปี และมีคำถามว่ากองทัพบกควรจะสนับสนุนยานเกราะล้อยางที่ผลิตในประเทศหรือไม่ เนื่องจากมีหลายบริษัทที่มีขีดความสามารถในการผลิตยานเกราะล้อยางในประเทศ และได้รับรองมาตรฐานแล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนจัดหาเข้าประจำการ ซึ่งการจัดหายานเกราะที่ผลิตในประเทศ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศอีกด้วย

 

นอกจากนั้นยังมีโครงการจัดหาอากาศยานไร้นักบินหรือโดรนสำหรับลาดตระเวนหาข่าวของกองทัพบก ซึ่งจะเป็นโดรนทางยุทธวิธีขนาดกลางระบบที่สามต่อจาก Hermes 450 ของบริษัท Elbit ประเทศอิสราเอล ที่ประจำการในศูนย์การบินทหารบก และ Sky Saker FX80 ของบริษัท Norinco ประเทศจีน ที่ประจำการในกองร้อยทหารปืนใหญ่ค้นหาเป้าหมาย รวมถึงโครงการจัดหาระบบต่อต้านอากาศยานไร้นักบินหรือ Anti Drone ตามนโยบายที่กองทัพบกเริ่มให้ความสำคัญต่ออากาศยานไร้นักบินมากขึ้น

 

ในส่วนของกองทัพเรือนั้นยังคงเป็นกองทัพที่ได้รับงบประมาณในการจัดหาอาวุธค่อนข้างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับเหล่าทัพอื่น แม้ปีนี้จะได้รับงบประมาณในการเริ่มโครงการใหม่ไม่มากนักคือ 873 ล้านบาท และรวมภาระผูกพันในอนาคตตั้งแต่ปี 2568-2572 ราว 5,825 ล้านบาท แต่ถ้านับโครงการที่เริ่มมาแล้วในปีก่อนๆ กองทัพเรือยังมีภาระต้องผ่อนจ่ายต่อเนื่องจนถึงปี 2575 สูงถึง 34,482 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

ทั้งนี้ โครงการจัดหาเรือฟริเกตใหม่ของกองทัพเรือมูลค่า 17,500 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการนำเรือฟริเกตที่มีความซับซ้อนสูงเข้ามาต่อในประเทศไทยเป็นครั้งแรก แต่ก็ถูกตัดงบประมาณไปในปี 2567 และไม่สามารถเสนอเข้ามาทันในปีงบประมาณ 2568 รวมถึงโครงการจัดหาเรือดำน้ำที่ยังคาราคาซังอยู่ ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร แต่กองทัพเรือก็ยังมีโครงการอีกหลายโครงการที่เสนอในปีนี้ โดยมีโครงการจัดหาเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศแบบประจำที่ และโครงการเพิ่มขีดความสามารถระบบการรบสำหรับการปฏิบัติการทางเรือ หรือการติดตั้งระบบอาวุธและระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ให้กับเรือหลวงช้างเพิ่มเติม หลังจากปีที่ผ่านมาได้รับงบประมาณไปแล้วราว 950 ล้านบาท

 

โครงการที่ใหญ่ที่สุดคือ โครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงจำนวน 2 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินลำเลียงแบบ F-27 ที่ปลดประจำการไป และโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางจำนวน 2 ลำ ซึ่งทั้งสองโครงการนี้มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 5 พันล้านบาท แต่ก็ถือว่ามีความจำเป็นและมีความสำคัญ เพราะอากาศยานของกองการบินทหารเรือปลดประจำการไปเป็นจำนวนมากโดยไม่มีอากาศยานใหม่เข้ามาทดแทน แม้ว่าสิ่งที่น่าเสียดายก็คือเงินมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาทนี้ ประเทศไทยจะไม่ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจผ่านการชดเชยหรือ Offset เลย ซึ่งถือว่าประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ที่รัฐควรจะใช้การซื้ออาวุธเป็นช่องทางดึงการลงทุนจากต่างประเทศ หรือเปิดโอกาสเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น

 

แต่โครงการของกองทัพอากาศที่ได้รับการประชาสัมพันธ์ว่าจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหรือ Offset จากการจัดหา นั่นก็คือโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีระยะที่ 1 จำนวน 4 ลำ มูลค่า 19,500 ล้านบาท เพื่อทดแทน F-16 ในฝูง 102 และ 103 โดยทั้งโครงการจะจัดหา 12 ลำ มูลค่ารวมราว 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นการแข่งขันระหว่าง F-16 Block 72 ของบริษัท Lockheed Martin สหรัฐอเมริกา และ Gripen E/F ของบริษัท Saab ประเทศสวีเดน โดยมี FA-50 ของบริษัท KAI ประเทศเกาหลีใต้ เข้ามาเป็นตัวสอดแทรก 

 

โดยนอกจากประสิทธิภาพของเครื่องบินแล้ว กองทัพอากาศยังกล่าวว่าจะพิจารณาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับ ถ้ามีการจัดหาเครื่องบินจากประเทศนั้นๆ อีกด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเสนอของผู้ผลิตแต่ละรายว่าจะมีการลงทุนในประเทศไทยหรือมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยอย่างไรบ้าง แต่ก็ต้องผ่านด่านวัดใจในสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ก่อน เพราะโครงการนี้ใช้งบประมาณค่อนข้างมากในแต่ละปี โดยปี 2568 จะใช้งบประมาณราว 3 พันล้านบาท 

 

สำหรับโครงการอื่นที่สำคัญก็คงเป็นโครงการปรับปรุงขีดความสามารถเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 หรือ C-130H ระยะที่ 3 ที่น่าจะทำให้กองทัพอากาศต้องใช้ C-130H ไปจนอายุมากกว่า 60 ปี และโครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นรุ่น T-50TH ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการจัดหาอะไหล่เพื่อสนับสนุนการซ่อมบำรุงแบบรวมการณ์ ซึ่งจะทำให้เครื่องบิน T-50TH มีความพร้อมรบสูงขึ้น

 

โดยรวมแล้วกองทัพอากาศได้รับงบประมาณในปี 2568 สำหรับจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่จำนวน 3,516 ล้านบาท รวมงบประมาณในปี 2568-2572 ที่ต้องใช้ราว 23,380 ล้านบาท และยังมีภาระผูกพันในการจัดหาอาวุธในโครงการเดิมที่ต้องผ่อนจ่ายจนถึงปี 2570 อีก 5,861 ล้านบาท

 

ในภาพรวมเราจะเห็นได้ว่า ทั้งสามเหล่าทัพได้รับงบประมาณสำหรับโครงการที่จะเริ่มผูกพันใหม่จำนวน 4,898 ล้านบาท รวมกรอบงบประมาณที่จะต้องผ่อนจ่ายตั้งแต่ปี 2568-2572 รวม 32,599 ล้านบาท และเมื่อรวมกับงบประมาณสำหรับโครงการที่เริ่มต้นไปแล้วในปีก่อนๆ และยังมีภาระผ่อนจ่ายต่อเนื่องจนถึงปี 2575 อีก 48,669 ล้านบาท จะทำให้ตั้งแต่ปี 2568-2575 ทั้งสามกองทัพจะมีงบประมาณในการจับจ่ายซื้ออาวุธรวม 81,268 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้จะไม่หยุดแค่เพียงเท่านี้ เพราะในปีงบประมาณหน้า กองทัพจะมีโครงการเสนอเข้ามาใหม่ และเมื่อหักลบกับโครงการที่จ่ายหมดไปแล้ว ก็อาจทำให้ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้

 

แต่อย่างที่กล่าวไปก็คือ ตั้งแต่สัปดาห์นี้ สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณางบประมาณในวาระที่ 2 ซึ่งจะมีการตัดลดงบประมาณแน่นอน ก็ต้องตามดูกันต่อไปว่าจะตัดลดงบประมาณลงไปเท่าไร และโครงการไหนจะรอดหรือร่วง เราคงจะได้รู้กันไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้

 

ภาพ: Saab

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X