วันนี้ (16 มกราคม) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวงเงินรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 จำนวน 3.6 ล้านล้านบาท รวมถึงมีการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณปี 2568 ซึ่งทางสำนักงบประมาณมีการนำเสนอโครงสร้างงบประมาณปี 2561 ไป คาดว่ารัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 3,454,400 ล้านบาท ซึ่งหากการคืนภาษีของกรมสรรพากรและอื่นๆ จะคงเหลือรายได้สุทธิจำนวน 2,887,000 ล้านบาท
โดยมีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ โครงสร้างงบประมาณ รายได้สุทธิ และงบประมาณขาดทุน รายได้สุทธิอยู่ที่ 2,887,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2568 จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.59% ขณะที่งบประมาณขาดดุลมีจำนวนอยู่ที่ 713,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 20,000 ล้านบาท หรือ 2.89% คิดเป็นสัดส่วนหากเปรียบเทียบตาม GDP 3.56% เปรียบเทียบจากปีงบประมาณ 2567 สัดส่วนอยู่ที่ 3.64% ถือเป็นสัดส่วนที่ลดลง
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 หลักการเหตุผลอยู่ 2 ข้อ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อสำคัญของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ซึ่งคำสั่งการของนายกรัฐมนตรีขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการนำนโยบายของรัฐบาลมากำหนดเป็นจุดเน้นที่ต้องดำเนินงานในปีงบประมาณ 2568 และใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนงาน
ขณะเดียวกันให้กำหนดแผนงานให้สะท้อนถึงการทำงานของนโยบายรัฐบาลให้ชัดเจน พร้อมกับกำหนด KPI ให้วัดผลอย่างเป็นรูปธรรม และในกรณีที่เพิ่มหรือลดงบประมาณในรายการใด ต้องมีเหตุผลและความจำเป็นที่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ เพื่อให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดสามารถจัดทำข้อเสนอโครงการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอของการกระจายอำนาจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ
ทั้ง 2 เหตุผลนี้มีการนำเสนอการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 โดยในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 จะเป็นห้วงเวลาในการส่งคำของบประมาณ โดยหลังจากนั้นระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 19 มีนาคม 2567 จะมีการพิจารณารายละเอียด เพื่อให้วันที่ 26 มีนาคม 2567 มีการนำเข้ามาสู่ ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ
หลังจากนั้นจะผ่านกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้มีการพิมพ์ร่าง พ.ร.บ. ออกมา และนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. อีกครั้งในวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เพื่อขอความเห็นชอบ จากนั้นจะมีการนำเข้าสู่สภาเพื่อให้ สส. พิจารณาในวาระแรกช่วงวันที่ 5-6 มิถุนายน 2567 ผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อให้พิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม
จากนั้นจะเข้าสู่เวลาให้ สว. พิจารณาในช่วงต้นเดือนกันยายน เพื่อให้การนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ ทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ให้ทันภายในช่วงวันที่ 17 กันยายน 2567
ครม. ต่อขยายสินค้าควบคุม 5 ชนิด
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการกำหนดสินค้าควบคุมและสวัสดิการ พ.ศ. 2542 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอให้ ครม. เห็นชอบการกำหนดสินค้าควบคุมปี 2567 จำนวน 5 รายการ ได้แก่ หน้ากากอนามัยใยสังเคราะห์เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย, ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ, เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก และไก่และเนื้อไก่
สินค้าทั้ง 5 นี้เป็นสินค้าที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยการราคาสินค้าและบริการ ซึ่งจะสิ้นสุดผลบังคับใช้ในวันที่ 23 มกราคมนี้ โดยมีการเสนอขยายระยะเวลาการบังคับใช้จนถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2567 โดยให้สิ้นสุดลงพร้อมกับประกาศควบคุมสินค้าอื่นอีก 51 รายการ เพื่อให้มีการประกาศขยายระยะเวลาออกไปพร้อมกับสินค้าชนิดอื่น
อย่างไรก็ตาม มติ ครม. ขอให้ก่อนการสิ้นสุดผลการบังคับใช้ 2 สัปดาห์ กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในนำเสนอมาว่าจะควบคุมต่อไปหรือไม่ หากควบคุมต่อไปจะมีการประกาศพร้อมกัน 50 กว่ารายการ และต่อขยายเป็นครั้งปี
ครม. ไฟเขียว ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 3 เดือน
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติอนุมัติผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 1/2567 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ดังนี้
- ปรับลดพื้นที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และอำเภอรามัน จังหวัดยะลา ออกจากพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อนำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาบังคับใช้แทน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะสถิติการก่อเหตุและการสูญเสียมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
- ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 (ซึ่งเดิมครบกำหนดวันที่ 19 มกราคม 2567) เนื่องจากปัจจุบันยังคงมีการก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ได้มีมติอนุมัติประกาศให้อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และอำเภอรามัน จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567