×

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แนะวิธีจัดการสุขภาพจิตท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เน้นผู้ปกครองและผู้ดูแล ‘คิด แสดงอารมณ์ และมีพฤติกรรม’ เหมาะสม

โดย THE STANDARD TEAM
10.04.2020
  • LOADING...

พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชครินทร์ และผู้ช่วยผู้จัดการแผนงานพัฒนานวัตกรรมเชิงระบบเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส. เป็นห่วงสุขภาพจิตคนไทยในมหาวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก และเยาวชนที่ต้องตกอยู่ในภาวะ Social Distancing หวั่นเพิ่มปัญหาความเครียดภายในครอบครัว พร้อมเสนอแนะวิธีการจัดการอารมณ์อย่างถูกต้องเพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้นก่อนจะสายเกินแก้

 

จิตใจของผู้ปกครองหรือผู้ดูแลสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

“ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลควรดูแลตัวเองก่อนดูแลบุตรหลาน เพราะว่าสุขภาพจิตของเด็กสำคัญและสัมพันธ์อย่างยิ่งกับสุขภาพจิตของผู้ดูแล คือถ้าผู้ดูแลโกรธ กลัว เศร้า เด็กจะมีแนวโน้มมีความรู้สึกแบบเดียวกัน”

 

พญ.ดุษฎี ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเป็นส่วนแรก โดยเธอแบ่งวิธีการจัดการออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

 

ความคิด คือมุมมองในการรับรู้ต่อเหตุการณ์อย่างไร ในที่นี้คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกอย่างต้องเริ่มมาจากความคิดก่อน จึงขอให้เข้าใจว่าเหตุการณ์ระบาดของโรคที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางนั้นยังมีวิธีป้องกันอยู่และสามารถรักษาหายได้ มุมมองเช่นนี้จะทำให้เกิดความรู้สึก ‘ปลอดภัย’ 

 

อารมณ์ เมื่อเกิดมุมมองจะทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆ ตามมา ยกตัวอย่าง ถ้ามีมุมมองว่าโควิด-19 จะทำให้เราเสียชีวิตก็จะเกิดอารมณ์กลัวมาก ดังนั้นควรมีความรู้สึกกลัวอย่างสมเหตุสมผลด้วยการมองถึงข้อเท็จจริงว่าการระบาดย่อมมีจุดสิ้นสุด และในวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการได้อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด ได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน ก่อเกิดความเข้าใจมากขึ้นกับครอบครัว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้รู้สึก ‘สงบและมีความหวัง’ 

 

พฤติกรรม เป็นผลต่อเนื่องจากความคิดและอารมณ์ เช่น หากเกิดอารมณ์ความรู้สึกกลัวเกินไป ก็จะเกิดพฤติกรรมหวาดระแวง ไม่ยอมออกจากบ้าน หรือซื้ออุปกรณ์ป้องกันตัวทุกประเภทที่มีขาย รังเกียจหรือกีดกันผู้ติดเชื้อหรืออยู่ระหว่างกักกันโรคจนเกินพอดี กลับกันในกรณีที่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลมีมุมมองความรู้สึกถึงความปลอดภัย มีความกลัวอย่างสมเหตุสมผล ทำให้เกิดความสงบและมีความหวัง ก็จะนำไปสู่ ‘พฤติกรรมที่เหมาะสม’

 

หากสามารถจัดการสุขภาพจิตทั้ง 3 ส่วนนี้ได้ก็จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากพฤติกรรมและปฏิบัติตามได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม นอกจากการจัดการสุขภาพจิตแล้ว หากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลมีความวิตกกังวลมากเกินไป โดยสามารถสังเกตได้จากความรู้สึกไม่มีความสุข กระทบกับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งการรับประทานอาหาร การนอนหลับที่ไม่เหมือนเดิม ต้องรีบหาวิธีการจัดการอย่างเร่งด่วน

 

 

จิตใจของเด็กและวัยรุ่นก็ไม่ต่างกัน หากแค่ต้องเปลี่ยนวิธี

“ในเหตุการณ์นี้ อารมณ์สำคัญคืออารมณ์กลัว เพราะฉะนั้นต้องให้เด็กเข้าใจว่าจริงๆ พวกเขากลัวได้ ต้องไม่ห้าม เขาควรกลัว แต่ต้องกลัวอย่างสมเหตุสมผล เพราะความกลัวเป็นสัญชาตญาณที่ทำให้มนุษย์อยู่รอดปลอดภัยมาจนทุกวันนี้ และเมื่อกลัวแล้วจะจัดการอย่างไร เช่น ถ้าดูข่าวมากๆ แล้วเกิดความกลัว อาจชวนกันให้ลดการดูข่าว หันไปทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วยการใช้ดนตรี ศิลปะ หรือมองหาเกมที่สามารถเล่นร่วมกับเด็กได้ เป็นการใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ในครอบครัว เพื่อลดความกลัว กังวล หรือเบื่อหน่ายขณะที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน สามารถเข้าไปดูกิจกรรมที่น่าสนใจได้ในในเฟซบุ๊ก ‘สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์’

 

สำหรับส่วนที่สอง การดูแลสภาพจิตใจของเด็กและวัยรุ่น พญ.ดุษฎี ยังคงคำแนะนำในแบบเดียวกับผู้ปกครองและผู้ดูแล เพียงแต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับวัยของพวกเขา โดยมุ่งเน้นให้เด็กมีมุมมองวิธีคิดในสถานการณ์นี้ด้วยความรู้สึกปลอดภัย อาจอธิบายถึงไวรัสว่าเป็นเชื้อโรคที่ทำอันตรายกับร่างกาย สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้วเราจะปลอดภัย เพราะหากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลสามารถชวนเด็กและวัยรุ่นมองเหตุการณ์นี้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความกลัวแบบสมเหตุสมผลเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ 

 

และสิ่งสุดท้ายที่สำคัญอย่างยิ่งคือต้องทำให้พวกเด็กๆ รู้สึกถึงความสงบ มั่นคง และมั่นใจว่าพวกเขาจะยังคงได้รับการดูแลอย่างดีอยู่เหมือนเดิม

 

 

ด้านการดูแลสภาพจิตใจวัยรุ่น หมายถึงผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี พญ.ดุษฎี พบปัญหาว่าวัยรุ่นหลายคนไม่ระมัดระวังถึงความอันตรายต่อสถานการณ์นี้จนกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่ผู้ที่อ่อนแอกว่า สิ่งที่เธออยากเห็นคือครอบครัวสามารถทำให้กลุ่มวัยรุ่นเกิดความกลัวอย่างสมเหตุสมผล จนนำไปสู่พฤติกรรมรับผิดชอบสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่

 

ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่สนใจวิธีดูแลสภาพจิตเพิ่มเติม สามารถขอรับคำปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือติดตามสื่อทางเฟซบุ๊ก ‘กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข’ ซึ่งนำเสนอข้อมูลการสำรวจและดูแลสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแพลตฟอร์มรูปแบบอินเตอร์แอ็กทีฟที่จะนำเสนอกิจกรรมประจำวันเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตขณะอยู่ที่บ้านผ่านทางโซเชียลมีเดียและทีวีสาธารณะ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คาดว่าจะสามารถเปิดตัวให้บริการได้ในช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์ต่อไป

 

สังเกตพฤติกรรมที่ต้องรีบพบจิตแพทย์ 

  • ในกรณีที่เด็กต้องอยู่ลำพัง เนื่องจากครอบครัว ผู้ปกครอง และผู้ดูแลต้องถูกแยกไปกักกันโรค หรือเกิดการเสียชีวิตของบุคคลใกล้ตัว
  • มีอาการกลัวจนรับประทานไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือมีอาการปวดแบบไม่ทราบสาเหตุ
  • ไม่สามารถเรียนได้ตามปกติ
  • เล่นน้อย หรือเล่นก้าวร้าวรุนแรงเกินไปจากเดิม 
  • ในกรณีเด็กประถมวัยที่มีการเกาะติดผู้ปกครองหรือผู้ดูแลมากกว่าปกติเพิ่มขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising