เปิดตัวเป็นเรื่องที่ 3 แล้วสำหรับละครตระกูล ‘เรือน’ ผลผลิตจากช่อง ONE 31 ที่ปล่อยออกมาเมื่อไรก็เหมือนจะโดนใจคอละครให้เฝ้าหน้าจอได้อย่างติดหนึบ เพราะความเผ็ด แซ่บ ชิงรักหักสวาทของบรรดาตัวละครสาวน้อยสาวใหญ่ ไล่ไปจนถึงรุ่นเดอะที่ปล่อยความร้ายใส่กันไม่ยั้ง ไล่มาตั้งแต่ เรือนเสน่หา, เรือนร้อยรัก และล่าสุดคือ เรือนเบญจพิษ ที่เรตติ้งร้อนแรงไม่แพ้ละคร ‘เรือน’ เรื่องก่อนๆ จนดูแล้วในอนาคต คงจะมีการเปิดเรือนต่างๆ ให้คนดูได้เข้ามาชมและเยี่ยมเยือนกันอีกแน่นอน
สำหรับละครตระกูลเรือนนั้น เป็นการคิดพล็อตเรื่องโดยทีมเขียนบทช่อง ONE ไม่ได้ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์เรื่องไหน โดยอาศัยของดีของเด็ดตำรับละครไทย อันไหนที่ว่าแซ่บก็จับมายำรวมกัน แล้วใส่กิมมิกเก๋ๆ เข้าไป จนได้รสชาติถูกใจ แถมยังเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลกันปากต่อปาก ทั้ง ตัวบึ้ง, ยาปลุกกำหนัด, กิ่งเหมยในกองไฟ หรือล่าสุด กู่พิษ ที่คอละครต่างยกให้เป็นไม้เด็ดกลายเป็นที่จดจำในชั่วข้ามคืน
ส่วนใครที่ยังไม่เคยดู เพื่ออรรถรส เราก็จะขอเล่าเรื่องย่อสั้นๆ ของซีรีส์ 3 เรือน ให้ได้รู้จักกันก่อนว่ามีเรื่องราวเยี่ยงไร ก่อนลงไปเสาะหาเคล็ดลับสู่ความสำเร็จของซีรีส์ 3 เรือนในครั้งนี้
เรือนเสน่หา
เรื่องราวของ คุณชมนาด หญิงสาวจากตระกูลสูง และ เอื้องคำ ลูกสาวพ่อค้าจากเชียงใหม่ เป็นภรรยาของคุณหลวงธำรงค์นครา ทั้งสองต่างใช้มารยาเพื่อช่วงชิงความรักและอำนาจในเรือน คุณชมนาดภายนอกดูเป็นคนจิตใจดีแต่แฝงด้วยความอำมหิต ส่วนเอื้องคำมีนิสัยเจ้าคิดเจ้าแค้น เอาแต่ใจ ไม่ยอมลงให้ใคร คุณชมนาดหาหนทางกลั่นแกล้งเมียเล็กเมียน้อย จนทุกคนต้องเผชิญกับชะตากรรม และกลายเป็นความแค้นสุมเรือนที่เผาให้ทุกคนมอดไหม้ไปตามๆ กัน
เรือนร้อยรัก
หลวงเดช ข้าราชการแผ่นดินตำแหน่งยกกระบัตร แต่งงานกับคุณวาดมานาน 5 ปี แต่ยังไม่มีทายาทไว้สืบสกุล จนต้องไปปรึกษาซินแสเพื่อขอยาบำรุง แต่ลูกศิษย์ของซินแสกลับเอายาปลุกกำหนัดใส่เพิ่มเข้าไปในยาบำรุง จนคุณวาดที่ไม่รู้ดื่มเข้าไปจนทนฤทธิ์ของมันไม่ไหว แอบไปมีความสัมพันธ์อย่างไม่ตั้งใจกับ มั่น ทาสหนุ่มในเรือน ขณะที่ เฟื้อง ทาสสาวอีกคนที่มีใจให้มั่น รู้เห็นเหตุการณ์จึงหวังจะรีดไถอัฐจากคุณวาดเพื่อให้ลูกของตนอยู่อย่างสุขสบาย แต่เกิดเหตุให้คุณวาดพลั้งมือฆ่ามั่นตาย เฟื้องจึงบอกว่าคุณวาดเป็นชู้กับมั่น แต่ไม่มีใครเชื่อ เฟื้องถูกตามฆ่าแต่กลับไม่ตายและหนีรอดไปได้โดยทิ้งลูกสาวไว้ สาวใช้ของคุณวาดสงสารจึงเก็บมาเลี้ยงเป็นลูก ตั้งชื่อว่า เดือน ส่วนเฟื้องเสียใจแทบเป็นบ้าจึงขโมยเด็กมาเป็นลูกของตนแล้วตั้งชื่อว่า กำไล วันเวลาผ่านไปนับ 10 ปี เฟื้องส่งลูกสาวบุญธรรมที่มีฝีมือในการปรุงยาจีนเข้ามาอยู่ในเรือนในฐานะภรรยาน้อยของหลวงเดชเพื่อแก้แค้นคุณวาด โดยมีเพียงความตายเท่านั้นที่จะดับไฟในใจของทุกคนได้
เรือนเบญจพิษ
พระยศ ข้าราชการหนุ่มอนาคตไกลที่แต่งงานกับ คุณปิ่น เมียพระราชทาน หลังแต่งงานคุณปิ่นกลับพบว่าพระยศนั้นมีเมียบ่าวอยู่แล้วคือ แม่แหวน แต่แหวนเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ทำให้ทั้ง 3 คนครองรักได้อย่างปกติสุข จนกระทั่งวันหนึ่ง เถ้าแก่ซ้ง ซึ่งถูกทางการไทยเตรียมกวาดล้างฐานเป็นกบฏอั้งยี่ในพระนคร จึงขอร้องให้พระยศรับลูกสาว 2 คน คือ หยก และ ทับทิม ไว้เป็นเมีย เรือนที่เคยสงบสุขกลับร้อนด้วยไฟริษยา และการแก่งแย่งชิงดีจึงเริ่มขึ้น โดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน
เมื่อนำละครเรือนทั้ง 3 มาเทียบกันก็พบว่า มีสูตรสำเร็จบางอย่างที่ทีมเขียนบทใส่ลงไปแล้วสามารถประเมินผลลัพธ์ออกมาว่า ‘ปัง’ แน่ๆ ทั้งกระแสและเรตติ้ง จะมีอะไรบ้าง ขึ้นเรือนไปดูกันเลย
1. เป็นละครพีเรียดย้อนยุค
เรือนเสน่หา, เรือนร้อยรัก และ เรือนเบญจพิษ ทุกเรื่องล้วนเป็นละครพีเรียด แต่อาจจะต่างยุค ต่าง พ.ศ. กันไปบ้าง แล้วแต่ว่าทีมเขียนบทจะจินตนาการเรื่องราวให้เป็นแบบไหน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่วางไทม์ไลน์ให้เกิดในยุคสมัยโบราณ เอื้อให้พล็อตผู้หญิงมาตบตีกันเพื่อแก่งแย่งความรักและอำนาจในเรือนนั้นดูสมเหตุสมผลและไม่ทำให้คนดูรู้สึกตะขิดตะขวงใจมากนักกับการที่เห็นเมียหลวงและเมียน้อยอาศัยอยู่ในชายคาเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ในสมัยนั้น ที่ผู้ชายที่มีทั้งยศฐาบรรดาศักดิ์ เงินทอง อำนาจ บารมี จะมีภรรยาหลายคน แต่ถ้าวางเรื่องให้เป็นละครสมัยใหม่คนดูอาจจะเบ้ปากและมองบน เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้ในยุคนี้ น้อยคนที่จะยอมอยู่ร่วมกันแล้วแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ การเลือกทำให้เป็นละครพีเรียดจึงเหมาะสมกับพล็อตชิงรักหักสวาทแบบนี้ และดูไม่ล่อแหลมจนขัดกับค่านิยมในยุคปัจจุบัน
2. แม่ก็คือแม่
ละครตระกูลเรือนทุกเรื่องล้วนขับเคลื่อนเรื่องราวด้วยตัวละครหญิงมากหน้าหลายตา ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ซึ่งมีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้าย แบ่งทีมกันไป แต่ยังไม่มีเรื่องไหนให้พื้นที่ตัวละครชายได้เป็นตัวชูโรงเลยแม้แต่เรื่องเดียว
เรือนเสน่หา นำทีมโดย คุณชมนาด (บี-น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์), เอื้องคำ (พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร), มะลิ (โสภิตนภา ชุ่มภาณี)
เรือนร้อยรัก ทีมนางเอกคือ คุณวาด นำแสดงโดย บี น้ำทิพย์ ส่วนทีมตัวร้าย เป็นการประสานงานกันระหว่างคู่แม่ลูกมือวางยาอย่าง เฟื้อง (ปิ่น-เก็จมณี วรรธนะสิน) และ กำไล (กิ๊บซี่-วนิดา เติมธนาภรณ์)
ส่วน เรือนเบญจพิษ เป็นการปะทะกันของ 4 นักแสดงยอดฝีมืออย่าง คุณปิ่น (น้ำผึ้ง-ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์), แม่แหวน (ปูเป้-รามาวดี นาคฉัตรีย์), คุณหนูทับทิม (แป้ง-อรจิรา แหลมวิไล) และตัวร้ายที่เรื่องนี้เล่นใหญ่เป็นพิเศษอย่าง คุณหยก (นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา)
ทั้ง 3 เรื่องปมความขัดแย้งเรื่องต่างๆ แม้จะเริ่มจากฝ่ายชายที่เมียเดียวไม่พอ ขอสอง สาม สี่ ห้า แต่สุดท้ายบทเด่นที่จะเชือดเฉือนก็จะอยู่ในฝั่งของผู้หญิงในเรื่อง โดยตัวละครชายมีหน้าที่โง่ หูเบา เชื่อเรื่องที่เมียตัวแสบกุขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายศัตรู ก่อนที่จะมาหูตาสว่างในตอนท้ายเรื่อง จนบางทีคนดูก็เกาหัวแกรกๆ ว่าถ้ากินปลาน้อยขนาดนี้ ทำไมแต่ละคนถึงได้เป็นใหญ่เป็นโต มียศคุณพระ คุณหลวงกันได้หนอ
และเป็นที่น่าสังเกตว่าบรรดาเมียเล็กเมียน้อยของคุณหลวง คุณพระ ในสารพัดเรือน ที่อยู่ในฝั่งคนดีมักจะได้รับการยอมรับ การเอาใจช่วยจากคนดู บางเรื่องก็ยกระดับให้พวกเธอเป็นนางเอกกันไปเลย ซึ่งดูจะย้อนแย้งกับชุดความคิดของคนในยุคนี้ที่ผู้หญิงคนไหนเป็นเมียน้อย เมียเก็บ กิ๊ก ชู้ แล้วแต่จะสถาปนาสเตตัส มักจะไม่ได้รับการยอมรับและรุมประณาม ต่อให้โดนหลอกหรือเต็มใจก็ตาม ส่วนพวกที่ขายวิญญาณให้ฝั่งดาร์กไซด์ก็จะได้รับการสรรเสริญด้วยสารพัดคำด่าผ่านทางโซเชียลกันอย่างสนุกปาก
3. อาวุธลับ อาวุธร้าย
ในอดีต ละครพีเรียดตัวโกงมักจะใส่ร้ายป้ายสีนางเอกว่าคบชู้สู่ชาย ขโมยของ หรือหาวิธีรังควานกลั่นแกล้งต่างๆ นานาเพื่อให้เศร้าเสียใจ หรือให้คุณหลวงเข้าใจผิดจนถูกเฉดหัวไปให้พ้นเรือน แต่ละคร 3 เรือนชุดนี้เติมความเผ็ดลงไปด้วยการให้นางร้ายมีอาวุธที่เอาไว้ใช้กำจัดมันผู้ใดใครก็ตามที่ริอ่านมาขวางทาง เรือนเสน่หา นั้น คุณชมนาดใช้ ‘ตัวบึ้ง’ ที่เป็นแมงมุมยักษ์ที่มีพิษร้ายเป็นเครื่องมือจัดการ ใครถูกกัดก็จะขยับเขยื้อนร่างกายไม่ได้ และพิษก็จะแล่นเข้าสู่ร่างกายตายอย่างทรมาน
เรือนร้อยรัก เฟื้องและกำไลใช้การปรุงยาพิษตามตำรับยาจีนที่มีหลายสูตร เช่น ‘กิ่งเหมยในกองไฟ’ สรรพคุณคือการปลุกกำหนัด ‘เพชฌฆาตสีทอง’ มีสรรพคุณทำให้ร่างกายขยับเขยื้อนไม่ได้ พูดไม่ได้ คล้ายเป็นอัมพาต และไฮไลต์เด็ดคือ ‘เจ็ดมัจจุราช’ ที่ดื่มเข้าไปแล้วจะต้องสังเวยชีวิตให้กับไฟริษยา
เรือนเบญจพิษ วนกลับมาใช้สัตว์พิษอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการทำ ‘กู่พิษ’ ซึ่งเป็นศาสตร์เก่าแก่ของจีน โดยจะจับสัตว์ทั้ง 5 ได้แก่ งู, แมงป่อง, ตะขาบ, คางคก, แมงมุม มาขังในไหแล้วให้มันกัดกินกันเองจนเหลือตัวสุดท้ายที่แสนดุร้าย เพราะรวมสุดยอดพิษและความเคียดแค้นชิงชังไว้ในตัว มันจะถูกใช้เป็นอาวุธร้ายประหัตประหารศัตรู ในขณะเดียวกันอีกฝั่งก็ไปร่ำเรียน ‘วิชามีดบิน’ เพื่อมุ่งหมายจะจัดการกับคนที่เคยทำให้ชีวิตตกต่ำ เรียกว่าตาต่อตา ฟันต่อฟัน กู่พิษหรือมีดบิน ใครจะชนะ คงต้องติดตามกันในตอนจบ
4. ความเป็นจีน
แม้จะเป็นละครที่เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในเรือนไทย แต่ซีรีส์ 3 เรือนก็ยังมีการเขียนบทให้ไปเกี่ยวโยงกับความเป็นจีน เพื่อเพิ่มความแฟนตาซีและความสมเหตุสมผลให้กับตัวละคร ซึ่งบางเรื่องก็ดูเข้าท่า แต่บางเรื่องก็ดูประดักประเดิด
เรือนเสน่หา นั้นเขียนบทให้เอื้องคำไปอยู่กินกับเถ้าแก่ซ้งเจ้าของโรงฝิ่น ส่วน เรือนร้อยรัก เฟื้องระหกระเหินไปอาศัยอยู่กับหมอจีน จนกระทั่ง กำไล ลูกสาวได้สืบทอดวิชาตำรับยา (พิษ) จีนโบราณจนแก่กล้า
ด้าน เรือนเบญจพิษ เรื่องร้ายๆ ทั้งหลายเกิดจากลูกสาว 2 คนของเถ้าแก่ผู้ร่ำรวย ซึ่งชิงดีชิงเด่นตั้งแต่อยู่ในบ้านของตน จนไฟริษยาลุกลามมาถึงเรือนของคุณหลวง โดยมีกู่พิษเป็นเครื่องมือหมายเอาชีวิตของคนที่มาขัดขวาง ขณะที่อีกตัวละครก็ร่อนเร่จนได้เข้าไปอยู่ในคณะงิ้วแล้วฝึกวิชามีดบินจนเชี่ยวชาญ แถมในเรื่องเมียหลวงที่ถูกใส่ร้ายก็ยังไปบวชเป็นแม่ชีจีนที่ผมขาวโพลนแต่หน้าตึงเป๊ะ! ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนั้นตัวละครแต่ละคนต่างก็ต้องการสะสางความแค้นในอดีต เหมือนกับจะยั่วล้อสุภาษิตจีนที่ว่า ‘สิบปีชำระแค้นก็ยังไม่สาย’ เพิ่มความดราม่ากันไปให้เข้มข้น
5. แค้นรุ่นแม่แผ่ไปถึงรุ่นลูก
อีกอย่างที่ละคร 3 เรื่องนี้มีเหมือนกันก็คือ พล็อตสลับลูก พรากลูกพรากแม่ ลูกคนร้ายไปอยู่กับคนดี ลูกคนดีไปอยู่กับคนร้าย และที่สำคัญคือบังเอิญเหลือเกินที่พวกเมียๆ ที่ปกติจะตบตีแย่งซีนกันเสมอ แต่พอมีลูกเมื่อไรพวกนางจะสมัครสมานสามัคคีท้องพร้อมกัน คลอดพร้อมกัน จนหมอตำแยหัวหมุน บ่าวไพร่ก่อไฟต้มน้ำกันแทบไม่ทัน จากนั้นโชคชะตาก็จะพัดพารุ่นลูกให้มาเกี่ยวโยงกัน และช่วยแก้ปมสะสางความแค้นในรุ่นแม่ให้จบสิ้นในตอนจบ โชคดีหน่อยก็รอด แต้มบุญน้อยก็ต้องตายตามกันไป
และนี่ก็คือ 5 ส่วนผสมที่เป็นสูตรสำเร็จของซีรีส์เรือนจากช่อง ONE ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า ถ้าโอกาสหน้าทีมงานได้เปิดเรือนใหม่ ก็อยากให้ใส่อะไรที่ดูสด แปลก ไม่คล้ายของเดิม เพราะเชื่อว่าหลายคนก็อยากเห็นเนื้อหาที่มีผู้ชายเป็นตัวเดินเรื่องบ้าง หรือพล็อตเรื่องที่ก้าวข้ามการชิงรักหักสวาท ตบตี เข่นฆ่า แต่ถ้ายังวนเวียนอยู่แค่นี้ เปลี่ยนแค่อาวุธที่เอามาทำลายกัน เกรงว่าจะกลายเป็นความซ้ำซาก จนอาจจะแยกแยะลำบากว่าเรือนไหนเป็นเรือนไหนกันแน่