×

ThaiBMA ไร้กังวลปม ‘ผิดชำระดอกเบี้ย’ หุ้นกู้ มองเป็นปัญหาเฉพาะตัวของบริษัท ยันภาพรวมอสังหากำไร-ยอดขายฟื้นชัด

12.01.2023
  • LOADING...

ThaiBMA ระบุปัญหาการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ได้น่ากังวล มองเป็นประเด็นปัญหาเฉพาะของบริษัท ส่วนภาพรวมธุรกิจอสังหาไม่น่าห่วง หลังผลงานครึ่งแรกปี 2565 ฟื้นตัวชัดเจน

 

สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า กรณีที่ในช่วงต้นปีนี้ถึงปัจจุบันมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์เอกชนที่มีปัญหาการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ คือ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ALL นั้น มองว่าเป็นประเด็นปัญหาเฉพาะของบริษัท

 

ขณะที่ภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้มีความน่ากังวล เพราะจากข้อมูลผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีผลประกอบโดยรวมที่ฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน โดยมีกำไรและยอดขายเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 

 

สำรับตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2565 มีการเติบโตที่โดดเด่น โดยเห็นได้จากพัฒนาการ 5 ด้านที่สำคัญ คือ

 

  1. การออกหุ้นกู้เอกชนระยะยาวทำสถิติสูงสุดใหม่ (All Time High) ที่ 1.27 ล้านล้านบาท นับเป็นปีที่ 3 ที่ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวทะลุ 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายอย่างต่อเนื่องในปี 2565 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ดีขึ้น

 

ประกอบกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ภาคเอกชนมีความต้องการออกหุ้นกู้อย่างมาก เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินและเตรียมการรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยการออกหุ้นกู้ระยะยาวในปี 2565 ได้ทำสถิติสูงสุดใหม่ (All Time High) ที่ 1.27 ล้านล้านบาท มีผู้ออกหุ้นกู้ระยะยาวรายใหม่ (Newcomer) เพิ่มขึ้น 30 บริษัท จาก 15 หมวดธุรกิจ ด้านการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ มีการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยสะสมทั้งปีที่ 46,611 ล้านบาท

 

  1. การเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน หรือ ESG Bonds (Environmental, Social and Governance) เพิ่มขึ้น 21% ในปี 2565 มีมูลค่าการออกรวม 210,994 ล้านบาท ทำให้มูลค่าคงค้างของ ESG Bonds ณ สิ้นปี 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 501,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 66% จากสิ้นปี 2564  

 

  1. การเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล (Digital Bond) บนแอปพลิเคชันเป๋าตังในปี 2565 รวม 11 รุ่นจากผู้ออก 8 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 29,074 ล้านบาท 

 

  1. มีบริษัทหลักทรัพย์ที่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจตราสารหนี้ (New Players) จำนวน 5 บริษัท 

 

  1. โมบายล์แอปพลิเคชัน MeBond ที่พัฒนาโดย ThaiBMA ได้รับความนิยมจากนักลงทุนตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มียอดดาวน์โหลดทะลุ 35,000 ครั้งในปี 2565 เพิ่มขึ้นกว่า 23,000 ดาวน์โหลดจากปี 2564

 

สำหรับยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวปี 2565 ที่ 1.27 ล้านล้านบาท สูงขึ้น 21% จากปีก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นจากการออกหุ้นกู้ของทั้งกลุ่ม Investment Grade และกลุ่ม High Yield ที่รวมถึง Non-Rated จากความต้องการที่สูงของภาคเอกชนในการออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินและเตรียมการรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2565 ได้มีผู้ออกหุ้นกู้ระยะยาวรายใหม่ (Newcomer) จำนวน 30 บริษัท จาก 15 หมวดธุรกิจ 

 

ส่วนหมวดธุรกิจที่มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวสูงสุด 5 อันดับแรกคือ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

 

ขณะที่มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 15.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% จากปี 2564 โดยมาจากตราสารหนี้ภาครัฐและหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ขยายตัวในอัตรา 14% และ 9% ทำให้มีมูลค่าคงค้างที่ 7.77 ล้านล้านบาท และ 4.57 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

 

สำหรับกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ในปี 2565 นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิในช่วงไตรมาส 1 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นการขายสุทธิในช่วงไตรมาส 2-3 แล้วจึงกลับเข้าซื้อสุทธิอีกครั้งในไตรมาส 4/65

 

ทั้งนี้เมื่อรวมทั้งปี 2565 นักลงทุนต่างชาติมียอดการซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีที่ 4.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 นักลงทุนต่างชาติมียอดการถือครองตราสารหนี้ไทยที่ระดับ 1.07 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.8% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยอายุคงเหลือเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างชาติถือครองเท่ากับ 7.96 ปี

 

ด้านเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government Bond Yield Curve) ในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นทุกรุ่นอายุตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของ Fed เพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ทั้งปีมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง รวม 0.75% มาอยู่ที่ 1.25% ส่งผลให้ Bond Yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 0.97% จากสิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 1.63% ณ สิ้นปี 2565 ส่วน Bond Yield 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 0.74% มาอยู่ที่ 2.64% ณ สิ้นปี 2565

 

ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Yield Curve) อายุ 5 ปีของหุ้นกู้ทุกอันดับเครดิตปรับตัวสูงขึ้นในปี 2565 ในทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้อายุ 5 ปีของผู้ออกทุกอันดับเครดิตสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 0.59% โดย ณ สิ้นปี 2565 อันดับเครดิต AAA ขยับขึ้นมาที่ 2.72%, AA ที่ 3.07%, A ที่ 3.25%, BBB+ ที่ 4.31% และ BBB ที่ 5.03%

 

นอกจากนี้ คาดว่าปี 2566 น่าจะได้เห็นยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท จากความต้องการของภาคเอกชนในการออกหุ้นกู้ที่ยังมีอย่างต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมา ในขณะที่การสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของผู้ร่วมตลาดคาดว่า กนง. จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2-3 ครั้งในปี 2566 สู่ระดับ 1.75-2.00% ส่วน Bond Yield รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ตลาดมีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในกรอบ 0.20-0.30% จากสิ้นปี 2565

 

ด้าน อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า กรณี บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ALL การผิดนัดชำระดอกเบี้ยมองว่ามีโอกาสน้อยที่จะมีผลกระทบลุกลามให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ รวมถึงหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แห่งใหม่เพิ่มเติม เพราะประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นเฉพาะตัว

 

ทั้งนี้ ปัญหาการผิดชำระหนี้หุ้นกู้ โดยภาพรวมในตลาดตราสารหนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งมักไม่ได้มีสัญญาณแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

 

โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 ข้อมูลหุ้นกู้ที่มีปัญหามูลค่าเท่ากับ 9.94 หมื่นล้านบาท หากไม่นับหุ้นกู้ของ บมจ.การบินไทย (THAI) มูลค่า 7.16 หมื่นล้านบาท ที่เข้าแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้ว จะพบว่าสัดส่วนหุ้นกู้ที่มีปัญหาจะมีสัดส่วนเพียง 0.6% ของมูลค่าคงค้างหุ้นกู้เอกชน โดยพบว่าในช่วงก่อนโควิดแพร่ระบาดมีจำนวน 4 บริษัทที่ผิดชำระหนี้ มูลค่า 1.02 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะตัวของแต่ละบริษัท ส่วนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ถูกผลกระทบจากโควิดจนต้องปรับโครงสร้างธุรกิจ (Restructure) มีจำนวน 16 บริษัท มีมูลค่าหนี้หุ้นกู้รวม 1.43 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เริ่มมีแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจนเริ่มกลับมาทยอยใช้คืนหนี้ได้แล้ว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising