หากมองเข้าไปในผลประกอบการประจำปี 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จะพบว่าธุรกิจสุราคือหัวใจสำคัญของบริษัทเลยก็ว่าได้
ในขณะที่ภาพรวมรายได้ 340,289 ล้านบาท ธุรกิจสุราที่ประกอบไปด้วยแบรนด์อย่าง รวงข้าว, หงส์ทอง, เบลนด์ 285, แสงโสม และแม่โขง แม้จะมีสัดส่วนรายได้ 34.5% เป็นเบอร์ 2 น้อยกว่าธุรกิจเบียร์ที่ทำสัดส่วนรายได้มากที่สุดกว่า 37.1%
ทว่าเมื่อมองเข้าไปยัง EBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) พบว่าสุรากลับมีสัดส่วนกว่า 47.6% ยิ่งกับกำไร 35,270 ล้านบาท สุราทำสัดส่วนมากขึ้น 60.6% ด้วยกัน ในขณะที่เบียร์ทำตัวเลขเพียง 14.8% น้อยกว่า ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีสัดส่วน 16.8%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไทยเบฟเปิดตัว ‘PRAKAAN’ (ปราการ) ซิงเกิลมอลต์วิสกี้พรีเมียม ผลิตที่ จ.กำแพงเพชร บุกตลาด 11,430 ล้านบาท เล็งส่งออกต่างประเทศด้วย
- เบียร์ช้างย้ำ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาด พร้อมส่ง ‘ช้าง อันพาสเจอไรซ์’ ขวดฝาเกลียวบุกทั่วประเทศ ตั้งเป้าโกยยอดขาย 25 ล้านขวดในปีหน้า
- เจาะลึกทำไมเหล้าไม่โตเหมือนเบียร์? เบื้องหลังมาจากผู้คนประหยัดและปาร์ตี้น้อยลง ส่วนวัยรุ่นเทสต์ดีหันมาดื่มไวน์แทน
แน่นอนเมื่อสุราคือธุรกิจที่ทำกำไรให้มหาศาล จึงไม่แปลกที่ไทยเบฟเลือกที่จะขยายธุรกิจนี้ต่อไป แต่ท่ามกลางตัวเลขการครองส่วนแบ่งตลาดสุราในไทยกว่า 95% แต่การเติบโตในตลาดสุรากลุ่มแมสเริ่มชะลอตัวจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ
ส่วนตลาดวิสกี้นำเข้าในประเทศไทยมีมูลค่าราว 11,430 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 25-45 ปี ที่มีกำลังซื้อและชอบประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น วัยรุ่นในย่านทองหล่อ
อีกทั้งตลาดวิสกี้ไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย จึงกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ไทยเบฟเลือกจะเข้าตลาดนี่ผ่านการปั้นแบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า ‘PRAKAAN’ (ปราการ) ขึ้นมา
ไทยเบฟระบุว่า จุดเด่นของแบรนด์ใหม่นี้คือการใช้หอกลั่นทองแดง (Copper Pot Still) จากประเทศสกอตแลนด์ ผลิตและเก็บบ่มในจังหวัดกำแพงเพชร ด้วยเทคนิคการควบคุมอุณหภูมิและระดับความชื้นที่เหมาะสม
เบื้องต้นมี 3 SKU ในราคา 2,250-2,850 บาท โดยมีช่องทางจำหน่ายในประเทศ เช่น ฟู้ดแลนด์, วิลล่า มาร์เก็ท, ท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์, สยามพารากอน, เอ็มควอเทียร์, เอ็มโพเรียม รวมถึงร้านพรีเมียมค็อกเทลบาร์และโรงแรมชั้นนำ ควบคู่ไปกับอีคอมเมิร์ซ และยังมีเป้าหมายการส่งออกโดยเน้น 5 ประเทศหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยจะส่งออกไปยังญี่ปุ่นในระยะแรก
ไทยเบฟตั้งเป้าหมายยอดขาย 20,000 ลัง หรือประมาณ 168,000 ลิตร คิดเป็นรายได้ 300-400 ล้านบาทภายใน 5 ปี โดยมีสัดส่วนการขายจากในไทย 50% และต่างประเทศ 50%