×

‘ไทยเบฟ’ เปิดศึกชิงเบอร์ 1 ตลาดเบียร์ ส่ง ‘ช้าง อันพาสเจอไรซ์’ ขายในเชียงใหม่-เชียงรายเป็นแห่งแรก เขย่าตลาดเบียร์พรีเมียมครั้งแรกในไทย

29.11.2022
  • LOADING...
ไทยเบฟ

‘ไทยเบฟ’ เร่งเครื่องชิงเบอร์ 1 ตลาดเบียร์ เปิดตัว ‘ช้าง อันพาสเจอไรซ์’ เขย่าตลาดเบียร์พรีเมียมครั้งแรกในไทย พร้อมชูนวัตกรรมการผลิต-การขนส่ง ประเดิมเจาะตลาดเชียงใหม่และเชียงราย สร้างความแปลกใหม่ให้ผู้บริโภค

 

หากพูดถึงผู้นำตลาดเบียร์ในไทยนั้นมีผู้เล่นอยู่เพียงไม่กี่เจ้า หนึ่งในนั้นคือเบียร์ช้าง ที่ปัจจุบันถือส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 40% ทิ้งห่างจากคู่แข่งที่เป็นเบอร์ 1 เพียงเล็กน้อย ทำให้เห็นภาพการออกมาเคลื่อนไหวอยู่บ่อยครั้ง พร้อมชูยุทธศาสตร์บุกตลาดอย่างหนัก

 

เลสเตอร์ ตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้างอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด กระทบช่องทางจำหน่ายทั้งร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานบันเทิงต่างๆ รวมถึงกิจกรรมงานอีเวนต์ลานเบียร์ไม่สามารถจัดได้ ทำให้ภาพรวมตลาดเบียร์ในประเทศไทยที่มีมูลค่าเชิงปริมาณราว 2,000 ล้านลิตรต่อปี หดตัวลงเหลือเพียง 1,800-1,900 ล้านลิตร

 

ขณะที่ภาพรวมตลาดเบียร์มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท โดยหมวดใหญ่ยังเป็นเบียร์ขวดและกระป๋อง ซึ่งเซ็กเมนต์เบียร์สดสัดส่วนยังน้อย เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่นิยมดื่มเบียร์สดเป็นทาวเวอร์ และยังพบว่าเบียร์นั้นเป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ ที่ผู้บริโภคเลือกดื่ม ตามด้วยกลุ่มสุราเป็นอันดับรองลงมา

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

แน่นอนว่าหลังโควิดคลี่คลาย ตลาดเบียร์เริ่มฟื้นตัวกลับมา เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ตลาดเติบโต 2 หลัก และประเมินว่าหลังจากนี้ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน บรรยากาศเริ่มกลับมาคึกคัก จะทำให้ตลาดกลับมาเติบโตเท่าช่วงก่อนโควิด

 

หากย้อนกลับไปในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเบียร์ทำให้เริ่มมีความน่าเบื่อ ไม่มีสินค้านวัตกรรมใหม่ออกมาสร้างความเคลื่อนไหวในตลาด ส่งผลให้ผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มหันไปบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นแทน

 

จากปัจจัยดังกล่าว บริษัทจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เบียร์ใหม่ๆ สร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาด ได้แก่ ช้างโคลด์ บรูว์ ตามด้วยช้างเอสเพรสโซ เข้าเสริมพอร์ตธุรกิจ แต่มองว่ายังไม่พอ จนล่าสุดจึงเปิดตัวสินค้าใหม่ ‘ช้าง อันพาสเจอไรซ์’ ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว 1.5 ลิตร ราคา 500 บาท สามารถเสิร์ฟได้ 5 แก้ว นับเป็นการเขย่าตลาดพรีเมียมครั้งแรกในไทย

 

ภายใต้การเชื่อมโยง 3 กลยุทธ์สำคัญ ประกอบด้วย

  1. การใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพในการผลิต
  2. การนำนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิต
  3. การขนส่งภายใต้การควบคุมอุณหภูมิหรือโคลด์เชน -4 องศาเซลเซียส เพื่อส่งตรงถึงร้านค้า พร้อมมีการออกแบบตู้จัดเก็บความเย็นให้จุดจำหน่าย เพราะสินค้ามีอายุวางบนเชลฟ์ได้เพียง 1 เดือน

 

เบื้องต้นประเดิมวางจำหน่ายในร้านอาหารและโรงแรมกว่า 200 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายก่อน เพราะมีการเติบโตในแง่ของส่วนแบ่งการตลาดและยอดขายมากที่สุด และเป็นจังหวัดที่เบียร์ช้างเป็นเจ้าตลาด โดยใช้ฐานผลิตโรงงานที่กำแพงเพชร หรือ บมจ.เบียร์ไทย (1991) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ

 

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้ตลาดเบียร์ ซึ่งเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ

 

สำหรับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งผลประกอบการปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม  2564 – กันยายน 2565) ต่อตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า ปีงบประมาณที่ผ่านมามีรายได้จากการขาย 272,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,816 ล้านบาท หรือ 13.2% จากยอด 240,543 ล้านบาทของปีที่แล้ว

 

สาเหตุของการเติบโตเป็นผลจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการท่องเที่ยวและการเปิดผับ บาร์ ร้านอาหาร หนุนให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มฟื้นตัว โดยธุรกิจเบียร์ทำรายได้สูงสุดด้วยมูลค่า 122,489 ล้านบาท มีปริมาณการขายร่วมกับซาเบโกของเวียดนามที่ 2,398.8 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 14.5%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising