เปิดกลยุทธ์ 2020 ไทยเบฟเน้นลุยตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาเซียนเต็มตัว ฐาปน สิริวัฒนภักดี ควบตำแหน่งซีอีโอธุรกิจเบียร์ด้วยตัวเอง เตรียมลงเสาเข็มเดินหน้าสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในเมียนมา เพิ่มอัตราการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องเพื่อเร่งสร้างรายรับเข้าบริษัท หลังมีภาระหนี้สินรวมกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2 แสนล้านบาท
วันพุธที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานแถลงภาพรวมผลการดำเนินงาน ทิศทางธุรกิจ แผนการดำเนินงานในอนาคตเพื่อก้าวไปสู่วิสัยทัศน์ 2020 โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าตลอดทั้งปี 2017 ที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายเครื่องดื่มนำมาเป็นลำดับที่ 5 ของเอเชีย และอันดับที่ 1 ของอาเซียน ด้วยยอดขายเครื่องดื่มรวม 8.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีมูลค่ารวมของทั้งตลาดที่ 1.52 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ในลำดับที่ 4 ของเอเชีย
ภาพรวมธุรกิจเครื่องดื่มไทยเบฟในตลาดเอเชีย
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2018 (ตุลาคม 2017 – มิถุนายน 2018) บริษัทมีรายรับรวมประมาณ 173,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2017 (142,460 ล้านบาท) ราว 22%
เมื่อจำแนกตามสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าใน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ สุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร จะพบว่าแต่ละกลุ่มธุรกิจมีส่วนแบ่งรายได้ที่ 47.4%, 40.1%, 7.2% และ 5.4% ตามลำดับ
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วก็จะพบข้อมูลที่น่าสนใจว่ากลุ่มธุรกิจเบียร์และธุรกิจอาหารมีสัดส่วนการเติบโตทางรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดที่ 9% และ 1.9% ตามลำดับ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการไล่ปิดดีลซื้อหุ้นบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชั้นนำในประเทศเพื่อนบ้าน ไล่ตั้งแต่การซื้อหุ้น 53.59% ของซาเบโก (Sabeco) ผู้ผลิตเบียร์ไซง่อนในเวียดนาม ซื้อหุ้น 75% ของ Grand Royal Group ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสุราจากเมียนมา และซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเคเอฟซีจำนวน 252 สาขา
ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจเบียร์ เปิดเผยว่าต่อจากนี้ไทยเบฟจะเน้นรุกตลาดอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย) ตามวิสัยทัศน์ 2020 ซึ่งประกอบไปด้วยกลยุทธ์ 5 อย่าง กับเป้าหมายในการครองความเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรในอาเซียนอย่างยั่งยืน ได้แก่
- Growth เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ
- Diversity ความหลากหลายของสินค้า
- Brand ตราสินค้าที่โดนใจ
- Reach การกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง
- Professionalism ความเป็นมืออาชีพด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร
“เมื่อปีที่แล้วเราได้ก้าวเข้ามาลงทุนในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เมียนมา (สุรา: Grand Royal Group) และเวียดนาม (เบียร์: ซาเบโก) เข้ามาอยู่ในกลุ่มบริษัทของเรา เรามองถึงขนาดตลาดที่ใหญ่และกลุ่มผู้บริโภคที่พร้อมจะเข้ามาใช้จ่ายบริโภคสินค้าของเรา โดยทั้งเวียดนามและเมียนมาถือเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตทางธุรกิจสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดภูมิภาคหนึ่งของโลก”
พร้อมกันนี้ฐาปนยังบอกอีกด้วยว่าไทยเบฟได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยตนจะมารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจเบียร์ เพื่อลงมาดูแลนโยบายการบริหารงานของกลุ่มธุรกิจเบียร์ด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิด และเดินหน้าสร้างรายได้ของบริษัทให้เพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาไทยเบฟได้ลงทุนไปมากถึง 2 แสนล้านบาท แต่ย้ำว่าบริษัทยังคงมีงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อปีเช่นเคย
‘ช้างผนึกไซง่อน เปิดโรงงานผลิตเบียร์แห่งแรกในเมียนมา’ กลยุทธ์ยึดหัวหาดอาเซียน
หลังจากที่ไทยเบฟได้ปิดดีลซื้อหุ้นกว่า 53.59% ของซาเบโก ผู้ผลิตเบียร์ชื่อดังในเวียดนาม ด้วยเงินมูลค่าสูงถึง 1.56 แสนล้านบาท ทำให้ต่อจากนี้พวกเขาจะมีแบรนด์เบียร์ระดับโลกอยู่ในมือเพิ่มเป็น 2 ราย ได้แก่ เบียร์ช้าง และเบียร์ไซง่อน ซึ่งกลยุทธ์ต่อจากนี้ก็คือการบุกตลาดอาเซียนกลุ่ม CLMVT ให้มากขึ้น (รวมประเทศไทย)
โดยเฉพาะที่ ‘เมียนมา’ ซึ่งไทยเบฟตั้งใจจะบุกตลาดแห่งนี้ให้ได้ เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพทางการเติบโตที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก แม้ในปัจจุบันจำนวนการบริโภคเครื่องดื่มประเภทเบียร์ในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 7.5 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งน้อยกว่าเวียดนามที่ 44 ลิตรต่อปี และไทยที่ 26 ลิตรต่อปีก็ตาม แต่ก็ถือว่ามีโอกาสจะขยายตัวเติบโตได้ในเร็วๆ นี้
ส่วนตลาดเบียร์ในเมียนมามีปริมาณการขายที่ 4 ร้อยล้านลิตรต่อปี ตามมาด้วยไทย 2 พันล้านลิตรต่อปี และเวียดนามที่ 3 พันล้านลิตรต่อปี
นอกจากการปรับโครงสร้างองค์กรที่ฐาปนจะลงมาดูแลธุรกิจเบียร์ด้วยตัวเอง แผนการดำเนินงานต่อจากนี้ไทยเบฟได้ทุ่มเงินกว่า 56 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1,830 ล้านบาท สร้างฐานการผลิตเบียร์แห่งแรกในเมียนมาร่วมกับบริษัท เอฟแอนด์เอ็น เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องดื่มประเภทเบียร์อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถผลิตเบียร์ได้ที่ 50 ล้านลิตรต่อปี แต่สามารถขยายกำลังการผลิตได้สูงสุดถึง 120 ล้านลิตรต่อปี
แม้ปัจจุบันจะมีการเปิดเผยว่าสัดส่วนช่องทางรายได้จากการจำหน่ายสินค้าประเภทเบียร์ในไทยจะมาจากไทยถึง 60% ที่เหลืออีก 36% และ 4% มาจากอาเซียนและในประเทศอื่นๆ ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ดี ภาพรวมเชิงยอดขายเบียร์ในประเทศกลับติดลบที่ 8-9% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าทางการเกษตรที่ตกต่ำ โดยเป้าหมายของฐาปนและไทยเบฟคือต้องเฉลี่ยสัดส่วนยอดขายทั้งในไทยและต่างประเทศให้อยู่ที่ประมาณ 50% ให้ได้
ด้านการทำงานร่วมกันในองค์กร เบนเนท เนียว กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไซง่อนเบียร์-แอลกอฮอล์-เบฟเวอเรจ จ๊อยซ์สต๊อก คอร์ปอเรชั่น (ซาเบโก) และเอ็ดมอนด์ เนียว คิมซูน รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มบริหารการลงทุนตราสินค้า (เดิมดูแลธุรกิจเบียร์ในปีที่ผ่านมา) ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่าการที่ไทยเบฟมีทั้งแบรนด์ช้างและไซง่อนอยู่ในมือถือเป็นข้อได้เปรียบ เนื่องจากทั้งสองแบรนด์ถือเป็นแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับโลกทั้งคู่
ในภาคของการทำงานร่วมกันก็จะช่วยให้การจัดหาวัตถุดิบประเภทมอลต์และฮอปส์สามารถทำได้ง่ายขึ้นและมีอัตราการต่อรองที่ดีกว่าเดิม ที่สำคัญทั้งสองแบรนด์จะยังได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ ‘ไบเบิล’ กลยุทธ์การทำธุรกิจระหว่างกัน ส่วนประเด็นการแย่งผู้บริโภคระหว่างแบรนด์ ทั้งเบนเนทและเอ็ดมอนด์เชื่อว่าช้างและไซง่อนเองก็ต่างมีฐานผู้บริโภคเป็นของตัวเองด้วยกันทั้งคู่ ประกอบกับรสชาติเครื่องดื่มก็มีความแตกต่างกัน จึงไม่น่าจะเกิดการแย่งลูกค้ากันแต่อย่างใด
“แผนการจำหน่ายเบียร์ไซง่อนในประเทศไทยคงได้เห็นกันในเร็วๆ นี้ การที่ซาเบโกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของไทยเบฟจะทำให้สินค้าของช้างและไซง่อนกระจายไปเจาะตลาดในแต่ละประเทศได้ง่ายขึ้น ซึ่งในอนาคตคงจะได้เห็นการทำงานร่วมกันที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น” เอ็ดมอนด์กล่าว
สำหรับซาเบโก ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเบียร์รวมกันที่ 25 แห่ง แต่คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถขยายเพิ่มเป็น 26 แห่งได้ ผลที่ตามมาคือจะช่วยให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้นและสามารถกระจายถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
ด้านแบรนด์เครื่องดื่มเบียร์อื่นๆ ในเครืออย่าง ‘เฟเดอร์บรอย’ ที่ทำตลาดในไทยอย่างจริงจังตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2017 ที่ผ่านมา และรั้งอยู่ในลำดับที่ 15 ปัจจุบันสามารถครองอันดับ 10 ของแบรนด์เบียร์ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฝั่ง ‘แทปเปอร์’ เบียร์แอลกอฮอล์สูง 6.5% ก็สามารถครองยอดขายอันดับ 1 ของเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์สูงในตลาดร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศได้แล้ว หลังเพิ่งทำตลาดมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาเท่านั้น
พาสุราไทยลุยตลาดเวียดนามและเกาหลีใต้ เครื่องดื่ม Non-alcoholic ลุ้นเหนื่อย
สินค้าชูโรงในกลุ่มสุรา (Spirits) ที่ไทยเบฟหมายมั่นปั้นมือจะบุกตลาดเวียดนามและเกาหลีใต้ให้ได้คือ ‘รวงข้าว’ ซึ่งปีที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายได้สูงกว่า 1 ล้านลิตร โดยปัจจุบันบริษัทได้ส่งออกสินค้ารวงข้าว ซิลเวอร์ ที่ถูกพัฒนาให้พรีเมียมและมีภาพลักษณ์ที่สดใหม่มากขึ้นออกไปยังเวียดนามและเกาหลีใต้เป็นที่เรียบร้อย โดยเป็นสุรายี่ห้อแรกของไทยที่สามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้
สำหรับรวงข้าว ซิลเวอร์ ซึ่งมีหน้าตาและรสชาติละม้ายคล้าย ‘โซจู’ เครื่องดื่มของเกาหลีใต้นั้นได้มีการทำการตลาดที่แดนโสมมาแล้วสักระยะผ่าน TVC โฆษณาที่ใช้อินฟลูเอนเซอร์ด้านอาหารการกินชื่อดัง ‘ยางซูบิน’ มาร่วมโปรโมต และในเร็วๆ นี้เตรียมจะปรับขนาดการจำหน่ายจากเดิมที่ 700 มิลลิลิตร เพิ่มเป็น 300-350 มิลลิลิตรอีกด้วย คาดว่าปีนี้น่าจะทำยอดจำหน่ายได้รวมไม่ต่ำกว่า 9 ล้านลิตร
ประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจสุรา และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มบริหารช่องทางการจำหน่าย ระบุว่า “ปีที่ผ่านมาธุรกิจสุราในประเทศไทยถือว่าทําได้ดี สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดสุราพร้อมดื่มสําหรับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ เช่น สตาร์ คูลเลอร์ และคูลอฟ แมกซ์ เซเว่น”
ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ไทยเบฟยังได้เข้าลงทุนซื้อหุ้น 75% ของ Grand Royal Group ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสุราจากเมียนมา และยังได้ร่วมทุน 51% ในกลุ่ม Asiaeuro International Beverage ผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทต่างๆ รวมถึงสุราพรีเมียมจากสกอตแลนด์และฝรั่งเศส ซึ่งน่าจะเป็นแต้มต่อที่ทำให้ธุรกิจสุราของไทยเบฟแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ด้านเครื่องดื่มประเภทไม่มีแอลกอฮอล์ยังต้องเจอคลื่นความท้าทายครั้งใหญ่ หลังสัดส่วนรายได้ช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณการเงิน 2018 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณการเงิน 2017 ที่ 1.6% สาเหตุส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากเทรนด์การใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคในปัจจุบัน ทำให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงอย่างน้ำอัดลมพลอยได้รับผลกระทบในเชิงยอดขายไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ ลี เม็ง ตัท ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกรรมการผู้อำนวยการธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ จึงเปิดเผยว่ากลยุทธ์ของไทยเบฟฝั่งเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จะเน้นผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมาเจาะตลาดดังกล่าวมากขึ้นเพื่อให้สอดรับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน
เลสเตอร์ เต็ก ชวน ตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮออล์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราต้องปรับตัวมาก ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เนื่องจากยอดขายสินค้าบางส่วนลดลง การแข่งขันต้องแข่งกับแบรนด์เครื่องดื่มระดับโลก 1 ปีที่ผ่านมาเราได้ขยายไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนตลาดในประเทศไทย เราได้ออกสินค้าใหม่ๆ ถึง 12 ตัว ซึ่งผลลัพธ์เป็นไปได้ด้วยดี”
มีการเปิดเผยอีกด้วยว่าหลังจากที่เครื่องดื่มตระกูลชาในแบรนด์ ‘โออิชิ’ เข้าไปทำตลาดในกัมพูชาตั้งแต่ปี 2016 ปัจจุบันสินค้าของพวกเขากลายเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในกว่า 20 จังหวัด จากทั้งหมด 24 จังหวัดในกัมพูชาได้เป็นที่เรียบร้อย ทั้งยังสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดทั้งหมดได้กว่า 60% โดยจะนำโมเดลธุรกิจโออิชิกัมพูชาไปใช้ทำตลาดในเมียนมาด้วย
ธุรกิจอาหารโตต่อเนื่อง โออิชิ-เคเอฟซี ทัพหน้าโรงครัวไทยเบฟ
หลังปิดดีลซื้อกิจการแฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเคเอฟซีจากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ในนามบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA) ด้วยเงินลงทุนที่สูงกว่า 11,300 ล้านบาทในช่วงปีที่ผ่านมา ปัจจุบันไทยเบฟครองสัดส่วนสาขาเคเอฟซีมากกว่า 252 แห่งทั่วประเทศ (ยกเว้นภาคใต้) ซึ่งในจำนวนสาขาเท่านี้ทำให้การันตีจำนวนลูกค้าได้มากถึง 70 ล้านรายต่อปี
ขณะที่แบรนด์ร้านอาหารในเครือ ‘โออิชิ’ ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจอาหาร บริษัทไทยเบฟมีจำนวนลูกค้าเฉลี่ยมากถึง 17-20 ล้านรายต่อปี โดยหลังจากที่ซื้อกิจการมาตั้งแต่ปี 2008 ด้วยจำนวนสาขา 91 แห่ง และแบรนด์ในเครือ 8 แบรนด์ ปัจจุบันสามารถขยายได้กว่า 561 สาขาในกว่า 27 แบรนด์แล้ว และเล็งเปิดตลาดในต่างจังหวัดและต่างประเทศเพิ่มเติม (ปัจจุบันมีชาบูชิจำนวน 2 สาขาในย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ภายใต้การร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น)
ทั้งการถือครองเคเอฟซีและการเดินหน้าขยายขีดจำกัดด้านศักยภาพทางการเติบโตของโออิชิถือเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ส่วนแบ่งรายรับธุรกิจอาหารไทยเบฟโตขึ้นที่ 1.9% ในปีนี้ โดยกลยุทธ์ต่อจากนี้ของบริษัทคือนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ รวมถึงยังเดินหน้าขยายสาขาออกไปเรื่อยๆ ด้วยประเภทอาหารที่หลากหลายตั้งแต่ฟาสต์ฟู้ดไปจนถึงไฟน์ไดนิ่ง
นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย ระบุว่าความท้าทายของกลุ่มธุรกิจอาหารในตอนนี้คือการแข่งขันในตลาดธุรกิจร้านอาหารค่อนข้างสูง มีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาลุยตลาดค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้เมื่อมีร้านอาหารเปิดมากขึ้น แต่จำนวนกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่เท่าเดิมจึงทำให้ผู้ประกอบการแต่ละเจ้าต้องปรับตัวตั้งรับให้ทัน สำคัญที่สุดคือพฤติกรรมผู้บริโภคในวันนี้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว (บริการจัดส่งอาหารแพร่หลายมากขึ้น)
กลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจอาหารไทยเบฟ ประกอบไปด้วย 4 อย่างคือ
- ขับเคลื่อนยอดขายแบบออร์แกนิกและทำกำไรให้ได้
- ขยายสาขาให้ได้ต่อเนื่อง วางงบลงทุนปีละประมาณ 400-500 ล้านบาท
- เน้นการไปเปิดสาขาใหม่ๆ ของแบรนด์ร้านอาหารต่างๆ ในบริษัทพร้อมกันให้ได้อย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 50 แห่ง เพื่อขยายอำนาจในการต่อรองและลดขนาดพื้นที่ร้านให้เล็กลง เพื่อเพิ่มสัดส่วนกำไรให้ขยายสาขาได้และคืนทุนได้เร็ว
- นำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์อำนวยความสะดวกสบายให้กับลูกค้าให้ได้
- ปรับพื้นฐานทางธุรกิจให้เข้มแข็งและใช้กลยุทธ์เหล่านี้ดำเนินไปตาม ‘วิสัยทัศน์ 2020’
“หลายประเภทธุรกิจมีขึ้นๆ ลงๆ แต่ธุรกิจอาหารยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง กลุ่มธุรกิจอาหารเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กลุ่มบริษัทไทยเบฟ แม้ในปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านการแข่งขันในตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง แต่เราก็สามารถขับเคลื่อนธุรกิจอาหารให้เดินหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง ทั้งในกลุ่มโออิชิที่สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำด้านธุรกิจอาหารญี่ปุ่นไว้ได้อย่างเหนียวแน่นและยังเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
“เป้าหมายของเราคืออยากเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทให้มากกว่าเลข 1 หลักให้ได้ (ปัจจุบันส่วนแบ่งรายได้ของธุรกิจอาหารไทยเบฟอยู่ที่ 5.4%) และจะพยายามทำงานร่วมกับแบรนด์อื่นๆ ในไทยเบฟให้ได้มากขึ้น (เช่น การจำหน่ายเครื่องดื่มอัดลมแบรนด์เอสในร้านอาหาร) โดยหลังจากปี 2020 เป็นต้นไป เราจะพยายามไม่ซื้อกิจการแบรนด์อื่นๆ แต่จะเน้นปั้นแบรนด์ที่มีอยู่ให้แข็งแรงขึ้น หรือพัฒนาแบรนด์ย่อยในเครือเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่มแบบลงลึกมากขึ้น แต่ยังคงเน้นกลุ่ม Middle-class ที่มีกำลังซื้อสูง”
จะเห็นว่าภาพรวมเป้าหมายทุกๆ ธุรกิจต่อจากนี้ ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเบียร์-สุรา เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ตลอดจนธุรกิจอาหาร คือเน้นจับตลาดอาเซียนให้ได้เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์อันดับ 1 อย่างยั่งยืน
ส่วนจะทำได้หรือไม่ แล้วผลลัพธ์ที่ตามมาจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ คงต้องตามดูกันยาวๆ
นอกจากนี้ ‘บิ๊กดีล’ ก็ยังเป็นสิ่งที่เรายังคงคาดหวังจากไทยเบฟได้เสมอ แม้ฐาปนจะออกตัวว่าต่อจากนี้บริษัทจะเน้นสร้างรายรับให้บริษัทเป็นลำดับแรกก่อนก็ตาม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์