×

บทสรุปวอลเลย์บอลหญิงไทย ปี 2024 ทวนฉากดราม่า การเปลี่ยนแปลง และความท้าทายที่รออยู่

18.12.2024
  • LOADING...
วอลเลย์บอลหญิงไทย

ปี 2024 เป็นอีกหนึ่งปีที่แฟนๆ ลูกยางชาวไทยได้ติดตามเชียร์ทีมชาติไทยที่ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก หรือ Volleyball Nations League (VNL) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และรอบนี้พิเศษสุดๆ คือ ได้เป็นเจ้าภาพในสนาม Finals ด้วย

 

ทว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภายในทีม โดยเฉพาะในส่วนของตำแหน่ง ‘โค้ช’ หรือหัวหน้าผู้ฝึกสอน จาก ‘โค้ชด่วน’ สู่มือ ‘โค้ชยะ’ ทิศทางผลงานค่อนข้างสวนทางกับความคาดหวังอยู่พอสมควร จากดีกรีแชมป์เอเชีย 2023 หรือทีมที่ลุ้นไปโอลิมปิก อยู่ๆ กลับทลายลงตั้งแต่สัปดาห์แรกของการแข่งเนชันส์ลีก 2024

 

THE STANDARD SPORT ขอใช้โอกาสในช่วงปลายปี 2024 สรุปผลงานทัพวอลเลย์บอลไทยว่ามีเหตุการณ์หรือดราม่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไปจนถึงความท้าทายที่ยืนต้อนรับการกลับมาของ ‘โค้ชอ๊อต’ และทีมตบสาวไทยในการแข่งขันปี 2025

 

วอลเลย์บอลหญิงไทย

 

ดราม่าสมาคมฯ และผลงานที่ไม่เป็นไปตามคาดหวัง

 

ก่อนการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024 (VNL 2024) ไม่กี่เดือน ทีมชาติไทยมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งเฮดโค้ชจาก โค้ชด่วน-ดนัย ศรีวัชรเมธากุล ที่ขอลาออกไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศ มาเป็น โค้ชยะ-ณัฐพนธ์ ศรีสมุทรนาค ซึ่งเป็นทีมงานผู้ฝึกสอนเดิม ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย

 

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น แม้โค้ชยะจะถูกแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ แต่แฟนวอลเลย์บอลเมืองไทยต่างจินตนาการถึง ‘ว่าที่’ โค้ชคนใหม่ที่จะมาทำทีมในระยะยาว และมีการมองถึงโค้ชชาวต่างชาติบ้าง ที่น่าเปิดโอกาสให้เข้ามาพัฒนาศักยภาพทีมไปให้ไกลกว่าเดิม

 

แต่สุดท้ายทีมยังเดินต่อไปกับโค้ชยะและทีมงานชุดเดิมในการลุย VNL 2024 ที่รอบนี้พิเศษตรงที่ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพในสนามสุดท้าย (Finals) ซึ่งหมายความว่าทีมไทยจะได้เล่นในรอบสุดท้ายแน่ๆ ไม่ว่าจะจบอันดับใดในรอบเก็บคะแนน

 

เมื่อ VNL 2024 เปิดฉากสัปดาห์แรก ทีมชาติไทยที่แอบมองถึงโอกาสไปโอลิมปิก รวมถึงการเป็นแชมป์เอเชียเมื่อปีก่อน กลับไม่สามารถทำผลงานได้อย่างที่แฟนๆ คาดหวัง ด้วยการแพ้รวด 4 เกม (หนึ่งในนั้นคือการแพ้เกาหลีใต้ ที่ในช่วงหลังเรามักจะทำได้ดีกว่ามาตลอด)

 

นอกจากนั้นรูปแบบการเล่นของทีมยังถูกมองว่าสะเปะสะปะ มีช็อตผิดพลาดมากเกินจำเป็น ไอเดียการเล่นที่ขาดมิติ และที่สำคัญคือการแก้เกมจากโค้ชที่ไร้อิมแพ็กต์ ในภาพรวมไม่สามารถช่วยหรือดึงศักยภาพของทีมได้มากนัก จนเกิดเป็นซีนดราม่าที่ บุ๋มบิ๋ม-ชัชชุอร โมกศรี พูดในเกมที่พ่ายเกาหลีใต้ว่า “ลงมาน่ะ ช่วยทบทวนตำแหน่งก่อนได้ไหม เพราะแบบนี้มันรวนแล้วเกมมันช้า” 

 

ในช่วงเวลานั้นโลกโซเชียลในแท็กที่เกี่ยวกับวอลเลย์บอลหญิงไทยแทบจะลุกเป็นไฟ ไมค์สัมภาษณ์จากสื่อต่างพุ่งไปหา สมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เพื่อถามหาทางออกของปัญหากันยกใหญ่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การตัดโอกาสทีมลูกยางไทยไปโอลิมปิก แต่มันส่งผลโดยตรงถึงฟอร์มในสนามที่ไม่สู้ดีนัก และกระทบถึงศรัทธาของแฟนกีฬาไทย

 

อย่างไรก็ตาม นายกฯ สมพร ยังยืนยันที่จะให้โค้ชยะได้ทำงานต่อท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากแฟนๆ เกี่ยวกับระบบการคัดเลือกภายใน ที่สุดท้ายเลือกระดมทีมงานในสมาคมฯ รวมถึง โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ที่นั่งประธานเทคนิคของสมาคมฯ เวลานั้น มาร่วมช่วยกู้วิกฤตให้กับทีม

 

นับจากนั้นทีมไทยยังคงลงเล่นใน VNL 2024 ต่อไป พร้อมเก็บชัยชนะได้ 3 เกมในรอบเก็บคะแนน ก่อนจบอันดับ 8 ของรายการในท้ายที่สุด พร้อมไปป้องกันแชมป์ SEA VLeague 2024 ทั้งสองสนามในเวลาต่อมา

 

 

การมาของโค้ชอ๊อต หวนคุมทีมลุยปี 2025

 

ภายหลังโค้ชยะพาทีมลงแข่ง VNL 2024 และ SEA VLeague 2024 ลุล่วงตามเป้าหมายของสมาคมฯ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งของเฮดโค้ชฝั่งทีมหญิงอีกครั้ง

 

นั่นคือการคัมแบ็กมาคุมทีมชาติไทยอีกครั้งของ โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ผู้เคยพาทีมชาติไทยประสบความสำเร็จในยุคของผู้เล่น ‘7 เซียน’ กับความคาดหวังครั้งใหม่ที่แฟนๆ ต้องการให้วอลเลย์บอลทีมหญิงไทยยกระดับไปอีกขั้นบนเวทีระดับโลก

 

โดยเป้าหมายใหญ่หรือรายการสำหรับลงแข่งขันที่รอโค้ชอ๊อตในปี 2025 มีอยู่ 3 รายการหลักๆ คือ

 

  1. เนชันส์ลีก 2025 (VNL 2025)
  2. ศึกชิงแชมป์โลก 2025 
  3. ซีเกมส์ 2025

 

ส่วนเป้าหมายเบื้องต้นของโค้ชอ๊อตในเวลานี้คือ การพยายามให้เหล่านักตบสาวกลับมาซ้อมร่วมกันก่อนศึกวอลเลย์บอลเนชันส์ลีกและชิงแชมป์โลก ซึ่งชุดนี้อาจต้องใช้นักกีฬาเยอะพอสมควร 

 

นั่นหมายความว่ามีโอกาสสูงที่แฟนๆ จะได้เห็นรายชื่อนักตบหน้าใหม่จากชุดอายุไม่เกิน 19 ปี และชุดอายุไม่เกิน 21 ปี ในทีมมากขึ้น รวมถึงผู้เล่นหน้าเก่า (อย่าง 7 เซียน) ที่โค้ชไม่ได้ปิดโอกาส เพราะมองว่าหากนักกีฬายังมีศักยภาพอยู่ ก็พร้อมให้กลับมาเล่นทีมชาติได้อีกครั้งแบบที่ นุศรา ต้อมคำ มือเซ็ตระดับโลกของไทย เคยกลับมาช่วยทีมไทยลุยศึกโอลิมปิกเกมส์ 2024 รอบคัดเลือก

 

 

ผลผลิตนักกีฬาสาวไทยสู่ต่างแดน

 

ท่ามกลางหมอกควันแห่งวิกฤตของทีมชาติ ก็ยังมีเรื่องดีๆ ให้น่าชื่นชมเกี่ยวกับศักยภาพของนักตบสาวไทยที่พบว่าในฤดูกาล 2024/25 มีนักกีฬาตัวหลักในนามทีมชาติของไทยร่วม 20 คนได้ไปโลดแล่นเพื่อพัฒนาฝีมือในลีกอาชีพที่ต่างแดน ตัวอย่างเช่น 

 

  • ชัชชุอร โมกศรี – Victorina Himeji (ญี่ปุ่น)
  • หัตถยา บำรุงสุข – Toyota Auto Body Queenseis (ญี่ปุ่น)
  • อัจฉราพร คงยศ – NEC Red Rockets (ญี่ปุ่น)
  • ดลพร สินโพธิ์ – Aranmare Yamagata (ญี่ปุ่น)
  • ทัดดาว นึกแจ้ง และ ณัฏฐณิชา ใจแสน – PFU BlueCats (ญี่ปุ่น)
  • นุศรา ต้อมคำ – Athletes Unlimited Pro League (สหรัฐอเมริกา)
  • ปิยะนุช แป้นน้อย – LOVB Atlanta (สหรัฐอเมริกา)
  • พรพรรณ เกิดปราชญ์ – Orlando Valkyries (สหรัฐอเมริกา)
  • วิภาวี ศรีทอง – Suwon Hyundai Hillstate (เกาหลีใต้)
  • ธนัชชา สุขสด – Korea Expressway Hi-Pass (เกาหลีใต้)

 

วอลเลย์บอลหญิงไทย

 

วอลเลย์บอลลีกไทยมีรากฐานที่แข็งแรงขึ้น

 

อีกหนึ่งข่าวดีของวอลเลย์บอลไทยในปีนี้คือ การได้ ‘มาดามหลุยส์’ ผู้ผลิตและจำหน่ายสบู่ Madame Louise สบู่พรีเมียมฝีมือคนไทย เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขันวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีกเป็นเวลา 3 ฤดูกาล ท่ามกลางทีมสโมสรวอลเลย์บอลอาชีพชั้นนำของประเทศเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 16 ทีม (ทีมชาย 8 ทีม และทีมหญิง 8 ทีม) พร้อมเปลี่ยนชื่อการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลอาชีพเป็นรายการ ‘มาดามหลุยส์ วอลเลย์บอล ไทยแลนด์ ลีก’ (Madame Louise Volleyball Thailand League)

 

การสนับสนุนมีความสำคัญต่อสโมสรในไทยเป็นอย่างมาก แม้ในวันนี้เมืองไทยจะส่งออกนักกีฬายอดฝีมือไปสร้างชื่อในต่างแดนเป็นจำนวนมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีอยู่ของระบบลีกในเมืองไทยนั้นสำคัญต่อการพัฒนาผู้เล่นในหลายระดับพร้อมกัน โดยเฉพาะในกลุ่มดาวรุ่งที่จะได้มีเวทีในการโชว์ฝีมือในระดับอาชีพนอกเหนือจากการแข่งในนามทีมชาติ (ระดับเยาวชน) ที่มีโปรแกรมแข่งขันเกือบทุกปี

 

 

ไทยรับหน้าที่เจ้าภาพชิงแชมป์โลก 2025

 

อีกหนึ่งรายการใหญ่ที่จะยกทัพมาจัดการแข่งขันในเมืองไทยและเป็นที่จับตาอย่างมากคงหนีไม่พ้นรายการวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2025 ที่ประเทศไทยเตรียมรับบทเจ้าภาพ ในช่วงวันที่ 22 สิงหาคม – 7 กันยายน 2025

 

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ การแข่งขันจะไม่ได้กระจุกอยู่แค่ในเมืองกรุงฯ เท่านั้น แต่ยังกระจายไปจัดตามหัวเมืองหลักด้านการท่องเที่ยวและกีฬาอีก 4 เมือง ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา และกรุงเทพมหานคร 

 

ขณะที่ผลการจับสลากแบ่งสายปรากฏว่า ทีมชาติไทย (อันดับ 13 ของโลก) ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม A ร่วมกับเนเธอร์แลนด์ (อันดับ 9 ของโลก), สวีเดน (อันดับ 24 ของโลก) และอียิปต์ (อันดับ 36 ของโลก) 

 

ส่วนรูปแบบการแข่งขันจะมีการแบ่งเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม และนำ 2 ทีมที่ทำผลงานดีที่สุดของแต่ละกลุ่มเข้าไปเล่นในรอบน็อกเอาต์เพื่อหาแชมป์โลกต่อไป โดยในรอบ 16 ทีมสุดท้าย, รอบก่อนรองชนะเลิศ, รอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ จะจัดที่อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก กรุงเทพมหานคร

 

ทั้งหมดนี้เป็นการสรุปภาพรวมเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับวอลเลย์บอลหญิงไทยตลอดปี 2024 เรื่องราวที่เกิดขึ้นมามีทั้งสิ่งที่ทำให้ไทยได้ผลลัพธ์ดีและไม่ดีปะปนกันไปเป็นปกติ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ ทุกสายตามองเห็นตรงกันว่าตอนนี้ทีมชาติไทยมีนักกีฬามากฝีมือที่พร้อมจะยกระดับทีมชาติให้แข่งขันบนเวทีระดับโลกแบบยืนระยะได้นานๆ 

 

และการกลับมา (อีกครั้ง) ของโค้ชอ๊อตทำให้แฟนกีฬาต่างคาดหวังว่าจะเค้นศักยภาพของทีมให้กลับมาผงาดดังเช่น ‘ยุค 7 เซียน’ ที่เคยสร้างชื่อให้ประเทศไทยอีกครั้งผ่านทัวร์นาเมนต์สำคัญที่รอเราอยู่ในปี 2025

 

Let’s Go Thailand 🇹🇭

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising