วันนี้ (20 ตุลาคม) เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 24 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายจัดการแข่งขันและกิจกรรม ร่วมกับ ฝ่ายฟุตบอลหญิงสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าวการแข่งขันฟุตบอลหญิง ไทยวีเมนส์ลีก ฤดูกาล 2020/21 ซึ่งการแข่งขันจะแบ่งออกเป็น ไทยวีเมนส์ลีกดิวิชัน 1 และ ไทยวีเมนส์ลีกดิวิชัน 2
ภายในงานแถลงข่าว นำโดย พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ, พลัฏฐ์ สุวรรณาเมธากร ผู้อำนวยการกองบริหารงานและมาตรฐานกีฬาอาชีพการกีฬาแห่งประเทศไทย, พาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมฯ, ศิริมา พานิชชีวะ อุปนายกสมาคมฯ ฝ่ายฟุตบอลหญิง, ปิยภัทร สโรบล รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศสมาคมฯ, เอกพล พลนาวี หัวหน้าฝ่ายจัดการแข่งขันสมาคมฯ และ เชน ขำวิลัย หัวหน้าฝ่ายเทคนิคสมาคมฯ พร้อมด้วยตัวแทนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหญิง ไทยวีเมนส์ลีก ฤดูกาล 2020/21 ทั้ง 16 ทีม ประกอบด้วย
ดิวิชัน 1 ดังนี้ โรงเรียนกีฬาจังหวัดชลบุรี (แชมป์เก่าร่วม), บีจี-บัณฑิตเอเชีย (แชมป์เก่าร่วม), ฟุตบอลหญิง สโมสรทหารอากาศ, กรุงเทพมหานคร, โรงเรียนกีฬาจังหวัดลำปาง, บีอาร์ยู บุรีราษฎร์ อะคาเดมี, เอ็มเอช นครศรี เอฟซี และ สมาคมกีฬาฟุตบอลจังหวัดชลบุรี
ส่วนดิวิชัน 2 ประกอบด้วย ลพบุรีซิตี้, พราม แบงค็อก, หินโคน ยูไนเต็ด, สโมสรกีฬาราชประชา, สโมสรฟุตบอลขอนแก่นซิตี้, มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เอฟซี, โรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร และ บี.เอส.แอล ดับเบิ้ลยู เอฟซี
โดย พล.ต.อ.ดร.สมยศ กล่าวว่า “การพัฒนาฟุตบอลหญิง เราก็คุยกันว่าถึงเวลาที่เราจะต้องทำฟุตบอลหญิงมีลีก สิ่งแรกที่สมาคมฯ ทำก็คือทำให้สโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเหมือนทีมฟุตบอลชาย ส่วนที่ว่าทำไมสโมสรฟุตบอลหญิงที่เข้าร่วมการแข่งขันลีกฟุตบอลหญิงต้องเป็นนิติบุคคล ก็เพราะว่าฟุตบอลชายอาชีพได้รับเงินสนับสนุนจากสมาคมฯ เงินที่มาเหล่านั้นทั้งจากการกีฬาแห่งประเทศไทยและสปอนเซอร์ได้นำไปใช้อย่างถูกต้องตามข้อบังคับ”
“แต่ที่ผ่านมา เราไม่สามารถให้เงินสนับสนุนสโมสรฟุตบอลลีกหญิงได้ เพราะสโมสรยังไม่เป็นนิติบุคคล ผมก็ได้มีการพูดคุยว่าเราจะทำให้ถูกต้อง ทำให้สโมสรที่เข้าร่วมฟุตบอลลีกหญิงเป็นนิติบุคคล เพื่อที่จะรับเงินสนับสนุนจากสมาคมฯ”
“ในเบื้องต้นหลายท่านอึดอัด เพราะสโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกหญิงมีที่มาหลายๆ ที่แตกต่างกัน และการที่จะแปรเป็นนิติบุคคลไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราได้ทำงานร่วมกัน ทั้งสโมสรของท่าน และสมาคมฯ จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และทำให้สโมสรฟุตบอลหญิงเป็นนิติบุคคล นับแต่นี้ต่อไปสมาคมฯ สามารถจ่ายเงินสนับสนุนให้กับสโมสรท่านได้ถูกต้อง เพราะว่าถ้าไม่เป็นนิติบุคคล สมาคมฯ และผมเอง ถึงแม้อยากให้เงินสนับสนุน ผมจะสนับสนุนไปในนามใคร ถ้าท่านไม่ใช่นิติบุคคล”
“แต่วันนี้ท่านเป็นนิติบุคคล มันเกิดความชอบและความถูกต้อง นับเป็นครั้งแรกที่สโมสรฟุตบอลหญิงที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหญิงเป็นนิติบุคคลสมบูรณ์ และนับแต่นี้ต่อไป สิทธิใดๆ ที่ฟุตบอลชายได้ ฟุตบอลหญิงก็จะได้เช่นกันตามความเหมาะสม เงินสนับสนุนอาจจะไม่เท่ากัน แต่เราก็มีให้แล้ว ทั้งเงินสนับสนุนทีม เงินรางวัลต่างๆนานา ซึ่งมันมีผลกับสโมสรของท่าน”
“ผมในฐานะนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องขอบคุณผู้บริหารสโมสร นักกีฬาทุกคน รวมทั้งแฟนบอล สื่อมวลชน ที่ร่วมกันเสียสละและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาฟุตบอลหญิง ผมก็ขออวยพรให้ทุกทีมสมหวังในการแข่งขันที่จะมีขึ้นในฤดูกาล 2020/21 ที่จะมาถึงนี้”
ด้าน ศิริมา พานิชชีวะ อุปนายกสมาคมฯ ฝ่ายฟุตบอลหญิง กล่าวว่า “ในการจัดการแข่งขันฟุตบอล ไทยวีเมนส์ลีก 2020/21 เราหวังว่าจะเป็นเวทีให้นักฟุตบอลแสดงฝีเท้า และพัฒนาศักยภาพนักกีฬาให้แกร่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสโมสรใหญ่หรือเล็กต้องพัฒนาไปพร้อมกัน เพื่อก้าวไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายให้ได้อีกครั้ง อยากฝากทุกท่านเป็นกำลังใจให้ฟุตบอลหญิงด้วย ช่วยกันสนับสนุนฟุตบอลลีกหญิงให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป ขอยืนยันว่าฟุตบอลหญิงสนุก เล่นด้วยสปิริตไม่ต่างจากฟุตบอลชายแน่นอน”
สำหรับรูปแบบการแข่งขันของ ไทยวีเมนส์ลีกดิวิชัน 1 จะแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 เลก ในเลกแรกจะแข่งขันแบบพบกันหมด ณ สนามกีฬาฟุตบอลศูนย์พัฒนาศักยภาพกีฬาฟุตบอลมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยอันดับที่ 1-4 เมื่อจบเลกแรก จะแข่งขันแบบพบกันหมดอีกครั้ง แบบเหย้า-เยือน ภายในอันดับ 1-4 ด้วยกันเอง เพื่อหาทีมชนะ ขณะที่อันดับ 5-8 เมื่อจบเลกแรกจะแข่งขันแบบเหย้า-เยือน และพบกันเองภายในอันดับที่ 5-8 เช่นกัน สำหรับอันดับที่ 6-7 จะทำการแข่งขันรอบเพลย์ออฟกับอันดับ 2-3 จากดิวิชัน 2 ส่วนอันดับ 8 ตกชั้นทันที
ส่วนการแข่งขันของ ไทยวีเมนส์ลีกดิวิชัน 2 ในเลกแรกจะแข่งขันแบบพบกันหมด มีสนามกลางในการจัดการแข่งขันสำหรับฤดูกาลนี้ คือ สนามกีฬาฟุตบอลศูนย์พัฒนาศักยภาพกีฬาฟุตบอลมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยอันดับ 1-4 เมื่อจบเลกแรกจะมีการแข่งขันแบบประกบคู่น็อกเอาต์เพื่อหาทีมชนะเลิศ ซึ่งทีมที่ชนะเลิศจะได้สิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นใน ไทยวีเมนส์ลีกดิวิชัน 1 อัตโนมัติ ส่วนทีมรองชนะเลิศจะต้องไปเพลย์ออฟกับทีมอันดับ 7 ของดิวิชัน 1 ขณะที่ทีมอันดับ 3 จะเพลย์ออฟกับทีมอันดับ 6 ของดิวิชัน 1 ส่วนอันดับที่ 5-8 เมื่อจบเลกแรกจะแข่งขันแบบประกบคู่น็อกเอาต์ โดยสองทีมที่ชนะจะได้เล่นในดิวิชัน 2 ต่อ
ขณะที่เงินรางวัลสำหรับการแข่งขันฟุตบอล ไทยวีเมนส์ลีกดิวิชัน 1 มีดังนี้
รางวัลชนะเลิศ จำนวน 300,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 100,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 80,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 จำนวน 70,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 4 จำนวน 60,000 บาท
ทุกทีมจะได้รับเงินสนับสนุนสโมสรจากสมาคมฯ ทีมละ 100,000 บาท แบ่งเป็น เงินสนับสนุนแบบให้เปล่า 50,000 บาท และเงินสนับสนุนอุปกรณ์ 50,000 บาท
เงินรางวัลสำหรับการแข่งขันฟุตบอล ไทยวีเมนส์ลีกดิวิชัน 2 มีดังนี้
รางวัลชนะเลิศ จำนวน 50,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 40,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 30,000 บาท
ทุกทีมจะได้รับเงินสนับสนุนสโมสรจากสมาคมฯ ทีมละ 75,000 บาท แบ่งเป็น เงินสนับสนุนแบบให้เปล่า 50,000 บาท และเงินสนับสนุนอุปกรณ์ 25,000 บาท
นอกจากนี้ทั้ง 16 ทีม จะได้รับเงินสนับสนุนค่าเดินทางมาสนามแข่งขัน (คิดตามระยะทาง) ระยะทางไม่เกิน 150 กิโลเมตร ครั้งละ 10,000 บาท ระยะทาง 150-300 กิโลเมตรขึ้นไป ครั้งละ 15,000 บาท และระยะทาง 300 กิโลเมตรขึ้นไป ครั้งละ 20,000 บาท
สำหรับโปรแกรมการแข่งขันฟุตบอลหญิง ไทยวีเมนส์ลีก นัดแรกของฤดูกาล 2020/21
ดิวิชัน 1
วันที่ 31 ตุลาคม 2563 เวลา 16.00 น. สมาคมกีฬาฟุตบอลจังหวัดชลบุรี พบกับ ทหารอากาศ
วันที่ 31 ตุลาคม 2563 เวลา 19.00 น. บีอาร์ยู บุรีราษฎร์ อะคาเดมี พบกับ โรงเรียนกีฬาจังหวัดชลบุรี
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เวลา 16.00 น. กรุงเทพมหานคร พบกับ เอ็มเอช นครศรี เอฟซี
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เวลา 19.00 น. โรงเรียนกีฬาจังหวัดลำปาง พบกับ บีจี-บัณฑิตเอเชีย
ดิวิชัน 2
วันที่ 31 ตุลาคม 2563 เวลา 16.00 น. ราชประชา พบกับ BSL WFC
วันที่ 31 ตุลาคม 2563 เวลา 19.00 น. ลพบุรี ซิตี้ พบกับ หินโคน ยูไนเต็ด
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เวลา 16.00 น. มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เอฟซี พบกับ โรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เวลา 19.00 น. ขอนแก่น ซิตี้ พบกับ พราม แบงค็อก
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล