×

“พลังงานลมไทย” ทางเลือกสู่ Net Zero ที่จะเปลี่ยนท้องถิ่นให้เป็นฐานพลังงานแห่งอนาคต

โดย THE STANDARD TEAM
30.06.2025
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • พลังงานลมกำลังกลายเป็นพลังงานสะอาดทางเลือกที่มีศักยภาพจริงในไทย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ พร้อมช่วยขับเคลื่อนเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศ
  • พลังงานลมคือการเปลี่ยนพลังธรรมชาติให้เป็นไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยีกังหันลมที่พัฒนาแล้ว ทำให้สามารถผลิตไฟได้แม้ในพื้นที่ลมต่ำ และภาครัฐสนับสนุนผ่านระบบ FiT ระยะยาว
  • ฟาร์มกังหันลมไม่ได้สร้างแค่ไฟ แต่ยังสร้างถนน สร้างงาน และสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน ผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ช่วยยกระดับเศรษฐกิจในท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม
  • วันนี้ไทยผลิตไฟจากพลังงานลมได้ราว 1,500 เมกะวัตต์ แต่ศักยภาพจริงสูงถึง 17,000 เมกะวัตต์ และกำลังอยู่ในแผนพัฒนา PDP ใหม่ที่จะผลักดันให้เติบโตถึง 10,000 เมกะวัตต์ในอนาคต
  • ความท้าทายของพลังงานลมคือเรื่องพื้นที่ ต้นทุนเทคโนโลยี และผลกระทบด้านเสียง ซึ่งต้องได้รับการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โดยสำนักงาน กกพ. ผ่านหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและสมดุล
  • ถ้าระบบกักเก็บพลังงานมีต้นทุนต่ำลง พลังงานลมจะกลายเป็นพลังเปลี่ยนเกมที่แท้จริง ที่ช่วยให้ไทยไปถึง Net Zero ได้เร็วขึ้น พร้อมสร้างความมั่นคงพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

‘พลังงานสะอาด’ คนอาจนึกถึงแสงแดดและโซลาร์เซลล์เป็นอย่างแรก แต่มีอีกหนึ่งพลังธรรมชาติที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะทางเลือกที่เป็นไปได้จริง และสามารถช่วยเปลี่ยนเกมพลังงานของประเทศได้ นั่นคือ ‘พลังงานลม’

 

ด้วยศักยภาพของไทย ประกอบกับเทคโนโลยีกังหันลมที่พัฒนาไปไกลกว่าเดิม บวกกับกลไกสนับสนุนจากภาครัฐ พลังงานลมกำลังกลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และ Net Zero ภายในปี 2065 ได้เร็วขึ้น

 

ทำไมไทยต้องเร่งส่งเสริม “พลังงานลม”

 

พลังงานลมเป็นพลังงานหมุนเวียนที่เกิดจากการแปลงพลังงานจลน์จากการเคลื่อนที่ของลมให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยใช้กังหันลมต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

 

เทคโนโลยีกังหันลมในปัจจุบันสามารถเริ่มผลิตไฟได้ตั้งแต่ความเร็วลม 3 เมตรต่อวินาที และในบริบทของประเทศไทย ความเร็วลมเฉลี่ยที่เหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 6.4 – 7 เมตรต่อวินาทีที่ความสูง 50 เมตรขึ้นไป ซึ่งในบางพื้นที่ไทยสามารถตอบโจทย์นี้ได้

 

เทคโนโลยีกังหันลมในปัจจุบันสามารถเริ่มผลิตไฟได้ตั้งแต่ความเร็วลม 3 เมตรต่อวินาที

 

ข้อได้เปรียบสำคัญของพลังงานลมคือ ไม่ปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก ไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าอย่างก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ลดการใช้เงินตราต่างประเทศ ประหยัดงบประมาณด้านพลังงานในระยะยาว ติดตั้งรวดเร็ว และบำรุงรักษาง่าย

 

ภาครัฐไทยจึงมีนโยบายสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมผ่านระบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่สะท้อนถึงต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสมที่ พลังงานลม เท่ากับ 3.1014 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 25 ปี ตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 

 

เทคโนโลยีกังหันลมเองก็พัฒนาอย่างต่อเนื่องจากเดิมที่ผลิตไฟได้ 2.3 เมกะวัตต์ต่อต้น ปัจจุบันขยับเป็น 3 ถึง 4.5 เมกะวัตต์ ทำให้คุ้มค่าการลงทุนมากขึ้น แม้ศักยภาพลมไทยจะไม่สูงเท่าประเทศในยุโรป

 

พลังงานลมเปลี่ยนเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างไร

 

สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ พลังงานลมไม่ได้เป็นแค่พลังงานสะอาดระดับประเทศ แต่ยังช่วยจุดประกายเศรษฐกิจสีเขียวในระดับชุมชน

 

การติดตั้งฟาร์มกังหันลมในพื้นที่ชนบท เช่น อำเภอเทพสถิตย์และบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ หรืออำเภอปากช่องและสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ไม่ได้สร้างแค่ไฟฟ้า แต่ยังสร้างโอกาสจ้างงานในชุมชน ทั้งในขั้นตอนก่อสร้าง เดินสายไฟ การขนส่ง และการดูแลบำรุงรักษาระบบ

 

แผนที่ศักยภาพลมของประเทศไทยระดับความสูง 90 เมตรในปี 2566

 

นอกจากนี้ ถนนที่สร้างขึ้นเพื่อเข้าถึงพื้นที่ติดตั้ง ยังสามารถใช้ร่วมโดยชาวบ้านในชุมชนเพื่อขนส่งผลผลิตการเกษตรหรือเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น

 

อีกหนึ่งจุดเด่นคือ ทุกหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานลม จะมีการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าในอัตรา 1 สตางค์ต่อหน่วย โดยกองทุนนี้สามารถนำไปใช้พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในพื้นที่ เช่น โรงเรียน ถนน ระบบน้ำประปา หรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของชุมชน

 

พลังงานลมไทย

 

ไทยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้มากแค่ไหน

 

ข้อมูลจาก วัชรพงศ์ เข็มแก้ว นายกสมาคมพลังงานลม (ประเทศไทย) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมรวมประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ คิดเป็นไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงประมาณ 3,400 ล้านหน่วยต่อปี

 

วัชรพงศ์ เข็มแก้ว นายกสมาคมพลังงานลม (ประเทศไทย)

 

ขณะที่ศักยภาพพลังงานลมของประเทศโดยรวมถูกประเมินไว้ที่ 17,000 เมกะวัตต์ แต่ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ มีการระบุเป้าหมายพลังงานลมไว้เกือบ 10,000 เมกะวัตต์

 

โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพมากที่สุดคือบริเวณภูเขาสูง แนวร่องลมมรสุม และแนวชายฝั่งทะเล เช่น ริมอ่าวไทย

 

ความท้าทายพลังงานลมที่ต้องก้าวข้าม

 

แม้พลังงานลมจะมีข้อดีมากมาย แต่การพัฒนายังต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายด้าน เช่น

 

  • พื้นที่ที่เหมาะสมมักอยู่ห่างไกลระบบสายส่ง ทำให้ต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม เช่น การตัดถนนเข้าไปในพื้นที่
  • ปัญหามลภาวะทางเสียงและคลื่นวิทยุจากการทำงานของกังหันลม อาจส่งผลกระทบกับชุมชนหากไม่มีการกำกับที่ดี
  • ความเร็วลมในไทยมีความแปรปรวนและต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ต้องใช้เทคโนโลยีที่เฉพาะเจาะจง
  • การส่งไฟเข้าสู่ระบบสายส่งให้มีเสถียรภาพ ต้องใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) ซึ่งยังมีต้นทุนสูง

 

เพื่อให้การพัฒนาพลังงานลมไม่สะดุด การกำกับดูแลที่ดีจึงมีบทบาทสำคัญ โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีหน้าที่วางหลักเกณฑ์และประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice) อย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ชุมชน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไปพร้อมกัน

 

กกพ. ทำหน้าที่คล้าย “กรรมการกลาง” ที่สร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของรัฐ เอกชน และประชาชน

 

 

ต้นทุนที่ลดลง พลังงานลมจะพัดพาไทยไปไกลกว่าที่คิด

 

แนวโน้มในอนาคตของพลังงานลมในไทยขึ้นอยู่กับการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบกักเก็บพลังงานที่ยังเป็นปัจจัยต้นทุนหลัก หากสามารถลดต้นทุนจนแข่งขันกับพลังงานจากฟอสซิลได้ เชื่อว่าภาครัฐจะมีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อพลังงานลมในระบบมากขึ้น

 

และเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น ประเทศไทยจะไม่เพียงแค่เข้าใกล้เป้าหมาย Net Zero เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ชุมชนในชนบทได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นรูปธรรม กลายเป็นรากฐานของระบบพลังงานสะอาดที่มั่นคง และเป็นธรรมอย่างแท้จริง

 

รู้จัก “มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ของสำนักงาน กกพ.

 

CoP ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของ กกพ. ในการกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการพลังงานให้ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนในประเทศไทยโดยในสาระสำคัญของ CoP จะครอบคลุมการดำเนินการ ตลอดวัฏจักรของโครงการพลังงาน ตั้งแต่ระยะเตรียมการก่อสร้าง  เช่น การศึกษาปริมาณและลักษณะคุณสมบัติของเชื้อเพลิง เกณฑ์การปฏิบัติด้านพื้นที่ก่อสร้าง การออกแบบแผนผังโครงการ (Plant Layout)  ระยะก่อสร้าง เช่น มาตรการควบคุมมลพิษระหว่างการก่อสร้าง ระยะดำเนินการ เช่น จะมีมาตรการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งคุณภาพอากาศ น้ำ และเสียง รวมถึงการจัดการของเสีย   รวมถึงระยะรื้อถอน จะมีมาตรการสำหรับการรื้อถอนอาคาร เครื่องจักร หรืออุปกรณ์

 

สำหรับประเภทโรงไฟฟ้าที่ กกพ. มี CoP กำหนดไว้เอาไว้ ได้แก่ 

 

  • โรงไฟฟ้าประเภทเผาไหม้เชื้อเพลิง (เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล, โรงไฟฟ้าขยะ)
  • โรงไฟฟ้าประเภทไม่เผาไหม้เชื้อเพลิง (เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม)

 

กกพ

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising