×

อัตราดอกเบี้ยแท้จริงไทย vs. โลก

15.06.2023
  • LOADING...
ดอกเบี้ย

อัตราดอกเบี้ยถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยในตลาดล้วนมีนัยสำคัญต่อผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และนักลงทุน เนื่องจากดอกเบี้ยคือสิ่งที่สะท้อนถึงต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับ และความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อและการชำระคืนหนี้ของผู้บริโภค

 

โดยทั่วไปอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ในประเทศต่างๆ จะมีการเคลื่อนไหวสอดคล้องไปกับดอกเบี้ยนโยบายซึ่งถูกกำหนดโดยธนาคารกลาง อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนหรือกู้ยืม นักลงทุนมักจะไม่ได้พิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ (Nominal Interest Rate) เพียงอย่างเดียว แต่จะมีการหักลบผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือเงินเฟ้อออก เพื่อให้เห็นถึงผลตอบแทนและต้นทุนในการลงทุนที่แท้จริง (Real Interest Rate) ด้วย

 

ยกตัวอย่างเช่น หากอัตราดอกเบี้ยที่เราได้รับจากเงินฝากกับธนาคารแห่งหนึ่งอยู่ที่ 2.0% แต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือผลตอบแทนที่เราได้รับจะติดลบ 0.5% ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้อาจมีความน่าสนใจกว่า ในมุมกลับกันหากเราเป็นผู้ประกอบการ ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบก็จะเท่ากับว่ากับเรามีต้นทุนการเงินต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การตัดสินใจกู้ยืมก็จะทำได้ง่ายขึ้น

 

เมื่อเร็วๆ นี้ Infinity Asset Management บริษัทบริหารจัดการการลงทุนในสหรัฐฯ ได้มีการคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลกจำนวน 40 แห่ง โดยนำอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2023 ของประเทศเหล่านี้มาหักลบกับอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

 

ผลปรากฏว่าบราซิลเป็นประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงสุดในบรรดา 40 ประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยมีอัตราดอกเบี้ยแท้จริงอยู่ที่ระดับ 6.94% ตามมาด้วยเม็กซิโก ชิลี และฟิลิปปินส์ ที่มีอัตราดอกเบี้ยแท้จริงอยู่ที่ 6.05%, 4.92% และ 2.62% ตามลำดับ 

 

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของบราซิลอย่างอาร์เจนตินากลับเป็นประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบสูงที่สุดที่ระดับ -19.61% ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ที่อัตราดอกเบี้ยติดลบ 7.42% 

 

สำหรับประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในโซนประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ โดยดอกเบี้ยแท้จริงของไทยอยู่ที่ระดับ -4.19% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังมีความแตกต่างจากการประเมินของสำนักวิจัยในประเทศอย่าง SCB EIC ที่ล่าสุดมองว่าปัจจุบันดอกเบี้ยแท้จริงของไทยน่าจะติดลบอยู่ราว 3% เท่านั้น

 

ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยออกมาให้ความเห็นหลายครั้งว่า เมื่อเศรษฐกิจของไทยมีการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดและกลับสู่ระดับศักยภาพแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ควรจะกลับมาเป็นบวก พร้อมเตือนว่าการกดให้อัตราดอกเบี้ยของประเทศอยู่ในระดับต่ำนานเกินไปอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของ GDP ในระยะยาว และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบสถาบันการเงิน

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดมีการคาดการณ์กันว่ามีโอกาสไม่น้อยที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะถูกปรับขึ้นได้อีกในปีนี้ ซึ่งหากนำมาพิจารณากับสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศที่คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้าจากฐานที่สูงในปีก่อน ทำให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยในอนาคตมีแนวโน้มที่จะติดลบลงหรือกลับมาเป็นบวกได้เช่นกัน

 

ดอกเบี้ย

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X