ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ฉายภาพว่า ปัจจุบันโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะการต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเติบโตของ GDP ทั่วโลกที่ยังชะลอตัว ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มีส่วนทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง
นอกจากนั้น พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ผู้บริโภคหลายคนหันมาใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพตัวเองและสัตว์เลี้ยงมากขึ้นกว่าในอดีต สะท้อนให้เห็นว่าทุกความท้าทายที่เกิดขึ้นมีโอกาสให้ธุรกิจต้องคว้าเอาไว้ให้ได้
แม้สภาพตลาดยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูง แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณบวกจากอัตราดอกเบี้ยเริ่มลดลง และเงินเฟ้อเองก็ลดลงเช่นกัน จึงมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจกำลังจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งหากย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อนไทยยูเนี่ยนเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะเน้นต่อยอดจากสินค้าเดิมไปสู่สินค้าใหม่และการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ
เปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจรับโลกยุคใหม่
แต่วันนี้ต้องบอกว่ามุมมองการทำธุรกิจของไทยยูเนี่ยนเปลี่ยนไปอย่างมาก เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เร็วขึ้น ไทยยูเนี่ยนไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง นอกจากมุ่งเน้นการเติบโตของรายได้ยังต้องเน้นความสามารถในการทำกำไรให้มากขึ้น
ทั้งหมดจะช่วยให้องค์กรเดินหน้าไปสู่เป้าหมายสร้างยอดขายให้ได้ 2.45 แสนล้านบาท และทำกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2573
“เราพร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเล ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ขององค์กร” หัวเรือใหญ่ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ย้ำ
แล้วอะไรคือกุญแจช่วยผลักดันให้ไทยยูเนี่ยนสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
พอล เฮอร์โฮลซ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และทรานส์ฟอร์เมชั่น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อไปว่า ความสำเร็จทั้งหมดจะมาจากแผนงานและกลยุทธ์ที่จะมุ่งสู่ปี 2573 เน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจที่เติบโตได้ดี พร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจเดิม ธุรกิจใหม่ รวมถึงการควบรวมกิจการ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
เมื่อมาดูหัวใจสำคัญของทิศทางการดำเนินธุรกิจแบ่งออกเป็น 3 แกนหลัก เริ่มตั้งแต่
- สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป อาหารแช่เย็น และอาหารสัตว์ เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่จำเป็นสำหรับการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตใหม่ๆ
- สร้างคลื่นลูกใหม่ของการเติบโต มุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตเร็ว เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารแช่แข็ง อาหารพร้อมรับประทาน และอินกรีเดียนท์ ซึ่งไทยยูเนี่ยนเชื่อว่าจะยังคงขับเคลื่อนการเติบโตของผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง
- การเปิดน่านน้ำใหม่ มุ่งเน้นการแสวงหาไอเดียและเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และโปรตีนทางเลือก เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของไทยยูเนี่ยนในอนาคต
กลยุทธ์ทั้งหมดช่วยวางรากฐานให้องค์กรแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน
และจะยิ่งแข็งแรงมากขึ้นไปอีกคือบริษัทเตรียมดำเนินงานผ่าน 2 โปรเจกต์ทรานส์ฟอร์เมชันเข้ามาช่วย ซึ่งอยู่ภายใต้กลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573
- โปรเจกต์โซนาร์ (Project Sonar) ซึ่งเป็นโครงการทรานส์ฟอร์เมชันของกลุ่มบริษัท ที่วางรากฐานในการเติบโตระยะยาวและตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนเฉลี่ยต่อปี 2,625 ล้านบาท (75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
แน่นอนว่าการจะลดต้นทุนได้ต้องปรับโครงสร้างองค์กรและการพัฒนาบุคลากร มุ่งเน้นลดต้นทุนด้วยการสร้างขีดความสามารถด้านการจัดซื้อและนำดิจิทัลและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งสัดส่วนงบประมาณ 40% ของเงินส่วนนี้จะถูกนำกลับมาลงทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายธุรกิจต่อไป
- โปรเจกต์เทลวินด์ (Project Tailwind) เร่งการเติบโตในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำไรจากการดำเนินงานประมาณ 1,750 ล้านบาท (50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี
สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป
หากพูดถึงสิ่งที่น่าสนใจของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นตลาดที่กำลังสดใส จะนำความเชี่ยวชาญทางธุรกิจและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อตลาด รู้ลึก รู้จริง ถึงความต้องการของลูกค้า เข้ามาช่วยสร้างการเติบโตควบคู่กับการสร้างขีดความสามารถใหม่ๆ เพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดซื้อและกระบวนการผลิต
ขณะเดียวกัน โปรเจกต์เทลวินด์จะมุ่งเน้นไปที่การเร่งขับเคลื่อนการเติบโตจากการเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจในปัจจุบันอย่างบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะมุ่งสร้างการเติบโตจากการควบรวมกิจการ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้ 3 เท่าอยู่ที่ประมาณ 52,500 ล้านบาท (1,500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2573
สุดท้ายแล้วจะยิ่งเห็นภาพความสำเร็จได้มากขึ้น เมื่อทั้ง 2 โปรเจกต์ดำเนินการควบคู่กันไปและสอดคล้องกัน เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 และยังส่งเสริมการรวมแผนงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในอนาคตได้อีกด้วย