×

‘ไทยยูเนี่ยน’ เดินหน้าพัฒนาอาหารทางเลือก ลุยศึกษาผลิตภัณฑ์กัญชง หวังปั้นรายได้โตต่อเนื่อง พร้อมเตรียมนำบริษัทย่อยเข้าตลาดหุ้นปลายปีนี้

25.02.2021
  • LOADING...
‘ไทยยูเนี่ยน’ เดินหน้าพัฒนาอาหารทางเลือก ลุยศึกษาผลิตภัณฑ์กัญชง หวังปั้นรายได้โตต่อเนื่อง พร้อมเตรียมนำบริษัทย่อยเข้าตลาดหุ้นปลายปีนี้

ปี 2563 เป็นปีที่เกิดวิกฤตการณ์โรคอุบัติใหม่ คือโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก และกระทบถึงภาคธุรกิจค่อนข้างมาก โดยกลุ่มส่งออกและกลุ่มอาหาร ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU ผู้ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง รวมถึงอาหารสำเร็จรูปและอาหารว่าง เจ้าของฉายา ‘ราชาทูน่าโลก’ กลับรายงานผลประกอบการปี 2563 มีกำไรสุทธิ 6,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.7% จากปีก่อนหน้า 

 

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สาเหตุที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เกิดจาก 

 

1. แผนการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ประสบผลสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ การปิดและรวมบริษัทในต่างประเทศ รวมทั้งการปรับโครงสร้างให้มี Share Service กันได้มากขึ้น ขจัดธุรกิจที่ไม่สร้างกำไร รวมถึงปิดโรงงานที่ไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ ตลอดจนการตัดลดงบโฆษณาประชาสัมพันธ์  

 

2. ยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง จากปัจจัยโควิด-19 ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป กล่าวคือมีการกักตุนสินค้าจำพวกอาหารกระป๋องและอาหารพร้อมทานมากขึ้น 

 

โดยผลประกอบการประจำปี 2563 TU มียอดขายอยู่ที่ระดับ 132,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% กำไรสุทธิ 6,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.7% โดย TU จะจ่ายเงินปันผลงวด 6 เดือนหลังปี 2563 อัตรา 0.40 บาทต่อหุ้น รวมทั้งปีปันผล 0.72 บาทต่อหุ้น  

 

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการปี 2564 TU ตั้งเป้าหมายยอดขายรวมเติบโต 3-5% สอดรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ตลอดจนการเปิดประเทศในท้ายที่สุด 

 

กลยุทธ์ 5 ปี จับมือพันธมิตร-ลุยอาหารทางเลือก

มุ่งมองไปข้างหน้า TU วางกลยุทธ์ 5 ปี (2564-2568) เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ โดยร่วมมือกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญธุรกิจเฉพาะด้าน เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทางเลือก โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการร่วมกับอาฟเตอร์ยำ เพื่อต่อยอดทูน่ากระป๋องของ TU สู่อาหารพร้อมทานที่ปรุงโดยอาฟเตอร์ยำ ซึ่งเป็น SMEs ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งนี้ เพื่อเปิดตลาดในประเทศไทยให้แก่ผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋อง ซึ่ง TU เชื่อว่ายังสามารถสร้างการเติบโตได้อีกมาก

 

อีกหนึ่งความร่วมมือกับพันธมิตร คือการร่วมมือกับเครือไทยเบฟ ผ่านการจัดตั้งกิจการร่วมค้า ชื่อว่า บริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัด เพื่อการร่วมลงทุนกับบริษัท เบฟเทค จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมลงทุน และร่วมมือในการพัฒนาสินค้า ผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ของบริษัทฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัด

 

และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีความร่วมมือกับ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) โดยร่วมลงทุนใน บริษัท อินเตอร์ฟาร์มา-ซีวิต้า จำกัด เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมไปถึงการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 

 

“ในการร่วมมือกับพันธมิตร จะต้องเป็นพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ และ TU นำสินค้าที่เป็น Core ของเราไปต่อยอดและพัฒนา นอกจากเพิ่มความน่าสนใจและความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์แล้ว ยังช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายด้วย เพราะพันธมิตรที่เราร่วมลงทุนก็เป็นผู้เล่นหลักในตลาดที่เชี่ยวชาญ” 

 

ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพขยายตัวสูง รุดศึกษาผลิตภัณฑ์กัญชง

ช่วง 5 ปีจากนี้ ภาพของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและอาหารเพื่อสุขภาพจะชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในปี 2564 TU จัดสรรงบลงทุนไว้ราว 6,000-6,500 ล้านบาท สำหรับลงทุนในธุรกิจหลัก คือ อาหารทะเลกระป๋อง อาหารทะเลแช่แข็ง โดยจะลงทุนในระบบ Automation และเทคโนโลยีต่างๆ และลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ หรือที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า อาทิ อินกรีเดียนส์ เพ็ทแคร์​ ทูน่าออยล์ คอลลาเจน อาหารเสริม (Supplement) โปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคปัจจุบันที่หันมาให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพด้วยอาหารทางเลือกเพิ่มขึ้น 

 

ภายในปี 2568 กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่จะมีสัดส่วนรายได้ราว 10-15% ขณะที่รายได้หลักยังมาจากผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม แต่ในส่วนของศักยภาพของกำไรจะเพิ่มขึ้น โดยในปี 2568 อัตรากำไรขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ 20% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 18% และอัตรากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 4-5% 

 

“ส่วนกัญชงกัญชา หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานรัฐให้สามารถนำมาเป็นสารประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารและยา บทบาทของภาคธุรกิจ รวมถึง TU ก็คือการศึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค เชื่อว่าน่าจะเห็นความหลากหลายในการนำมาใช้กับสินค้ามากขึ้น”

 

Spin Off บริษัทย่อยในรอบ 27 ปี

ภายในปี 2564 TU จะผลักดันบริษัทย่อย คือ บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ หรือ TFM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินเรียบร้อยแล้ว คือ บล.บัวหลวง

 

ธีรพงศ์กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกของเครือ TU ที่ Craft Out ธุรกิจในเครือ และผลักดันเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่ TU เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2537 ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ TFM สามารถระดมทุนและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ด้วยตัวเอง และหากTFM ประสบความสำเร็จในการ IPO แล้ว TU ก็พร้อมจะ Craft Out ธุรกิจอื่นในเครือ เพื่อผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีก โดยจะพิจารณาจากศักยภาพการเติบโตของธุรกิจนั้นๆ เป็นหลัก

 

ทั้งนี้ TFM ดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ หลักๆ คืออาหารกุ้งและอาหารปลา มีกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 410 บ้านบาท ขณะเดียวกัน TFM มีแผนขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์น้ำในไทยและต่างประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจในระยะยาว

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X