×

สุริยะเล็งจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ถนนตามแนวรถไฟฟ้า 50 บาท/คัน คาดรายได้ 1.2 หมื่นล้าน/ปี

โดย THE STANDARD TEAM
17.10.2024
  • LOADING...
ค่าธรรมเนียมรถติด

วานนี้ (16 ตุลาคม) สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังเตรียมร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาเพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชน คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 2 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้ การซื้อคืนนี้เพื่อทำให้ภาครัฐสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง เป็นธรรม และเข้าถึงได้ง่าย เบื้องต้นกองทุนจะกำหนดระยะเวลา 30 ปี แหล่งเงินของกองทุนส่วนหนึ่งเป็นการระดมทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือเงินปันผล และอีกส่วนจะเป็นรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ซึ่งกระทรวงการคลังจะไปศึกษารูปแบบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้ เริ่มจากการศึกษาเบื้องต้น ถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่จะดำเนินการจะต้องมีเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นทางเลือกในการเดินทาง เช่น ถนนสุขุมวิท, ถนนสีลม, ถนนรัชดาภิเษก ฯลฯ ซึ่งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นรูปแบบที่ดำเนินการในประเทศที่พัฒนาแล้วและประสบผลสำเร็จ เช่น ประเทศอังกฤษ

 

สำหรับการคาดการณ์แนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเบื้องต้นนั้น มีแนวทางจะเริ่มจัดเก็บในระยะ 5 ปีแรกในอัตรา 40-50 บาท และในช่วง 5 ปีถัดไปจะทยอยเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในขณะนั้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่ที่กำหนดได้วันละประมาณ 7 แสนคัน หากเก็บ 50 บาทต่อคันจะมีรายได้ประมาณ 35 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อนำมาสนับสนุนกองทุนเพื่อซื้อคืนสัมปทาน

 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะโดยรถไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหามลภาวะและฝุ่นละออง PM2.5 ด้วย อย่างไรก็ตาม เตรียมว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมทั้งพิจารณางบประมาณที่จะซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าในแต่ละเส้นทาง และคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในกลางปี 2568

 

สุริยะกล่าวอีกว่า เมื่อกระทรวงการคลังดำเนินการจัดตั้งกองทุนได้ การซื้อคืนจะมีการเจรจากับเอกชนแต่ละราย เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งสัญญาสัมปทาน บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส จะสิ้นสุดในปี 2572 ตรงนี้ก็ต้องมาดูว่าเหลือสัญญาอีกกี่ปี แต่ละปีเอกชนมีกำไรเท่าไร แล้วก็เจรจากัน รวมไปถึงจะต้องมีการจ่ายค่าจ้างเดินรถให้เอกชนด้วย เพราะจะปรับรูปแบบจากสัมปทานเป็นการจ้างวิ่งแทน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising