วันที่ 10 กันยายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญคือ ‘วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก’ (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ. 2003 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2546 ของไทย
ปัญหาการฆ่าตัวตายไม่เคยหมดไปจากสังคมไหน แม้แต่สังคมไทย ที่นับวันยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การฆ่าตัวตายกลายเป็นทางออกของการแก้ปัญหาชีวิต
ปีนี้ องค์การอนามัยโลกมีการรณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยกำหนดคำขวัญของวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกในปีนี้ว่า
‘เพียงนาที ชีวิตเปลี่ยน’ (Take a Minute, Change a Life)
ประเทศไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 2 ชั่วโมง ต่อ 1 คน
คนที่มีความคิดฆ่าตัวตายนั้น มักจะเป็นผู้ที่ความทุกข์อย่างท่วมท้น ไม่สามารถที่จะสื่อสารด้วยวิธีอื่น โดยตกอยู่ในสภาพที่ทนทุกข์ทรมาน จึงเลือกทางออกสุดท้ายที่จะจบชีวิตตัวเองลง หากเปรียบเทียบความรู้สึก ณ เวลานั้น ก็คงเหมือนอยู่ในอุโมงค์มืดเพียงลำพัง จะให้ตระหนัก ตื่นเต้น ตกใจกับปัญหานี้ว่ามากมายขนาดไหน จำเป็นต้องเอาตัวเลขสถิติต่างๆ มากางให้เห็น เพราะตัวเลขเหล่านี้ผ่านการเก็บรวบรวมโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด
ผศ. ดร. ปราการ ถมยางกูร นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า ปัจจุบันการพยายามฆ่าตัวตายในประเทศไทยอยู่ที่ 30,000-40,000 รายต่อปี และอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6 ต่อ 100,000 ประชากร หรือปีละ 4,000 คน หรือคิดเป็น 2 ชั่วโมง ต่อ 1 คน
ขณะที่องค์การอนามัยโลก รายงานว่า เมื่อมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน จะมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 6 คนขึ้นไป
ดังนั้น ในปีหนึ่งจะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการฆ่าตัวตายโดยตรงอย่างน้อย 24,000 คน ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ เพื่อน และพบว่า 10% ของผู้ที่ได้ฟังหรืออ่านข่าวจะเกิดความสะเทือนใจและเศร้าเสียใจตามไปด้วย
มีการวิจัยในประเทศอังกฤษพบว่า เมื่อผู้มีชื่อเสียงฆ่าตัวตาย จะมีผู้ลอกเลียนแบบและฆ่าตัวตายตาม ดังนั้น ข่าวการฆ่าตัวตายจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้รับข่าว
และสำหรับวิธีการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่นั้น นพ. ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า มักจะใช้วิธีการแขวนคอมากถึงร้อยละ 80.4 รองลงมาคือกินยากำจัดวัชพืชและยาฆ่าแมลง ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร รองลงมาคือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รายงานการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2558 พบว่า ประเทศไทยมี 10 จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายต่อประชากรหนึ่งแสนคนสูงตามลำดับดังนี้ จังหวัดลำพูน, แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, น่าน, เชียงใหม่, แพร่, ตาก, ตราด, เลย และลพบุรี โดยพบว่าจังหวัดลำพูนนั้น อยู่ที่ 19 คน ต่อ 100,000 คน
ปัจจุบันปัญหาการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากรายงานอุบัติการณ์ฆ่าตัวตายของประชากรโลกในปัจจุบันขององค์กรอนามัยโลก พบว่าในระยะเวลา 46 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มร้อยละ 60 จึงมีการคาดการณ์ไว้ว่า ปี 2563 ทั่วโลกจะมีผู้ฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.53 ล้านคน และมีผู้พยายามฆ่าตัวตายอีกประมาณ 10-20 เท่า ของผู้ฆ่าตัวตาย นั่นคือจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 20 วินาที และพยายามฆ่าตัวตาย 1 คน ทุก 1-2 วินาที
‘สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อหมอ’ ช่วยให้รอดฆ่าตัวตาย
จะรู้ได้อย่างไรว่าคนใกล้ตัวเรามีภาวะที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย แล้วเราจะมีวิธีรับมือหรือป้องกันสิ่งที่ไม่คาดคิดที่จะเกิดในอนาคตได้อย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้ทั้งคนที่เรารักและบุคคลอื่นๆ ที่ใกล้ชิด ต้องเผชิญกับความรู้สึกในใจต่างๆ ที่จะตามมา
น.ต.นพ. บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เคยแสดงความคิดเห็นต่อการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ในลักษณะหุนหันพลันแล่นว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายมักจะส่งสัญญาณเตือนมาก่อน ทั้งจากคำพูด การเขียนจดหมาย การส่งข้อความสั้น (SMS) การไลน์ หรือการโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
ซึ่งคนที่อยากฆ่าตัวตาย หรือ ทำร้ายตัวเองมักจะมีความลังเล พะวักพะวน การช่วยเหลือในระยะนี้ จึงมีความสำคัญและเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตายที่ดีที่สุดจากคนใกล้ชิด ตามหลัก 3 ส. ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ได้แก่ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อให้บุคลากรด้านสุขภาพจิตช่วยดูแลต่อ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลจิตเวชก็ตาม
นพ. ปราการ บอกอีกว่า นอกจากคนที่ฆ่าตัวตายจะต้องจบชีวิตลงแล้ว ผลกระทบของผู้ที่มีผู้ใกล้ชิดเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายนั้น มักจะมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างน้อยต่อไปอีก 6 คน จากการฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส พ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อนสนิท กลายเป็นความรู้สึกผิดเกิดขึ้นในใจทุกคนได้ เพราะทุกคนย่อมคิดว่าตนเองมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่รู้สึกช็อก มึนชา ทำอะไรไม่ถูก ไม่เชื่อตาเชื่อหูตัวเอง และความเศร้าต่างๆ เหล่านี้ อาจนำไปสู่ความรู้สึกละอาย เป็นตราบาปในชีวิต
“ต้องทำให้ผู้ได้รับผลกระทบตรงนี้เข้าใจว่า ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้จริงๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต และต้องให้เขาผ่านพ้นความรู้สึกที่คิดว่าจะถูกตราหน้าหรือเป็นตราบาปในชีวิตไปให้ได้ บางคนถึงขนาดย้ายที่อยู่ ไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลาหลายปี หรือแม้แต่จบชีวิตตัวเองก็มี ตรงนี้ต้องหาวิธีให้เขาดีขึ้นให้เร็วที่สุด ช่วยกันดึงออกมาจากมุมมืดของความเศร้า ให้กลับเข้ามาอยู่ในสังคมตามเดิม”
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบผ่านพ้นความรู้สึกผิดเหล่านั้นไปให้ได้ และการรักษาแผลใจที่ดีคือ การระลึกถึงส่วนที่ดีของผู้ที่จากไป และพยายามที่จะสานต่อสิ่งดีๆ ที่ผู้ตายเคยทำไว้ และให้เขารู้ว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ แม้จะเสียคนที่รักไปแล้ว
แชร์ประสบการณ์ บอกเล่าวินาทีคิดจบชีวิต และวิธีผ่านพ้น
เคสที่ 1 : ไลลา หรือ อัญชลี อินทรผล พิธีกรและนักจัดรายการวิทยุ แชร์ประสบการณ์ของเธอต่อวินาทีที่คิดจะฆ่าตัวตายว่า
“เรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นความทรงจำที่งดงาม แม้ว่าจะเป็นเรื่องสุข ทุกข์ แม้แต่บางเรื่องที่ไม่อยากพูดถึง เราก็ต้องผ่านมันไปให้ได้ การเป็นนักจัดรายการวิทยุ ชีวิตจะอยู่กับจินตนาการ ไม่ได้อยู่กับหลักธรรมชาติของชีวิต เราต้องสวมบทบาทให้คุณผู้ฟังมีความสุข ชีวิตนักจัดรายการความจริงก็เป็นทุกข์มาก เรามีความสำเร็จในเรื่องงาน แต่สิ่งที่สูญเสียคือสถาบันครอบครัว ต้องหย่าขาดจากสามี และมีความคิดว่าอยากฆ่าตัวตาย
“แต่เราคิดว่า ตัวเรายังมีคุณค่า มีแฟนคลับ มีคุณพ่อคุณแม่ แล้วทำไมเราจะไม่ไปทำงานที่เรารัก เราต้องมีชีวิตอยู่เพื่อคนหลายๆ คน และต้องมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเราด้วย ตัดสินใจไปหย่า ขอบคุณและยิ้มให้กับเขาที่มาเติมเต็มชีวิตเราช่วงหนึ่ง และเดินหน้าชีวิตต่อไป เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับตัวเอง ทำเพื่อตัวเอง”
เคสที่ 2 : หลายๆ อย่างเกิดขึ้น เนื่องจากการสูญเสียคนที่รัก สูญเสียคุณพ่อ ตอนนั้นจบปริญญาตรีได้เพียง 9 วัน ได้มาอยู่ดูแลท่านเพียงเท่านั้น ช่วงที่คุณพ่อไม่สบายก็ไม่มีโอกาสได้กลับไป ตอนกลับไปคุณพ่อก็อยู่ในภาวะที่จำไม่ได้แล้วว่าเราคือใคร สติของคุณพ่อไม่มีเราในสารบบ ก็กลัวว่าตื่นมาจะไม่เจอคนที่รักเราอีกแล้ว จะมีใครดูแลเรา แล้วเราจะอยู่ต่อไปอย่างมั่นคงได้อย่างไร เราจึงต้องลุกขึ้นมาทำให้ตัวเราเองเข้มแข็ง
เคสที่ 3 : เคยมีญาติที่ทำร้ายตัวเอง แต่ยังห่วงลูกของเขาที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะพ่อของเขาทำตามภรรยาที่เสียชีวิตไป เวลาคุยเรื่องนี้กับลูกเขาทีไร ก็จะถูกปฏิเสธว่า รู้แล้ว ไม่ต้องคุยอีก ก็ยังเป็นห่วงเขา
เคสที่ 4 : คบกับแฟนมา 13 ปีตัดสินใจแต่งงานและใช้ชีวิตอยู่ได้แค่ 6 เดือนก็เลิกกัน มือที่สามคือเพื่อนของเราสองคน ทุกวันนี้อยู่คนเดียว แต่ฝ่ายชายยังวนเวียนอยู่ในสมองเรา เวลาทำอะไรคนเดียวจะไม่กล้า กลัว เพราะที่ผ่านมามีเขาอยู่เคียงข้างตลอด คิดว่าสักวันเขาต้องโทรหาเรา เราแยกกันได้เกือบปี แต่ชีวิตยังผูกพันกับเขาอยู่ ไม่กล้านอนคนเดียว ทุกครั้งที่กลับบ้านจะมองจุดพักรถ แล้วมองลงไปข้างล่าง จะกระโดดลงไป แต่ก็ตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่า พิการหรือตายไปเลย แต่ก็กลัวพ่อแม่จะเป็นทุกข์ ใครจะดูแล เก็บกด หลงทาง สับสน
นี่เป็นเพียง 4 ตัวอย่างที่เรายกมาให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริง ของผู้ที่ตกอยู่ในภาวะที่มีความทุกข์ท่วมท้น และคิดฆ่าตัวตาย บางคนสามารถที่จะก้าวผ่านมาได้ บางคนก็ยังคงต้องใช้เวลา ขณะที่บางคนได้รับผลกระทบจากภาวะความใกล้ชิดต่อผู้เสียชีวิต
สมาคมสะมาริตันส์-สายด่วนสุขภาพจิต ช่วยท่านได้
หากเราสามารถที่จะยืดเวลาให้ผู้ที่มีความทุกข์ท่วมท้น จนคิดจะหาทางออกด้วยการ ‘ฆ่าตัวตาย’ ได้ เพื่อนำเขาไปพบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพื่อให้มีทางออก มีทางระบายทุกข์ ก็อาจจะทำให้เขาคิดได้และยับยั้งชั่งใจตัวเอง เพื่อให้หาทางออกที่มีความสุขในภายภาคหน้า ก็จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากคนใกล้ชิดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากไม่รู้ว่าจะติดต่อไปที่ใด
สายด่วน กรมสุขภาพจิต พร้อมให้บริการรับปรึกษาปัญหาชีวิต กดโทรไปที่หมายเลข 1323
หรือสามารถโทรไปขอรับคำปรึกษาได้ที่ สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย หมายเลข 0 2713 6793 ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น.
ถึงตรงนี้อาจมีผู้สงสัยว่า สมาคมนี้ก่อตั้งขึ้นมาอย่างไร เกี่ยวข้องอะไรกับการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต
พ.ต. หญิง ดร. พนมพร พุ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์ อธิบายว่า สะมาริตันส์ คือสมาคมที่ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย อาสาสมัครมาจากหลากหลายอาชีพ ผลัดเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ การทำงานของสมาคมตั้งอยู่บนหลักการว่า จะไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา ปรัชญาหรือลัทธิการเมืองใดๆ
เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2496 ปัจจุบันมีศูนย์อยู่ทั่วโลกมากกว่า 400 แห่งใน 39 ประเทศ
สะมาริตันส์ในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2521 โดยท่าน ศ.นพ. อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ได้ริเริ่มจากการรวมตัวของอาสาสมัครไทย และต่างประเทศจำนวน 40 คน และดำเนินงานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
“เนื่องจากบริการเป็นเรื่องของโทรศัพท์ เราจะไม่มีการขอเบอร์ติดต่อกลับจากผู้ที่โทรมา แต่มีข้อยกเว้นในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง มีเคสหนึ่งโทรมาและบอกว่ากำลังเอาปืนจ่อขมับตัวเองอยู่ เราต้องค่อยๆ พูดคุยกับผู้ที่โทรมา และแต่ละวันก็มีผู้โทรเข้ามาจำนวนมาก มีการจัดอบรมอาสาสมัครเพื่อให้เข้ามาช่วยงานตรงนี้ด้วย”
นพ. ณัฐกร กล่าวโดยสรุปต่อปัญหานี้ว่า สำหรับคนที่มีภาวะคิดฆ่าตัวตายส่วนหนึ่งตัดสินใจแล้ว ส่วนหนึ่งลังเลอยู่ ส่วนที่ยังลังเลนั้น เป็นช่วงที่ญาติเข้ามาช่วยได้ ห้วงภาวะอารมณ์เศร้า คิดอะไรไม่ออก ต้องการสิ่งสนับสนุนจากภายนอก การที่ได้เข้าไปเคียงข้าง แม้เพียงการรับฟังอย่างเดียวก็ช่วยได้มหาศาล แม้ช่วง 24 ชม. ก็ถือว่าสำคัญมากแล้ว เพียงแค่สละเวลาเพียงน้อยนิดก็สามารถเปลี่ยนชีวิตผู้คนได้
ผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตายส่วนมาก จะสามารถมองเห็นคุณค่าในตัวเองได้ คนที่ไม่เห็นคุณค่า (self-esteem) คือคนที่ไม่ได้รับคำขอบคุณเป็นเวลานานมาก คือ มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเขา เพราะฉะนั้น อย่ามองข้ามการกล่าวคำว่าขอบคุณ มันช่วยทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเองได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ
เพราะเพียงนาทีที่เราใส่ใจ รับฟัง
ชีวิตเขาอาจเปลี่ยนไปตลอดกาล
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan
- ข้อมูลนี้มาจากโครงการสัมมนาการป้องกันการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ณ โรงพยาบาลราชวิถี และอ้างอิงจากฐานข้อมูลกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข
- นพ. ปราการ ถมยางกูร รณรงค์ให้สื่อมวลชน ใส่ข้อความใต้ข่าวการฆ่าตัวตายทุกข่าวว่า ‘เมื่อมีปัญหาชีวิตโปรดโทรปรึกษา สายด่วน กรมสุขภาพจิต 1323’
- นพ. ณัฐกร จำปาทอง เชิญชวนให้ดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน Sabaijai (สบายใจ) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันช่วยประเมินสภาวะทางด้านจิตใจที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง เพื่อเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตาย