×

หุ้นไทยจะเข้าสู่ตลาดกระทิงครั้งใหม่ หากวิ่งไปถึง 1,530 จุด แต่พื้นฐานอาจยังไม่เอื้อในระยะสั้น

19.11.2024
  • LOADING...

หุ้นไทยวิ่งเข้าสู่ตลาดหมี (Bear Market) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ก่อนที่ดัชนี SET จะร่วงลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปีที่ระดับ 1,273.17 จุด เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 

 

หลังจากเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยให้หุ้นไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง จนทำให้ดัชนีพุ่งขึ้นกว่า 200 จุด ภายในระยะเวลา 2 เดือน และสามารถยืนอยู่ในกรอบ 1,440-1,500 จุด ได้ค่อนข้างแข็งแกร่ง 

 

หนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ว่านี้คือการระดมทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ครั้งใหม่ ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนผ่านนักลงทุนสถาบันในประเทศระดับ 1.5 แสนล้านบาท เข้ามาหนุนแรงซื้อในตลาดหุ้นไทย 

 

สิ่งที่น่าสนใจคือการปรับตัวขึ้นของหุ้นไทยในรอบนี้จะแข็งแกร่งมากพอที่จะกลายเป็นตลาดกระทิง (Bull Market) ครั้งใหม่หรือไม่

 

1,530 จุด เส้นเขตแดนตลาดกระทิง

 

ตามความเข้าใจโดยทั่วไปแล้ว ตลาดหมีจะเกิดขึ้นเมื่อดัชนีร่วงลงจากจุดสูงสุด 20% และตลาดกระทิงครั้งใหม่จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อดัชนีฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดกลับมา 20% ซึ่งหมายความว่าดัชนี SET จะต้องกลับมาอยู่ที่เกือบ 1,530 จุด เพื่อเป็นการยืนยันว่าหุ้นไทยออกจากตลาดหมีและเข้าสู่ตลาดกระทิง 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า หากประเมินจากปัจจัยพื้นฐานด้านต่างๆ ของหุ้นไทย ต้องยอมรับว่าการที่ดัชนี SET จะวิ่งทะลุ 1,500 จุด ในสิ้นปีนี้ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก 

 

ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปชัดเจนจากช่วงก่อนหน้านี้คือกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนไทยปีนี้ ซึ่งถูกปรับลดลงมาเหลือ 88.1 บาทต่อหุ้น อิงจาก Bloomberg Consensus เมื่อคำนวณกับค่าเฉลี่ย P/E ที่ 16.7 เท่า จะได้ดัชนีเหมาะสมที่ระดับ 1,470 จุด 

 

ส่วนปีหน้ามีโอกาสที่จะเห็นหุ้นไทยวิ่งทะลุ 1,500 จุด ขึ้นไปได้ หากพิจารณาจากคาดการณ์กำไรต่อหุ้นปีหน้าซึ่งอยู่ที่ 99.3 บาทต่อหุ้น จะทำให้ดัชนีเหมาะสมตามวิธี Earning Yield Gap อยู่ที่ 1,660 จุด 

 

“โดยปกติแล้วคาดการณ์กำไรของหุ้นไทยจะเริ่มต้นปีในระดับที่สูงกว่า 100 บาทต่อหุ้น แต่ปีหน้าต่ำลง เนื่องจากกำไรของหุ้นกลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมีที่ย่ำแย่ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ข้อดีคือหากราคาน้ำมันไม่ต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหน้า กำไรของกลุ่มนี้ก็ไม่น่าจะย่ำแย่อีกแล้ว แต่สิ่งที่ต้องระวังคือหากสงครามการค้าโลกรุนแรงขึ้น อาจกระทบต่อการส่งออกของไทย” 

 

วายุภักษ์ + ThaiESG แรงหนุนหุ้นไทยปลายปี

 

แรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันผ่านกองทุนวายุภักษ์และกองทุน ThaiESG ยังคงเป็นแรงหนุนสำคัญในตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน 

 

อย่างไรก็ตาม ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ไม่ได้เปิดเผยว่าปัจจุบันเงินลงทุนของกองทุนวายุภักษ์เหลืออยู่เท่าใด แต่ยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้าลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะในจังหวะที่ตลาดหุ้นไทยย่อตัว 

 

นอกจากนี้ กองทุน ThaiESG ที่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2566 จะเข้ามาเป็นอีกแรงหนุนสำคัญ โดยปีนี้กองทุน ThaiESG มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 42 กองทุน จากปีก่อนที่ 22 กองทุน และอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 46-47 กองทุน ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (AUM) รวมทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 6.4 พันล้านบาท มาเป็นเกือบ 1.2 หมื่นล้านบาท 

 

ส่วนปลายปีนี้คาดว่าจะเห็นยอดเงินลงทุนใหม่ไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท หลังจากที่กองทุนใหม่มีความน่าสนใจมากขึ้น ทั้งการลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี จากเดิม 8 ปี และเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีเป็น 300,000 บาท จากเดิม 100,000 บาท 

 

ทั้งนี้ หุ้นไทยในกลุ่ม ESG ปัจจุบันมี 229 ตัว เพิ่มขึ้นจาก 193 ตัวในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งโดยปกติแล้วกองทุนต่างๆ จะคัดกรองอีกชั้นหนึ่ง และเหลือหุ้นที่จะเลือกลงทุนประมาณ 50-60 ตัว โดยหมุนเวียนลงทุนไปตามปัจจัยต่างๆ เช่น มูลค่าหุ้น 

 

ต่างชาติขายสุทธิ 1.3 แสนล้านบาท 

 

หนึ่งในปัจจัยกดดันสำหรับหุ้นไทยเวลานี้คือแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมูลค่าการขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีจนถึง ณ วันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.32 แสนล้านบาท 

 

ตลอดเวลาเกือบ 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นไทยไปแล้ว 4.8 แสนล้านบาท โดยมีเพียงปีเดียวที่ซื้อสุทธิคือปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 2.02 แสนล้านบาท 

 

ด้าน บล.บัวหลวง ระบุว่า กระแสการลงทุน (Fund Flow) ใน 5 ประเทศ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดขายสุทธิ 4,826 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากยอดขายสุทธิ 542 ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ก่อนหน้า และเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน 

 

โดยมีแรงขายสุทธิทุกประเทศ ได้แก่ ไทย 123 ล้านดอลลาร์, อินโดนีเซีย 293 ล้านดอลลาร์, ฟิลิปปินส์ 102 ล้านดอลลาร์, ไต้หวัน 3,078 ล้านดอลลาร์ และเกาหลีใต้ 1,230 ล้านดอลลาร์ 

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดัน หลังจากผลประกอบการไตรมาส 3 ของหลายบริษัทออกมาไม่ดีเท่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปรับคาดการณ์กำไรของ SET ในปี 2567 และ 2568 ที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับประมาณการในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมของตลาดมีความเปราะบางมากขึ้น โดยปัจจุบันแรงขายกำลังแผ่ขยายไปในหุ้นหลากหลายกลุ่ม แต่การที่ SET ยังคงยืนอยู่ได้นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการประคองตัวของหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่

 

ภาพ: spxChrome / Getty Images 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising