บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกเช้านี้ (29 สิงหาคม) ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกันถ้วนหน้า สำหรับตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET เปิดตลาดที่ 1,619.86 จุด ลดลง 24.92 จุด หรือ 1.5%
ขณะที่ตลาดหุ้นในเอเชียอื่นๆ ต่างปรับตัวลดลงเช่นกัน เช่น Nikkei 225 ญี่ปุ่น -2.8%, KOSPI เกาหลีใต้ -2.2%, Taiwan Weighted ไต้หวัน -2.1%, IDX Composite อินโดนีเซีย -1.1%, Hang Seng ฮ่องกง -1%, China A50 จีน -1%
ขณะที่ตลาดหุ้นฝั่งตะวันตกที่สำคัญอย่างสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงกว่า 3% จากแรงกดดันที่เกิดขึ้นหลังการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
Gary Dugan ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Global CIO ประจำสิงคโปร์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่าตลาดหุ้นเอเชียจะถูกกดดันมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับทิศทางของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม โมเดลด้านควอนท์ของเราส่งสัญญาณขายระยะสั้นในตลาดหุ้น
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ถ้อยแถลงของ Jerome Powell ประธาน Fed ที่แสดงความมุ่งมั่นในการควบคุมเงินเฟ้อผ่านการใช้นโยบายการเงินตึงตัวเชิงรุก ทำให้คาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบเดือนกันยายน 2565 ที่ 0.75% และคาดดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 2565 ที่ 4% ทำให้เกิดอาการ Panic Sell ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และจะสร้างแรงกดดันมายังตลาดหุ้นไทยให้เกิด Panic Sell ตามมาได้
อย่างไรก็ตาม พิจารณาจากสถานการณ์ในประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ประเมินดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 2565 ที่ราว 1.25% ส่วนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็มีการปรับขึ้น ภาวะดังกล่าวทำให้ Market Earning Yield Gap สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 4.5-4.6% เทียบกับตลาดโลกที่อยู่ราว 2.3% ณ สิ้นปี น่าจะส่งผลให้ Fund Flow มีโอกาสไหลเข้าในระยะต่อไป
นอกจากนี้ ประธาน Fed ยังกล่าวเสริมอีกว่า การขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป “อาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่มากกว่าปกติ” โดยทางด้าน FedWatch Tool ได้ให้โอกาสสูงถึง 64% ในการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่ +0.75% และมองอัตราดอกเบี้ยปลายปี 2565 ที่ระดับ 4%
ทั้งนี้ คาดว่าดัชนี SET มีแนวรับบริเวณ 1,617 จุด และ 1,610 จุด ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาลักษณะการขึ้นดอกเบี้ยของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละประเทศควรจะกดดันตลาดหุ้นไม่เท่ากัน โดยวัดจากระดับ Market Earning Yield Gap
และด้วยสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยจากต่างชาติยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ มีช่องว่างให้ไหลเข้ามาได้อีก ปัจจุบันต่างชาติทยอยซื้อสุทธิสะสมหุ้นไทยต่อเนื่องในปีนี้ 1.7 แสนล้านบาท แต่สัดส่วนการถือครองทางตรงต่ำอยู่ยังไม่ถึง 22% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 26.2%