ตลาดไทยในช่วงที่ผ่านมาเผชิญแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกจนปรับตัวลดลงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามงัดโครงการ Jump+ กระตุ้นตลาดหุ้นในระยะกลาง แต่จะเพียงพอหรือไม่ที่จะดัน SET Index วิ่งไปถึง 2,000 จุด
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ Head of Economic Research หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า สำหรับมุมมองต่อโครงการ Jump+ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถือเป็นมาตรการกระตุ้นตลาดทุนในระยะกลางที่ดี โดยสนับสนุนการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 2 รูปแบบหลัก ดังนี้
- มีการยกเว้นภาษีกำไรส่วนเพิ่มที่เกิดระหว่างการเข้าร่วมโครงการในระยะเวลา 3 ปี หากสามารถเติบโตได้ทำแผนที่วางไว้
- นิรโทษกรรมภาษี หรือ ยกเว้นภาษีการเก็บย้อนหลังสำหรับบริษัทนอกตลาดหุ้นที่ถูกควบรวมกิจการ (M&A) ในโครงการ
โดยจะเริ่มดำเนินการโครงการในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ซึ่งตั้งเป้าหมายจะมี บจ. ที่จะเข้าร่วมในเฟสแรกจำนวน 50 ราย
อย่างไรก็ดี InnovestX ประเมินว่ามี 3 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผลักดันให้หลักทรัพย์เติบโตได้ ได้แก่
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
- โมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่งของ บจ.
- การกำกับดูแลกิจการที่ดี (ธรรมาภิบาล)
เป็นไปได้แค่ไหนหากหุ้นไปจะวิ่งไปไกลถึง 2,000 จุด
สำหรับโครงการ Jump+ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในโมเดลธุรกิจของ บจ. ในการวางแผนและบรรลุตามแผนธุรกิจที่วางไว้ ซึ่งมีความสอดคล้องกับปัจจัยสำคัญในข้อที่ 2. คือโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับ บจ. ที่เข้าโครงการ Jump+ หากสามารถทำได้ตามแผนและเป้าหมายธุรกิจที่วางไว้ในการสร้างการเติบโตของธุรกิจ
อย่างไรก็ดี ภาพของโครงการ Jump+ ที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีแต่เห็นว่าควรมีการดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างธรรมาภิบาลที่ดีด้วย
นอกจากนี้ คาดว่าในไม่ช้ากระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมที่จะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและยกระดับธรรมาภิบาลของตลาดทุนไทยในหลายประเด็นสำคัญ เช่น
- การกำกับดูแลการซื้อขายโดยเฉพาะการขายชอร์ต หรือในกรณีการทำ Neked Short Selling
- การคุ้มครองผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นกู้เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติหุ้นกู้ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
- การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายผ่านการตั้งหน่วยสอบสวนคดีพิเศษให้กับสำนักงาน ก.ล.ต.
หวังโครงการ Jump+ ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นระยะกลาง
ดร.ปิยศักดิ์ กล่าวต่อว่าทั้งจากโครงการ Jump+ และแนวคิดในการออก พ.ร.ก.คาดว่าจะสามารถช่วยเรียกความเชื่อมั่นกลับมาดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับแนวนโยบายดังกล่าวมีความคล้ายกับนโยบายธนูสามดอก (Three Arrows) ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ หรือ Abenomics ที่มีดำเนินการในช่วงปี 2555-2560
ทั้งนี้ นโยบายธนูสามดอกจะประกอบไปด้วยสามด้านได้แก่
- นโยบายด้านการเงิน โดยมีการดำเนินการนโยบาย Quantitative Easing (QE) รวมทั้งมีการลดดอกเบี้ยลงเหลือระดับ 0% ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนช่วยกระตุ้นภาคการส่งออกของญี่ปุ่นให้เติบโตและเศรษฐกิจให้เติบโต
- นโยบายด้านการคลัง มีการช่วยปรับลดภาษีให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก รวมทั้งมีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อปรับสมดุลในภาคการคลัง
- นโยบายเชิงโครงสร้างในการปฏิรูปภาคธุรกิจของญี่ปุ่น ซึ่งคล้ายกับโครงการ Jump+ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งสามารถหากสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาได้จะทำให้ต้องลงทุนหันกลับมาลงทุนแต่ต้องมากับการควบคู่กับมาตรการที่หนึ่งในการเสริมสร้างธรรมาภิบาล
โดยนโยบายเชิงโครงสร้างในการปฏิรูปภาคธุรกิจของญี่ปุ่นกำหนดให้ บจ. ของญี่ปุ่นมีการเพิ่มจำนวนคณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัท โดยให้มีการเพิ่มบอร์ดที่มาจากคนนอก โดยเฉพาะบอร์ดที่มาจากสุภาพสตรี เพราะจะมีความละเอียดในการจัดทำแผนคัดกรองธุรกิจของบริษัท
ทั้งนี้เพื่อให้ บจ. ของญี่ปุ่น มีการทำแผนธุรกิจที่ชัดเจนในการสร้างการเติบโตไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อเสริมสร้างการตรวจสอบและถ่วงดุล เพื่อสร้างให้ธรรมาภิบาลของ บจ. ญี่ปุ่น ให้ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งมีมาตรการบังคับและมีบทลงโทษ
สูตรธนูสามดอก ดันตลาดหุ้นญี่ปุ่นโต 95%
โดยนโยบายดังกล่าวของของญี่ปุ่นส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นสามารถเติบโตได้ประมาณ 95% ในช่วง 5 ปีจากระดับ 8,700 จุด ขึ้นไปสู่ระดับ 17,000 จุด ในปี 2560
อย่างไรก็ดี ประเมินว่าหากโครงการ Jump+ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถสัมฤทธิ์ผลได้จะต้องดำเนินการไปพร้อมกันทั้ง 3 ปัจจัย พร้อมกันจึงจะมีโอกาส
โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญ ปัจจัยที่ 1 คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยหาก Real GDP สามารถเติบโตได้ 5%
ปัจจัยที่ 2 มีการตั้งเป้าหมายการเติบโตของ บจ. ขั้นต่ำ เช่น จะต้องมีการเติบโตอย่างน้อย 5% ต่อปีติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 ปี
ปัจจัยที่ 3 มีการยกระดับธรรมาภิบาลผ่านโมเดลของทั้ง พ.ร.ก. ที่ออกมาหรืออาจคล้ายกับของญี่ปุ่น
ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการพร้อมกันได้ทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าว และหากความเชื่อมั่นกลับมาตามโมเดลของ InnovestX ก็มีความเป็นไปได้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่อยู่ 1,250-1,300 จุด โดยมีโอกาสที่จะวิ่งไปแตะระดับ 2,000 จุดได้ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยค่า PE มีโอกาสเพิ่มจากระดับ 14 เท่าไปเป็น 18 เท่า
“แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าทั้งสามปัจจัยสำคัญของไทยมีปัญหาหมดเพราะรัฐบาล, ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ แก้ปัญหาได้เพียงแค่ปัจจัย 2 ข้อแรก ส่วนข้อที่ 1 คือ การฟื้นตัวเศรษฐกิจต้องอาศัยภาพที่ใหญ่กว่านั้น”
เปิดเหตุผล GDP ไทยปี 2567 โตพลาดเป้า
ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ รายงาน GDP ไตรมาส 4/2567 ของไทยออกมาขยายตัว 3.2% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่จะขยายตัว 3.9% และยังต่ำกว่าที่ InnovestX คาดไว้ด้วยที่ที่ขยายตัว 3.6% โดยทั้งปี 2557 สภาพัฒน์รายงานว่า GDP ของขยายตัวอยู่ที่ 2.5%
สำหรับปัจจัยที่กดดันหลักของ GDP ไทย มีดังนี้
1.การหดตัวรุนแรงของสินค้าคงคลัง เช่น กลุ่มสินค้าน้ำตาล, พลาสติก,ยางสังเคราะห์, ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม, ยานยนต์, เครื่องประดับอัญมณี เนื่องจากผู้ผลิตจะมีความกังวลถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคตสะท้อนจากข้อมูลตัวเลขดัชนีภาคอุตสาหกรรมที่มีการหดตัวต่อเนื่องก่อนหน้านี้มายาวนาน
2.การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2567 มีการหดตัว 2.1% สะท้อนถึง โดยมีการหดตัวทางภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและเครื่องจักร
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่มีความเปราะบาง
ส่วนมีปัจจัยบวกจากดังนี้
- การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวสูง อย่างไรก็ดี แรงส่งของการลงทุนภาครัฐเริ่มมีแนวโน้มทยอยลดลง
- การส่งออกภาคบริการที่แข็งแกร่งโดยมีการเติบโตในระดับ 23% มาจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน
- การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี ขณะที่การนำเข้ายังคงฟื้นตัวต่อเนื่องเช่นกันซึ่งหลายสินค้าเป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีนที่เพิ่มมากขึ้น
- การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งจากการบริโภคสินค้าที่ไม่คงทน, กึ่งคงทน และบริการ แต่การบริโภคสินค้าคงทนหดตัวแรง ในระดับ 9.5% และเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า และต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าสะท้อนกำลังซื้อที่อ่อนแอจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงรายได้ที่ฝืดเคืองและความมีภาวะตึงตัวทางการเงิน
สำหรับด้านภาพการผลิต มีดังนี้
- ภาคการเกษตรฟื้นตัวครั้งแรกในรอบห้าไตรมาส
- ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อย แต่สินค้าอุตสาหกรรมทุนและเทคโนโลยีหดตัวรุนแรง
- ภาคบริการหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสาขาการก่อสร้างจากการใช้จ่ายภาครัฐและที่พักและโรงแรมและร้านอาหาร
เปิด 2 ประเด็นเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจไทย ปี 2568
สำหรับมุมมองต่อประมาณการของสภาพัฒน์ในปี 2568 นี้ซึ่งประเมินว่า GDP ของไทยจะขยายตัวในระดับ 2.3-3.3% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 2.8% โดยคาดว่าการบริโภคเอกชนจะกลับมาขยายตัว 3.3%, การบริโภคภาครัฐจะขยายตัว 1.3%, การลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวมาขยายตัว 3.2%, การลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.7% และการส่งออกจะขยายตัว 3.5%
อย่างไรก็ดี ประมาณการดังกล่าวของสภาพัฒน์มีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีความกังวลจาก 4 ปัจจัย ได้แก่
- สถานการณ์สงครามการค้า (Trade War) จากผลกระทบของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบ GDP ของประเทศไทยในปีนี้ถึง 0.5-0.6% ถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม
- การแข่งขันที่รุนแรงจากจีนที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านล้านบาท โดยไทยเริ่มมีแนวโน้มการขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้น หลังจากสินค้าของจีนที่มีการทุ่มตลาดเข้ามาในประเทศไทย
- ความเข้มงวดสถาบันการเงินท่ามกลางปัญหาหนี้เสีย (NPL) และสินเชื่อที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน (SML) ที่สูงโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี
- ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความชัดเจนขึ้นสะท้อนจากดัชนี PMI ของโลกที่ลดลงต่ำสุดในรอบปี และยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่หดตัวแย่กว่าที่คาด
ดร.ปิยศักดิ์ กล่าวต่อว่า ยังมีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จาก 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
- จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้าโดยประเมินว่าสงครามการค้าแบบภาษีในภาพรวมจะทำให้ปริมาณการค้าของโลกลดลง และมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยในภาพรวม ส่งผลให้ InnovestX มีการปรับประมาณการการส่งออกในปีนี้จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0.1% เป็นติดลบ 1%
- ความตึงตัวของนโยบายการเงินซึ่งทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจมีปัญหา ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อทั้งการบริโภคและการลงทุนในประเทศ
ดังนั้นจึงปรับประมาณการการบริโภคในปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.2% ลงมาเหลือขยายตัว 0.5% และ และปรับคาดการณ์การลงทุนภาคเอกชนจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.9% มาเป็นติดลบ 0.2% ทั้งนี้เป็นผลจากนโยบายการเงินที่ตึงตัว
ทั้งนี้ส่งผลให้ InnovestX ประมาณการว่า GDP ไทยในปีนี้จะขยายตัว 2.5% โดยมีความเสี่ยงที่จะเห็นการหดตัวหรือชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ลดดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มชะลอตัวกว่าที่คาดก็ตาม โดย InnovestX จึงปรับประมาณการการลดดอกเบี้ยของ ธปท. ในปีนี้ลงเหลือจำนวน 2 ครั้งโดยคาดว่าการลดดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคมและตุลาคมปีนี้
ภาพ: Bigc Studio / Shuterstock