เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกจึงได้รับผลกระทบ ทั้งการค้าและฝั่งตลาดเงินตลาดทุนก็ได้รับผลกระทบแรงที่สุดในเอเชีย โดยช่วงที่ผ่านมาดัชนีหุ้นปรับลดลงมากกว่า 20% จากช่วงต้นปี
แต่ตลาดหุ้นไทยและค่าเงินบาทหลังจากนี้จะมีทิศทางอย่างไร
ตลาดหุ้นเช้านี้เปิดบวก สวนทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ร่วงแรง
วันนี้ (17 มีนาคม) ผู้สื่อข่าวรายงานจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า วันนี้ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) เปิดตลาดซื้อขาย (10.00 น.) แม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 5.12 จุด มาอยู่ที่ 1,051.20 จุด ในช่วงเวลาราว 10.00 น. จากการปิดตลาดเมื่อวานนี้ที่ระดับ 1,046.8 จุด (ช่วง 10.51 น. ขึ้นไปที่ระดับ 1,068.51 จุด)
บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) ระบุว่าช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินสหรัฐฯ อยู่ในภาวะวิกฤต เมื่อดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 12% ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปีก็ปรับตัวลง 24bps มาที่ระดับ 0.72% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลง 9.6% แตะระดับ 28.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ปัจจัยที่นักลงทุนในตลาดจับตามอง ได้แก่ การใช้นโยบายทางการคลังร่วมกันของกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่ และความเคลื่อนไหวแต่ละประเทศต่อการรับมือการระบาดของโควิด-19 เช่น การปิดกั้นการเดินทางและให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีระยะห่าง ซึ่งแม้จะช่วยลดการระบาดได้ดีที่สุด แต่ก็จะกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัวแรงและนานกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้
ทาง SCBS แนะนำว่ากลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ หากเป็นนักลงทุนที่ยังไม่มีหุ้นให้ Wait & See ขณะที่นักลงทุนที่มีหุ้นอยู่ให้ถือต่อเพื่อรอการฟื้นตัวในระยะถัดไป ขณะที่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก แนะนำให้เล่นจบในวันโดยหาจังหวะที่หุ้นลงลึกและทยอยขายเมื่อดีดตัวรีบาวด์ โดยเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แต่ราคาหุ้นลงแรง เพื่อคาดหวังการฟื้นตัวแรง โดยแนะนำ 5 หุ้นผู้นำธุรกิจไทยคือ AOT, ADVANC, BDMS, BTS และ CPALL ที่ราคาหุ้นลงไปแรง ระมัดระวังหุ้นที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลให้ลดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของกลุ่มคน เช่น MAJOR, IMPACT, GPI
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
หลัง Fed ลดดอกเบี้ย ธนาคารกลางทั่วโลกลดดอกเบี้ย-อัดเงินเข้าระบบ
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) วันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมาได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉินอีก 1% ลงสู่ระดับ 0-0.25% และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 22.48 ล้านล้านบาท) ผ่านการซื้อพันธบัตร ฯลฯ
การลดดอกเบี้ยฉุกเฉินของ Fed เป็นรอบที่ 2 ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศปรับนโยบายการเงินด้วย เช่น
- ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.5% สู่ 0.25% ก่อนกำหนดรอบประชุม
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 50bps ลงสู่ระดับ 0.75% ในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวานนี้
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เริ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลกว่า 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1 แสนล้านเยน) และตั้งเป้าที่จะซื้อ ETF ต่อทันทีในวงเงิน 12 ล้านล้านเยน และ J-REIT ในวงเงิน 1.2 แสนล้านเยน หากตลาดยังคงผันผวน
เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 10 เดือน ล่าสุดแตะระดับ 32.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดการเงินและการลงทุน หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่าค่าเงินบาทวันที่ 17 มีนาคม ปรับตัวอ่อนค่าขึ้นมาที่ระดับ 32.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันคาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวที่ 32.15-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังผันผวนส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ส่วนค่าเงินเยนปรับจากระดับ 108 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐมาที่ระดับ 106 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกยังสูงขึ้น จึงกดดันสกุลเงินเอเชียทั้งหมด ทำให้เงินบาทอ่อนค่าเหนือระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอย่างรวดเร็ว
ในระยะต่อไปจึงต้องจับตาทิศทางของเศรษฐกิจทั่วโลกก่อน เชื่อว่าจะยังคงเห็นนโยบายในเชิงปิดประเทศมากขึ้น ซึ่งจะกดดันเงินบาทและสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป โดยมีประเด็นความหวังคือการใช้นโยบายเศรษฐกิจเชิงบวกร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันก็ดูจะเกิดขึ้นได้ยาก
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่าทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ (16-20 มีนาคม) คาดว่าเคลื่อนไหวในกรอบ 31.70-32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (13 มีนาคม) โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบกว่า 10 เดือน ราคาหุ้นและพันธบัตรที่ร่วงลงรุนแรง
ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ตลาดยังมีความผันผวนสูงตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาด ส่วนปัจจัยในประเทศประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% จากระดับ 1% ในการประชุมตามรอบปกติวันที่ 25 มีนาคมนี้ เพราะภาวะชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังกระทบการจ้างงานในวงกว้างและยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ รวมถึงผู้ดำเนินนโยบายการเงินทั่วโลกเร่งลดดอกเบี้ยสู่ระดับต่ำ
สุดท้ายแล้วปัจจัยหลักที่ทั่วโลกต้องจับตามองคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และเศรษฐกิจในภาพรวม แต่หากการระบาดยังยืดเยื้อออกไป นักวิเคราะห์หลายแห่งมองว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ช่วงปกติ เพราะคนเริ่มคุ้นชินและรับมือกับโรคได้ดียิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์