×

หุ้นไทยไตรมาส 4 ‘ฟื้นตัวจำกัด’ นักวิเคราะห์แนะ เพิ่มน้ำหนักลงทุนธีม Domestic Play ดักอานิสงส์เปิดประเทศ-รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ

04.10.2021
  • LOADING...
Thai stock market

ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยไตรมาส 3/64 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน) ดัชนีปิดการซื้อขาย ณ สิ้นไตรมาส ที่ระดับ 1,605.68 จุด เพิ่มขึ้น 17.89 จุด ปรับตัวขึ้นเพียง 1.13% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/64 ปิดที่ระดับ 1,587.79 จุด 

 

โดยในเดือนกันยายนนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง มูลค่าซื้อสุทธิ 11,137.22 ล้านบาท จากเดือนสิงหาคมที่ซื้อสุทธิ 5,439.71 ล้านบาท ส่วนเดือนกรกฎาคม นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -17,020.08 ล้านบาท 

 

วิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4/64 น่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกเรื่องการเปิดประเทศที่น่าจะเต็มรูปแบบมากขึ้นราวกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงความคืบหน้าในการจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีความชัดเจนและมีจำนวนมากขึ้น

 

ขณะที่ตลาดหุ้นต่างประเทศทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ และจีน ต่างยังมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อ ซึ่งอาจจะทำให้ภาพรวมดัชนีปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก

 

โดยตลาดหุ้นจีนนั้นยังต้องติดตามเรื่องวิกฤตหนี้ Evergrande ว่า รัฐบาลจะมีท่าทีหรือการให้ความช่วยเหลืออย่างไร ขณะเดียวกันยังต้องติดตามเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง เพราะขณะนี้เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อภาคการบริโภคของจีนอ่อนแรง ก็จะกระทบกับภาคการส่งออกของประเทศคู่ค้าไปด้วย 

 

ทั้งนี้ ให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากกว่าตลาดหุ้นต่างประเทศ สัดส่วน 65:35 และจากสัญญาณเชิงบวกดังกล่าว จึงแนะนำกลุ่ม Domestic Play เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ 

 

เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ยังคงเป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้ที่ 1,650 จุด แต่ Best Case อาจจะไปถึง 1,700 จุดได้ ส่วนปี 2565 มองเป้าหมายดัชนีที่ 1,750 จุด บนคาดการณ์ EPS Growth ที่ 13% 

 

วิจิตรกล่าวว่า ในส่วนของ Fund Flow นั้นยังไม่สามารถประเมินได้แน่ชัดว่าจะเป็นเงินไหลเข้าหรือเงินไหลออก แต่เบื้องต้นประเมินว่า ต่างชาติยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบซื้อหุ้นไทย เพราะส่วนมากจะรอให้ภาพการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างชัดเจนก่อน ซึ่ง ณ มุมมองปัจจุบันมองว่า ภาคการท่องเที่ยวยังไม่เริ่มฟื้นตัวอย่างแท้จริง

 

ประกอบกับความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่อ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยน่าสนใจน้อยลง 

 

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในไตรมาส 4 ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยและต่างประเทศในสัดส่วน 50:50 

 

โดยมองปัจจัยบวกในประเทศ ดังนี้

 

  1. นโยบายการเปิดประเทศที่จะเต็มรูปแบบมากขึ้น 
  2. เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 4/64 
  3. เงินลงทุนต่างชาติน่าจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้น
  4. ดัชนีหุ้นไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของนโยบายต่างๆ และราคาหุ้นในปัจจุบันไม่ได้ถูก 

 

“หุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาเรียกได้ว่า Underperform เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ซึ่งดัชนีก็สะท้อนภาพเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา แต่ในไตรมาส 4/64 รวมถึงปี 2565 GDP ไทยน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับ GDP ประเทศสำคัญหลักๆ ทั้งสหรัฐฯ และจีน ที่เริ่มชะลอตัว จึงคาดหวังว่าความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 4 ถึงปีหน้า จะดีกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นต่างประเทศ”

 

ทั้งนี้ แนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศคือ กลุ่มค้าปลีก ซึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและสถานการณ์โควิดคลายตัว และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งจะได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายลงทุนของรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 

 

สำหรับตลาดหุ้นต่างประเทศชื่นชอบตลาดหุ้นจีนมากที่สุด แม้ว่าตอนนี้จะยังมีปัจจัยลบจากกรณีของ Evergrande และความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย แต่ดัชนีก็ย่อตัวลงมามากแล้วเช่นกัน ปัจจุบันซื้อขายบน PE ประมาณ 10 เท่า ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปและอเมริกาซื้อขายบน PE ประมาณ 17-20 เท่า 

 

“ปีนี้ตลาดหุ้นจีนผันผวนมากและย่อตัวลงมาเยอะ หลักๆ มาจากเรื่องการจัดระเบียบและปรับกฎเกณฑ์แต่ละธุรกิจใหม่ ซึ่งเมื่อ Regulatory Risk ตรงนี้จบลง หุ้นก็จะปรับฐานขึ้นมาครั้งใหญ่ ส่วนเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวมองว่าไม่น่ากังวล เรื่องจากรัฐบาลจีนมักจะกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศทุกครั้งที่เริ่มเห็นสัญญาณการอ่อนตัวของ GDP ผ่านการกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศ”

 

ด้าน มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที กล่าวว่า ให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นไทยไม่มาก เนื่องจากอัพไซด์มีค่อนข้างจำกัด​ โดยประเมินเป้าหมายดัชนีที่ 1,650-1,700 จุด ขณะที่ยังมีอีกหลายตัวแปรที่ต้องติดตาม 

 

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำลงทุนเป็นรายกลุ่ม เน้นกลุ่มที่รับอานิสงส์เชิงบวกจากการคลายตัวของโควิดและการเปิดประเทศ ประกอบด้วย กลุ่มโรงแรม กลุ่มส่งออก และกลุ่มเทคโนโลยี 

 

กลุ่มเทคโนโลยี หมายถึง กลุ่มที่เป็นผู้จำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีและกลุ่มที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นบริการเพิ่ม ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ที่รับอิทธิพลมาจากการปรับโครงสร้างของ SCB 

 

บทวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ระบุถึงแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 4/64 มีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้น ทั้งในภาคบริการและภาคการผลิต ผลจากการปลดล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจนำไปสู่การกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้เกิดการปรับฐานระยะสั้น เนื่องจาก Valuation ที่สูงขึ้น จึงยังคงเป้าหมายดัชนีสิ้นปีที่ระดับ 1,700 จุด 

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากอาจสร้างความผันผวนอย่างมีนัยสำคัญ

 

“หุ้นไทย Laggard ยังมีโอกาสในการไล่ตามตลาดอื่นๆ และปลอดภัยจากเงินทุนไหลออก คาดผลกระทบจาก Tapering ของ Fed จำกัดในรอบนี้ หลังจากต่างชาติเริ่มขายหุ้นมาตั้งแต่ปี 2556”

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising