บางคนอาจยังไม่ทราบว่าตลาดหุ้นไทยที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ เริ่มเปิดทำการซื้อขายเป็นครั้งแรกเมื่อ 50 ปีก่อน ในวันที่ 30 เมษายน ปี 2518 ตอนนั้นใช้ชื่อว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนชื่อภาษาอังกฤษในขณะนั้นคือ The Securities Exchange of Thailand ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น ‘The Stock Exchange of Thailand’ (SET) เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2534
ตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยผ่านเรื่องราวและวัฏจักรต่างๆ มากมาย จากจุดเริ่มต้นที่มีหุ้น หรือบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดเพียง 8 แห่ง เพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 800 แห่ง พูดง่ายๆ ก็คือ ตลาดหุ้นไทยมีสินค้าให้เลือกซื้อขายเพิ่มขึ้นมาก
ขณะที่ดัชนี SET ที่เรามองเห็นเป็นกราฟขึ้นๆ ลงๆ ในแต่ละวัน ซึ่งทำหน้าที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในตลาดทั้งหมด เริ่มต้นจาก 100 จุด ขึ้นไปสูงสุดประมาณ 1,800 จุด ก่อนจะลงมาอยู่ประมาณ 1,100 จุด
แน่นอนว่าจากวันแรกมาจนถึงวันนี้ ตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นมาก เห็นได้ชัดจากจำนวนบริษัท มูลค่าตลาด หรือแม้แต่ดัชนีเอง เมื่อเทียบกับวันแรก หลายคนร่ำรวยขึ้นหรือเกษียณอายุได้อย่างสบาย จากตลาดหุ้นไทย
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้านซึ่งกระทบความเชื่อมั่น ในวันครบรอบอายุ 50 ปี
The Standard Wealth มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนา Legacy & Future: 50 Years of Thai Capital Market เมื่อ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา มีหลายความคิดและมุมมองจากวิทยากรทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ผลัดกันให้มุมมองต่อตลาดทุนและตลาดหุ้นไทย เพื่อช่วยกันหาทางออกว่า ในอีก 50 ปีถัดจากนี้ ตลาดทุนไทยจะกลับมาเป็นความหวังให้กับคนไทยอีกครั้งได้อย่างไร
บทเรียนจาก Legacy เมื่อ ‘ความร่วมมือ’ และ ‘การปรับตัว’ คือหัวใจ
การจะก้าวไปสู่อนาคตได้นั้น การเรียนรู้จากอดีตคือสิ่งจำเป็น มุมมองจากอดีตประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ 3 ท่าน ได้แก่ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ (ประธานกรรมการ ตลท. ปี 2558-2563) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (ประธานกรรมการ ตลท. ปี 2564-2566) และ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ (ประธานกรรมการ ตลท. คนปัจจุบัน) ได้ฉายภาพบทเรียนสำคัญตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ดร.ชัยวัฒน์เล่าถึงยุคที่ตลาดหุ้นค่อนข้างแข็งแกร่ง ตลาดหุ้นไทยวิ่งจาก 1,400 จุด ไปถึง 1,800 จุด เป็นโอกาสดีในการวางรากฐานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบชำระราคาครั้งใหญ่จาก T+3 สู่ T+2 ซึ่งต้องอาศัย ‘ความร่วมมือ’ จากทุกภาคส่วน ทั้งโบรกเกอร์และธนาคารพาณิชย์
แต่ความเสี่ยงหรือวิกฤตในตลาดก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ย้อนไปในปี 2560 มีวิกฤตตั๋วบีอี จากการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange: BE) ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด ตอนนั้นมี 8 บริษัทกำลังจะผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบีอีมูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านบาทภายใน 3 เดือน ซึ่งอาจบานปลายเป็น 10,000 ล้านบาทในสิ้นปี ขณะที่ทั้งระบบมีตั๋วบีอีและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปีนั้นรวมกว่า 600,000 ล้านบาท
“หากเราไม่เร่งแก้ไขและควบคุมปัญหา 8 บริษัทนี้ไม่ได้ นักลงทุนอาจขาดความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด” และอาจลุกลามเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) ได้
ในยุคของดร.ประสารซึ่งรับช่วงต่อในภาวะที่ตลาด “เสน่ห์หายไปเยอะ” ได้สะท้อนถึงความพยายามในการ ‘ปรับตัว’ เพื่อตอบโจทย์โลกใหม่ เช่น การสร้าง LiVE Platform สำหรับ Startup หรือการมี DR ให้นักลงทุนเข้าถึงหุ้นต่างประเทศได้อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่เจ็บปวดที่สุดในช่วงที่ผ่านมาคือกรณีฉ้อโกงอย่าง บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) และ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK)
บทเรียนจากกรณี MORE และ STARK เป็นความย้อนแย้ง (Paradox) ที่น่าสนใจ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ปี 2535 ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวางกรอบการกำกับดูแล IPO และธุรกิจหลักทรัพย์ แล้วทำไมเรื่องแบบนี้ถึงเกิดขึ้นได้?
กรณี MORE คือการที่คนกลุ่มหนึ่งตั้งใจจะปล้นเงินจากระบบ โดยอาศัยอำนาจการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin) ที่สูงมากจากโบรกเกอร์บางแห่ง คำถามคือ ทำไมเราถึงปล่อยให้มีการให้ Margin สูงขนาดนั้นกับหุ้นเพียงตัวเดียว? คำตอบที่ได้คือ ‘กลัวเสียลูกค้า’ นี่คือ Paradox ที่แสดงให้เห็นว่ากลไกตลาดอาจล้มเหลว
ความเสียหายจาก MORE แต่ระบบยังไม่พังเพราะ Thai Clearing House (TCH) ที่มีความเข้มแข็งและทำหน้าที่ชำระราคาได้อย่างเรียบร้อย แต่บทเรียนสำคัญคือ Self-Regulation หรือการกำกับดูแลกันเองของภาคเอกชนต้องเข้มแข็งขึ้น เช่น การจัดตั้ง Security Credit Bureau เพื่อให้เข้าใจความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายได้ดีขึ้น และต้องมี Market-based Mechanism ที่ไม่ใช่กฎหมายเข้ามาช่วย
ส่วนกรณี STARK นี่ก็เป็น Paradox เช่นกันว่าทำไมจึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้หลังจากมีกฎหมายกำกับดูแลมา 30 ปี ดร.ประสาร มองว่านี่คือเหตุการณ์ ‘หงส์ดำ (Black Swan)’ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกตลาดทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในไทย สิ่งสำคัญคือเราบริหารจัดการกับมันอย่างไร ซึ่งหลังจากนั้นก็มีความตื่นตัวมากขึ้น เช่น ตลท. เพิ่มระบบเตือนภัย ใช้ AI เข้ามาจับอัตราส่วนทางการเงิน และพยายามร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการดำเนินคดี
บทเรียนจาก STARK ทำให้เรากลับมาย้ำว่าเรื่อง Good Governance เป็นสิ่งสำคัญที่สุด และอีกเรื่องคือ Law Enforcement หรือการบังคับใช้กฎหมายต้องเข้มแข็งขึ้น
โดยสรุปแล้ว คุณกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย – IOD ผู้ดำเนินรายการบนเวทีนี้ สรุปว่า “ตลาดทุนที่ยั่งยืนจะขึ้นอยู่กับ 3 ส่วน คือ 1. Regulator ที่เข้มแข็ง, 2. Self-Discipline หรือวินัยของทุกคนในตลาด และ 3. Market-Based Mechanism หรือกลไกตลาดที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดคุณภาพ เช่น ผู้ตรวจสอบบัญชีและคณะกรรมการบริษัทที่มีคุณภาพมากขึ้น
ปลดล็อกกฎหมายและฟื้นฟูความเชื่อมั่น
เมื่อมีพิมพ์เขียวสำหรับอนาคตแล้ว การจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ต้องอาศัยการนำที่เข้มแข็งจากผู้กำกับดูแล คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า สิ่งที่คาดหวังจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มากที่สุดคือ การพัฒนาและฟื้นฟูความเชื่อมั่น โดยต้องเร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เล่นทุกฝ่าย
สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือ การพัฒนาและฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาแข็งแกร่ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีภารกิจสำคัญหลายด้านที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็น
- การส่งเสริมผู้ระดมทุน สนับสนุนให้บริษัทที่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งทุน
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุน
- การปรับปรุงกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน โดยทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างใกล้ชิด
สอดคล้องกับ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการคนปัจจุบันที่มองว่าปัญหาสำคัญของไทยวันนี้คือเรื่องกฎหมาย ‘การปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบ’ เป็นวาระสำคัญอันดับแรก เพื่อปลดล็อกอุปสรรคที่ขัดขวางบริษัท New Economy และสร้างความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ก.ล.ต., ปปง., DSI เพื่อจัดการกับปัญหาอย่างจริงจัง และผลักดันโครงการใหม่ๆ เช่น Thailand’s Individual Savings Accounts หรือ TISA เพื่อสร้างวัฒนธรรมการลงทุนระยะยาว
“อนาคตของตลาดทุนไทยในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จะต้องเห็นการเปลี่ยนแปลง หากเรายังเปลี่ยนไม่ได้ ก็คงจะลำบากแล้ว” ศ.พิเศษ กิติพงศ์ กล่าว
สร้าง ‘สะพานสู่อนาคต’: ตลาดทุนไทยที่ทุกคนต้องการ
แล้วอนาคตของตลาดทุนที่ทุกคนอยากเห็นหน้าตาเป็นอย่างไร?
ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักยุทธศาสตร์แห่งอนาคต ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจโดยเริ่มจากคำสอนของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ Harvard Business School ว่า “ทุกคนเป็นนักลงทุน เพราะการเลือกอาชีพก็คือการลงทุนแบบหนึ่ง”
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การลงทุนจึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็น ‘เครื่องมือที่จำเป็น’ ในการบริหารความเสี่ยงและสร้างความพร้อมสำหรับอนาคต ดังนั้น ตลาดทุนจึงต้องทำหน้าที่เป็น ‘สะพานสู่อนาคต’ ให้กับทุกคน
สะพานที่แข็งแรงนี้ต้องประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ
- อนาคต (Future) ตลาดทุนต้องมีบริษัทและสินทรัพย์แห่งอนาคตให้นักลงทุนเลือกลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็น AI, ESG หรือเทรนด์ด้านสุขภาพ
- ความเชื่อมั่น (Trust) สะพานต้องมั่นคง มีธรรมาภิบาลที่ดี และมี ‘Equity Culture’ ที่ปกป้องนักลงทุนรายย่อย
- การเข้าถึง (Access) สะพานต้องกว้างและเรียบ ให้ทุกคนทุกวัยเข้าถึงได้ง่าย ด้วยต้นทุนที่ต่ำ
ดร.ชาริกา เสริมว่า ตลาดทุนในอนาคตจำเป็นต้อง ‘ทบทวนขอบเขตความรับผิดชอบ’ ใหม่ทั้งหมด ต้องมองให้ไกลกว่ากำไรขาดทุน ไปสู่การประเมินผลกระทบที่ธุรกิจมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และต้องสร้าง ‘ภาษาใหม่’ เช่น Thailand Taxonomy เพื่อเป็นมาตรฐานร่วมกันในการจัดสรรเงินทุนไปสู่กิจการที่สร้างคุณค่าที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
พร้อมเชิญชวนให้ผู้เล่นในตลาดทุนทบทวนขอบเขตความรับผิดชอบ 5 ด้าน
- Accountability: ต้องมองให้ลึกและกว้างขึ้นไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทั้งหมดในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ไม่ใช่แค่มองในหน่วยงานของตัวเอง
- Materiality: ในอดีตอาจมองแค่ประเด็นที่กระทบต่อกำไรและยอดขาย แต่ปัจจุบันต้องพิจารณาผลกระทบที่ธุรกิจสร้างต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
- Financing: เงินทุนคือหัวใจของการเปลี่ยนแปลง คำถามคือเงินทุนในตลาดกำลังไหลไปสู่กิจการที่สร้างคุณค่าที่แท้จริงหรือไม่?
- Skills: เราต้องการ ‘System Thinker’ ที่ไม่ใช่แค่นักวิเคราะห์ตัวเลขทางการเงิน แต่ต้องเป็นคนที่มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลการเงินกับข้อมูลด้าน ESG เพื่อประเมินความเสี่ยงและโอกาสในอนาคตได้
- Data: ในโลกที่เปลี่ยนไป กำลังเกิด ‘ภาษาใหม่’ ในตลาดทุน โดยเฉพาะเรื่อง ESG เช่น มาตรฐาน IFRS S1, S2 หรือ Green Taxonomy ไม่ใช่แค่เกณฑ์ใหม่ แต่เป็นภาษาที่นักลงทุน สถาบันการเงิน และผู้กำกับดูแลใช้สื่อสารกัน เพื่อเชื่อมโยงผลประกอบการทางการเงินเข้ากับผลกระทบด้านความยั่งยืน
สร้างความเชื่อมั่น: เมื่อ ‘ความเชื่อ’ คือ ‘ความจริง’
คุณนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ซีอีโอ The Standard มองว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในวันนี้คือเรื่อง ‘ความเชื่อมั่น’
คุณนครินทร์ได้ฉายภาพพฤติกรรมของ ‘คน’ 3 รุ่นที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่นักลงทุนรุ่นพ่อที่เคยโทรหาโบรกเกอร์ มาจนถึง Gen Y ที่ลงทุนผ่านแอป, เข้าถึงสินทรัพย์ทั่วโลก, และเชื่อ Influencer มากกว่าสื่อกระแสหลัก รวมทั้งนักธุรกิจเจ้าของ SME ที่เก่ง แต่ลังเลที่จะเข้าตลาดทุนเพราะความซับซ้อนและปัญหาความน่าเชื่อถือ
“สิ่งที่ตลาดทุนต้องเร่งฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนมี 2 เรื่อง คือ Trust หรือการทำให้เชื่อ และ Sense of Ownership หรือการทำให้รู้สึกเป็นเจ้าของ”
การจะสร้าง Trust ได้นั้นต้องมาจากสิ่งที่จับต้องได้จริง คือ ความโปร่งใส, กติกาที่ชัดเจน และ ผลลัพธ์ที่ชัดเจน ส่วนการสร้าง Sense of Ownership คือการทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าตลาดทุนเป็นของพวกเรา ไม่ใช่แค่ของคนรวยหรือรายใหญ่ ซึ่งทำได้โดยการเปิดให้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น, มีที่ยืนให้แสดงความคิดเห็น และมีเสียงที่ได้รับการรับฟังอย่างแท้จริง