4 หน่วยงานจับมือ EEC – ก.ล.ต. – ตลท. – ธปท. ร่วมพัฒนาระบบนิเวศสำหรับการลงทุนใน EEC พร้อมเปิดให้บริษัทไทยและต่างชาติที่ลงทุนใน EEC ระดมทุนขาย IPO ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐได้ เตรียมตั้งกระดานเทรดหุ้นใหม่ใช้เงินดอลลาร์ซื้อขายได้ ช่วยลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวว่า EEC ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งระดมทุน EEC (EEC Fundraising Venue) เพื่อเป็นการสร้างระบบนิเวศสำหรับการลงทุนใน EEC ซึ่งจะทำให้บริการการเงินในตลาดเงินและตลาดทุนของไทย โดยนักลงทุนสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน ระดมทุน และเข้าถึงบริการการเงินด้วยความคล่องตัวและในต้นทุนที่เหมาะสม
ทั้งนี้ จะมุ่งเป้าหมายที่กลุ่มบริษัทข้ามชาติ กลุ่มผู้ประกอบการไทยขนาดใหญ่ กลุ่ม SMEs และกลุ่มผู้ประกอบการ Start-up ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC ในการนี้ สกพอ. และ ตลท. โดยความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และ ธปท. จะร่วมกันจัดทำ Feasibility Study เพื่อพัฒนาแหล่งระดมทุนดังกล่าว โดยพัฒนาระบบรองรับการระดมทุน และการซื้อขายหลักทรัพย์สำหรับกลุ่มผู้ระดมทุนเป้าหมายในพื้นที่ EEC บนโครงสร้างพื้นฐาน (Platform) ของ ตลท. โดยมีแนวคิดพัฒนา 2 ส่วน ได้แก่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตลท. แก้เกณฑ์ เปิดทางให้ 10 ธุรกิจกลุ่ม BGC ขาย IPO ผ่านเกณฑ์มาร์เก็ตแคปได้ รับแผนยุทธศาสตร์ประเทศ มีผล 6 มิ.ย. นี้
- เจอ หุ้น IPO นิสัยแบบนี้ ระวังจะติดดอย! | Stock Hacker EP.4
- บนแหล่งระดมทุนเดิม (Traditional Path-SET) พัฒนากระดานระดมทุน EEC ที่ระดมทุนด้วยเงินตราต่างประเทศเป็นหลัก จะเริ่มด้วยเงินดอลลาร์เป็นลำดับแรก ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจที่ต้องการจะระดมทุน และจัดทำงบการเงินหรือใช้เงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินหลัก สามารถทำธุรกรรมกู้ยืมระดมทุน และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ได้โดยสะดวก โดย ตลท. จะพิจารณาแนวทางการพัฒนาระบบซื้อขายและแพลตฟอร์มของตลาด
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการเปิดให้บริทษัทต่างชาติระดมทุนขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) เป็นสกุลเงินดอลลาร์ได้ พร้อมทั้งตั้งกระดานซื้อขายหุ้นดอลลาร์สหรัฐเพื่อหวังดึงดูดให้นักลงทุนที่ไม่ได้อยากรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน แต่ต้องการลงทุนในหุ้นไทยให้เข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่ามีโอกาสที่เห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้
สำหรับปัจจุบันในฝั่งดีมานด์มีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน EEC ประมาณ 2,000 ราย ซึ่งมีสัดส่วน 60-70% เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งหากกลุ่มนี้มีความต้องการระดมทุนขาย IPO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีโอกาสจะเปิดให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายหุ้นกันได้ภายในปีนี้ รวมถึงเป็นโอกาสในการดึงกลุ่มคนไทยที่ไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งมีวงเงินรวมกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ให้กลับมาในไทยได้ด้วย
- บนแหล่งระดมทุนรูปแบบใหม่ (Digital Path) ระดมทุนในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange-TDX) ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ในการระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (High Value Added) ที่ต้องการระดมทุนในรูป Project Finance รวมถึงกลุ่ม Start-up และกลุ่มธุรกิจที่เป็น Innovation Base
ด้าน ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การพัฒนา EEC Fundraising Venue จะเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ระดมทุนทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศ ที่ใช้เงินตราต่างประเทศเป็น Functional Currency ให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่บริษัทไทยที่ไปจดทะเบียนในต่างประเทศให้มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น และจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือทางการเงินที่แตกต่างให้กับผู้ลงทุนในตลาดได้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ตลท. พัฒนาเกณฑ์เข้าจดทะเบียนในรูปแบบ New Economy Track ด้วยสกุลบาท ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่สนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษของ EEC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำกระดานซื้อขายหุ้นที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ น่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนที่ไม่ได้อยากรับความเสี่ยงด้านเงินตราต่างประเทศ แต่สนใจลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก
อีกทั้ง ตลท. อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการระดมทุนในการสนับสนุนธุรกิจที่ลงทุนใน EEC โดยมีการพัฒนาปรับระบบซื้อขายที่มีความแตกต่างกันจากเดิม ที่ระบบการซื้อขายรองรับการระดมทุน และการซื้อขายเป็นสกุลเงินบาท แต่ระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันถือว่ามีความพร้อมในการรับการซื้อขายหุ้นโดยใช้เป็นสกุลดอลลาร์ได้อย่างไม่มีปัญหา หากมีดีมานด์ในการลงทุนเข้ามา
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้มีแนวทางที่แตกต่างกันในเรื่องการดูแลบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียน ทั้งคุณภาพ การป้องกันสิทธิของผู้ถือหุ้นต่างๆ ส่วนข้อแตกต่างคือความสะดวกของผู้ลงทุนและบริษัทต่างๆ หากใช้เงินเป็นดอลลาร์ ไม่ต้องไปแปลงค่าเงินเป็นบาท เชื่อว่ามีโอกาสที่บริษัทต่างชาติจะเลือกการระดมทุนเป็นเงินดอลลาร์ผ่านช่องทางนี้ เพราะสามารถนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ต่อตามวัตถุประสงค์แบบไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน” ภากรกล่าว
ขณะที่ จอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. สนับสนุน EEC Fundraising Venue เพราะเป็นประโยชน์ให้กับทั้งผู้ออกหลักทรัพย์และนักลงทุน ในการเลือกสกุลเงินที่จะระดมทุนและนำบริษัทเข้าจดทะเบียน โดย ก.ล.ต. ยังคงยึดถือกฎเกณฑ์ เงื่อนไขการเข้าจดทะเบียน ซึ่งอิงหลักการเดิมของการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุน
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับเป้าหมายของ ก.ล.ต. ที่สนับสนุนเรื่องการลงทุนและการระดมทุนของ New Economy เพื่อเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำหรับหลักเกณฑ์ในการเสนอขายระดมทุน IPO ในกรณีเป็น Functional Currency และการซื้อขายบนกระดาน US Dollar เกณฑ์ที่มีปัจจุบันของสำนักงาน ก.ล.ต. สามารถรองรับให้ทำได้โดยไม่ต้องแก้กฎเกณฑ์ใหม่ โดย ก.ล.ต. ยังหลักการคุ้มครองผู้ลงทุนไว้เช่นเดิม
อีกทั้งล่าสุด ก.ล.ต. ยังอนุมัติเกณฑ์มูลค่าหุ้นสามัญตามราคาตลาด (Market Capitalization Test) ในรองรับการระดมทุนขาย IPO ของอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) แล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
ส่วน เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. พร้อมสนับสนุนการพัฒนา EEC Fundraising Venue การพัฒนาโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายของ ธปท. ที่สนับสนุนให้คนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับนักลงทุนไทยที่ต้องการถือสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ให้มีทางเลือกในการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ออกระดมทุนในประเทศไทยเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ