×

สว. ถกถึงเที่ยงคืน ตั้ง กมธ.ศึกษากฎหมายสถานบันเทิง ‘คำนูณ-แก้วสรร-จรัญ-เจิมศักดิ์’ ร่วมวง ‘อธิบดีปกครอง-ผู้ช่วย ผบ.ตร.’ ยังมา

โดย THE STANDARD TEAM
09.04.2025
  • LOADING...
กฎหมายสถานบันเทิง

วานนี้ (8 เมษายน) ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 28 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 เวลา 19.35 น. นันทนา นันทวโรภาส สว. ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ซึ่งเป็นที่กังวลของสาธารณชนอยู่ในขณะนี้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้จัดทำประชามติในเรื่องดังกล่าวต่อไป

 

จากนั้น วุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. หารือว่า อยากให้มีการอภิปรายรวมกัน เนื่องจากมีญัตติอีก 2 เรื่อง ที่บรรจุในระเบียบวาระก่อนหน้าแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน คือ ญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงฯ สรชาติ วิชย สุวรรณพรหม สว. เป็นผู้เสนอ และวาระขอเสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาผลกระทบจากการดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงฯ ที่ วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สว. เป็นผู้เสนอ

 

อย่างไรก็ตาม เอกชัย เรืองรัตน์ สว. เสนอให้มีการเลื่อนญัตตินี้ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้เลื่อนญัตติร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถานบันเทิงฯ ออกไปแล้ว หาก สส. นำเข้ามาพิจารณาในครั้งหน้า แล้วเราอภิปรายซ้ำในเรื่องเดิมอีก จะดูไม่ดี แต่วุฒิชาติแย้งว่า ทั้งญัตติของสรชาติและวีระพันธ์ คือการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษา ดังนั้น จึงขอเสนอไม่ให้เลื่อนญัตติออกไป

 

วีระพันธ์กล่าวอีกว่า ประชาชนรอเราอยู่ พอถึงเวลาที่เราจะพูดประเด็นซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของชาติ แล้วมาบอกให้ยุติไปก่อนเนื่องจากฝั่ง สส. และ ครม. มีการเลื่อนออกไปนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะประชาชนจะรู้สึกผิดหวังต่อวุฒิสภาของเรามาก ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเลื่อน เราอยู่กันมาถึงขั้นนี้แล้ว ใครที่ไม่อยากพูดก็ถอนตัวออกไป ใครอยากจะเสนอก็เสนอต่อไป เรื่องนี้ไม่มีการเมือง แต่คือผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทำให้วุฒิชาติเสนอให้มีการลงมติ ว่าจะเลื่อนหรือไม่ จากนั้นเอกชัยจึงขอถอนสิ่งที่ได้เสนอไป 

 

ต่อมา มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น ชี้แจงว่า ญัตติของนันทนาที่เสนอให้ทำประชามตินั้น ตามข้อบังคับที่ 39/1 จะต้องมีการทำเป็นหนังสือ โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน หากจะมีการอภิปราย ต้องอภิปรายตามสองญัตติข้างต้น 

 

นันทนาจึงกล่าวว่า เรื่องการจัดทำประชามติเป็นเพียงหนึ่งข้อเสนอ ไม่ได้บอกว่าให้ต้องทำแบบนี้ เพียงแต่อยากให้มีการระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง 

 

▪️ชี้รัฐบาลยังศึกษาไม่เพียงพอ สังคมไม่เชื่อมั่น

 

จากนั้น สรชาติได้แถลงเหตุผลในการเสนอญัตติว่า ได้เสนอญัตตินี้ไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม จนถึงวันนี้ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน เหมือนรู้ล่วงหน้าแล้วว่าอย่างไรรัฐบาลชุดนี้ ก็ต้องมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถานบันเทิงฯ เข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎร วันนี้ได้เวลาอันเหมาะสม การเสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษา สามารถตั้งทั้งบุคคลภายในและภายนอกเข้ามา ซึ่งพวกเราได้มีการเตรียมการนำอาจารย์จากทุกมหาวิทยาลัยเข้ามาในสัดส่วนบุคคลภายนอก เตรียม สว. ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการศึกษา จึงเชื่อว่า หากมีการตั้งกรรมาธิการตั้งแต่ในครั้งแรกที่เสนอ ในวันนี้ก็น่าจะสำเร็จแล้ว และเป็นข้อมูลเพื่อยืนยันกับสภาผู้แทนราษฎรว่า เมื่อ สว. มีการศึกษาแล้ว ไม่มีความเหมาะสม 

 

“วันนี้เราไม่อยากเห็นว่าเราไปคัดค้านกฎหมายโดยไม่มีหลักฐานเพียงพอ เพราะ สส. ก็เคยมีการศึกษามาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่หากถามว่า ประชาชนทั้งประเทศเชื่อหรือไม่ เขาไม่เชื่อ ถ้าเขาเชื่อคงไม่มีการต่อต้านอย่างมากมายทั่วประเทศอย่างที่เกิดขึ้น”

 

ด้านวีระพันธ์กล่าวว่า เพียงหนึ่งวันภายหลัง ครม.มีมติเห็นชอบร่าง ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถานบันเทิงฯ ประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่ในแง่สัญลักษณ์เห็นว่า เป็นการสะท้อนถึงบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่านั้น เพราะในสภาแห่งนี้ถ้าเราตัดสินใจผิดพลาด จิตวิญญาณของสังคมไทยจะสั่นสะเทือนไปอีกนาน เพราะสิ่งที่เราเผชิญอยู่ไม่ใช่แค่เรื่องของกฎหมาย แต่คือทางแยกระหว่างรายได้ที่รัฐหวังลมๆ แล้งๆ กับความมั่นคงทางจริยธรรม แม้จะมีข่าวดีว่าแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล จะขอให้มีการเลื่อนไปก่อน แต่การเลื่อนก็ไม่แปลว่าถอน ดังนั้น การอภิปรายในวันนี้จึงยังจำเป็นอยู่ 

 

“ยามใดก็ตามที่รัฐบาลเริ่มพูดถึงการเปิดบ่อน แปลว่ารัฐบาลกำลังจนตรอก เพราะนี่คือการหวังทางลัด โดยไม่ต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจอะไรเลย ใช้การพนันเป็นเครื่องจักรผลิตรายได้ปลอม โดยเอาอนาคตของประชาชนมาแลกกับภาษีเพียงเล็กน้อย เป็นการแก้ปัญหาทางลัดที่ไร้จริยธรรม” วีระพันธ์กล่าว

 

ขณะที่นันทนากล่าวว่า จากท่าทีของฝ่ายต่างๆ ที่แสดงออกกันอยู่ในขณะนี้ เริ่มเห็นรูปรอยที่ใกล้เคียงกับวิกฤตทางการเมือง กรณีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ซึ่งความขัดแย้งในครั้งนี้ คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างศีลธรรมกับสังคม และในเรื่องนี้ก็มีการศึกษามาแล้วกว่า 20 จากปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิด 2 กระแสที่แตกต่างกันสุดขั้ว คือกระแสต่อต้านอย่างสุดขั้ว และกระแสที่สนับสนุนอย่างสุดใจ เราจึงต้องพิจารณาปัญหานี้อย่างรอบด้าน 

 

▪️ตั้ง กมธ. ศึกษา ผุดชื่อนักกฎหมาย-อดีต สว. นั่งสัดส่วนคนนอก

 

ภายหลังสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ขึ้นมา 35 คน โดยมีสัดส่วนของคนนอก 12 คน 

 

โดยรายชื่อในสัดส่วน สว. ประกอบด้วย

 

  1. ศ.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์
  2. ชินโชติ แสงสังข์
  3. โชคชัย กิตติธเนศวร
  4. โชติชัย บัวดิษ
  5. ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล
  6. ธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์
  7. นรเศรษฐ์ ปรัชญากร
  8. นิพนธ์ เอกวานิช
  9. ปฏิมา จีระแพทย์
  10. ประเทือง มนตรี
  11. เปรมศักดิ์ เพียยุระ
  12. พรชัย วิทยเลิศพันธุ์
  13. มังกร ศรีเจริญกูล
  14. รัชนีกร ทองทิพย์
  15. รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์
  16. พล.ต.ท. วันไชย เอกพรพิชญ์
  17. วีระยุทธ สร้อยทอง
  18. วีระพันธ์ สุวรรณามัย
  19. น.ต. วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ
  20. สรชาติ วิชย สุวรรณพรหม
  21. สุนทร พฤกษพิพัฒน์
  22. อัจรพรรณ หอมรส
  23. เอมอร ศรีกงพาน

 

ขณะที่รายชื่อในสัดส่วนบุคคลภายนอก ประกอบด้วย

 

  1. กัลยารัตน์ โคตรภูเขียว อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. แก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ และอดีต สว.
  3. คำนูณ สิทธิสมาน อดีตสื่อมวลชน และอดีต สว.
  4. ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  5. รศ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอดีต สว.
  6. ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง
  7. พล.ท. บุญชัย เกษตรตระการ รองจเรกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
  8. ภูมิพัฒน์ ธีรัชกิจไพศาล
  9. ศ.วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
  10. ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
  11. พล.ต.ท. สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.)
  12. แสนศักดิ์ ศิริพานิช อดีตข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอกรอบเวลาพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นเวลา 180 วัน

 

มงคลแจ้งต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากสมาชิกมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่สำคัญ จึงจัดส่งไปยังหน่วยงานและรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไป รวมถึงส่งรายละเอียดไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งที่ประชุมได้ตั้งขึ้น พร้อมขอบคุณสมาชิกที่ยังอยู่กันเป็นจำนวนมากจนจบการประชุม และสั่งปิดการประชุมในเวลา 23.05 น.

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising