วันนี้ (21 กุมภาพันธ์) ที่โรงแรมสวนสนประดิพัทธ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา, พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 พร้อมตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แถลงข่าวกรณีมีกลุ่ม สว. สำรอง ยื่นเรื่องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับคดีฮั้วเลือก สว. ปี 2567 เป็นคดีพิเศษ
มงคลกล่าวว่า เนื่องจากติดตามข้อมูลข่าวสารมาโดยตลอด พบว่ามี สว. กลุ่มสำรองเตรียมเสนอเรื่องให้ DSI รับเรื่องราวเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง สว. ปี 2567 ให้เป็นคดีพิเศษ จึงรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าจะมีอะไรที่ไม่ถูกต้อง เพราะอำนาจในการสอบสวนและตรวจสอบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่รับเรื่องไว้แล้ว อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ
มงคลกล่าวต่อว่า พวกเราในฐานะสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการรับรองจาก กกต. ให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ก็ให้ความร่วมมือกับ กกต. ซึ่ง กกต. ก็ดำเนินการติดตามสอบสวนมาโดยตลอด ขณะเดียวกันพวกเราซึ่งเป็นวุฒิสมาชิกเข้ามาอย่างถูกต้องตามเงื่อนไขตามระเบียบที่ กกต. กำหนดไว้ และทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ไปฝักใฝ่หรือไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่นผู้ใด
ทว่าอยู่ดีๆ ท่ามกลางความขัดแย้งต่างๆ ก็มีข่าวนี้ขึ้นมา ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ สว. จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป หากเข้าข้อกฎหมายเรื่องใด มีความผิดปกติกับข้อกฎหมายเรื่องใด หรือเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด หรือบุคคลใดที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อวุฒิสภาของเรา เราก็จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างที่สุด
“สว. เข้ามาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ตามเงื่อนไขและระเบียบที่ กกต. กำหนด และทำหน้าที่ของ สว. อย่างตรงไปตรงมา ไม่ฝักใฝ่หรือเกี่ยวข้องกับผู้ใด ซึ่งการตรวจสอบของ กกต. นั้นเป็นไปตามอำนาจและหน้าที่ของ กกต. ส่วนหน่วยงานที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่ออกมาให้ข่าวนั้น ทำให้ สว. ต้องมาปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรี” มงคลกล่าว
ด้าน พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. กล่าวว่า ตรวจสอบในเรื่องข้อกฎหมายแล้ว เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านมา ซึ่งเราได้ สว. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และรัฐธรรมนูญยังกำหนดไว้ว่าให้เป็นอำนาจของ กกต. ในการพิจารณาในการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา แต่ทุกวันนี้มีข่าวที่ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในเรื่องของการได้มาซึ่ง สว. จาก 20 กลุ่มอาชีพ ที่จะเข้ามาพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ
พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีการดำเนินการจากผู้ร้องเรียนที่ไปยื่นเรื่องให้ DSI ซึ่งส่วนตัวก็ยังไม่ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนไหน แต่จากการแถลงข่าวก็ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนที่จะพิจารณาว่าจะรับเรื่องหรือไม่ แต่หากพูดตามขั้นตอนของกฎหมายนั้น การดำเนินการของภาครัฐต้องดำเนินการอยู่ในขอบเขตของอำนาจหน้าที่ ตราบใดที่หน่วยงานรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ยังไม่ได้มอบอำนาจหน้าที่จะมาพูดในลักษณะที่ทำให้ สว. โดยรวมเกิดความไม่เชื่อมั่นใน กกต.
พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ กล่าวด้วยว่า ขอฝากไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในการรับเรื่องและดำเนินการ ไม่ว่าจะรับเรื่องจากหน่วยงานใดๆ ว่าการดำเนินการต่างๆ ต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้สัมภาษณ์ ท่านก็พูดในลักษณะที่ทำให้สมาชิกวุฒิสภาเกิดความเสื่อมเสียในสังคม อาจจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นและเสื่อมเสียของสมาชิกวุฒิสภาได้ ขอยืนยันว่าเรามาในรูปแบบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
“สว. ทุกคนมาโดยสุจริต โปร่งใส มาในการแข่งขันที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนข้อกล่าวหา อั้งยี่ ซ่องโจร เป็นการให้ข่าวที่ผิดไป ขณะนี้เตรียมรวบรวมข้อมูลและข้อกฎหมายเพื่อแก้ข้อกล่าวหาให้กับ สว. ทั้งหมด” พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ กล่าว
ขณะที่ พ.ต.อ. กอบ อัจนากิตติ สว. ย้ำว่า สว. ปัจจุบันมาโดยรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มาโดยสมาคมหรืออั้งยี่ ซึ่งข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นนั้นเกินเลยจากข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม สภา คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ การกล่าวหาว่าองค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชนเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือการใส่ความ
“มันผู้ใดก็ตามที่ใส่ความ สว. ทำให้เกิดความเสียหาย บั่นทอนความเชื่อมั่นในกระบวนการนิติบัญญัติ คนที่ทำต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตนเองกระทำ ทั้งหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารบ้านเมือง ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง ส่วนผู้ร้องที่เคยเข้ากระบวนการคัดเลือกเป็น สว. แต่เข้ามาไม่ได้ กลับมากล่าวหาว่าเป็นกระบวนการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต้องมองย้อนกลับไปว่า ท่านทำตามกติกาแต่ทำไม่ได้ ก็มากล่าวหาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นต้องรับผิดชอบ” พ.ต.อ. กอบ กล่าว
พ.ต.อ. กอบ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีกระบวนการจัดตั้งเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวิธีการฉ้อฉลเพื่อทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญที่ใช้ปัจจุบัน แก้ปัญหาวิกฤตรัฐธรรมนูญคือ ให้คนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง แต่กลับมีกระบวนการนี้กลับมาเพื่อทำให้เกิดวิกฤต ทำให้คนกระด้างกระเดื่อง ดังนั้น สว. ต้องอยู่เพื่อให้การดำรงอยู่ของกฎหมายเป็นไปอย่างผาสุก สงบเรียบร้อย ดังนั้นใครบังอาจที่บิดเบือนฉ้อฉลต้องรับผิดชอบ
ส่วนจะเป็นเกมการเมืองหรือไม่ พ.ต.อ. กอบ กล่าวว่า การใช้ข้อกฎหมายอ้างอิงเพื่อดำเนินคดีกับ สว. นั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง คือกลุ่มคนที่ทำมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วย ดังนั้นมองได้ว่าเป็นเรื่องของเกมการเมือง โดยเฉพาะการกล่าวอ้างข้อกฎหมายว่ามาโดยไม่ชอบ คือการใช้กฎหมายเพื่อสร้างปัญหาต่อการปกครองบ้านเมือง
“มีกลุ่มคนไม่สำนึก ไม่เคารพกติกา กฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมืองเพื่อสร้างให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ การใช้กฎหมายอาญามาตรา 116 อ้างว่ากลุ่มที่สมัคร สว. ที่รับรองจาก กกต. แล้ว ว่าไปยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง หากมองโดยหลักของกฎหมายที่ถูกต้อง คนที่ทำเรื่องนี้ไม่ใช่ สว. แต่คนที่ทำคือคนที่กล่าวหานำเรื่องไปสู่ DSI คือคนที่ขัดขวางความมั่นคง บั่นทอนระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” พ.ต.อ. กอบ กล่าว
พ.ต.อ. กอบ กล่าวด้วยว่า กรณีที่ DSI หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวอ้างนั้นถือเป็นการบิดเบือน ฉ้อฉลอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในบ้านเมือง เพราะจะเกิดปัญหารอบด้าน เช่น กรณีปัญหาที่รัฐมนตรีจะแก้ไขมีจำนวนมาก แต่กลับทำกระบวนการที่บั่นทอนฝ่ายนิติบัญญัติ
ส่วน พล.อ. เกรียงไกร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวโยงอยู่กับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้น ความพยายามบางอย่าง มองว่าไม่ค่อยปกติ ฉะนั้นจากนี้ไปสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งจะใช้กระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกันในการกล่าวโทษดำเนินคดีในประเด็นต่างๆ และจะลงชื่อกันอภิปรายไม่ไว้วางใจผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ต่อไป