×

กกต. เตรียมสอบ 2 ปมร้อน ผู้สมัคร สว. ไม่ตรงกลุ่มอาชีพ-ไม่โหวตเลือกตัวเองรอบแรก

โดย THE STANDARD TEAM
21.06.2024
  • LOADING...

วันนี้ (21 มิถุนายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงกรณีมีการร้องเรียนผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่าลงสมัครผิดกลุ่ม ไม่ตรงกับคุณสมบัติ ว่า ตามมาตรา 16 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 กำหนดให้ผู้สมัคร สว. ต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องเป็นจริงของเอกสารและหลักฐานอันแสดงว่ามีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงาน ด้านใดด้านหนึ่ง และต้องมีพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อยืนยันว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติเช่นนั้นจริง หากผู้สมัครหรือพยานลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานประกอบการสมัครเป็นเท็จ อาจมีโทษตามมาตรา 75 ของกฎหมายเดียวกัน 

 

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและถูกต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้บันทึกเจตนารมณ์ไว้ในความมุ่งหมายของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาตรา 107 ว่า ในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มหนึ่งได้ 

 

โดยคำว่า ‘ความรู้’ ที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งของมาตรานี้ มิได้หมายความถึงความรู้ที่จะวัดกันด้วยประกาศนียบัตรหรือปริญญาทั้งปวง แต่หมายถึงความรู้ที่บุคคลมีอยู่จริงในด้านต่างๆ เช่น ความรู้ในการทำนา ความรู้ในการทำการประมง หรือความรู้ในการเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 13 (3) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 สำนักงาน กกต. จะได้ศึกษา พร้อมทั้งจัดทำความเห็นเสนอต่อ กกต. เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องคัดค้านโดยเร็วต่อไป

 

ส่วนกรณีมีผู้มายื่นคำร้องคัดค้านว่าผู้สมัคร สว. ระดับอำเภอและระดับจังหวัด ไม่ลงคะแนนเลือกตนเองในรอบแรกนั้น สำนักงาน กกต. อยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนและไต่สวนตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2566 หากข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ และรับฟังได้ว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามที่กฎหมายกำหนด จะดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X