หลังจากการส่งสัญญาณของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนและปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) งวดสุดท้ายของปีนี้ (กันยายน-ธันวาคม 2565) และอาจส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นไปแตะเกือบ 5 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อันเนื่องมาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนประมาณ 60-70% ปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ล่าสุดวันนี้ (15 กรกฎาคม) สุพันธุ์ มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดสุดท้ายของปีนี้ หากไปเฉียดระดับ 5 บาทต่อหน่วย จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะเท่ากับว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วนแพงขึ้นประมาณ 10-20% ย่อมกระทบต่อต้นทุนค่าครองชีพในวงกว้าง และปัจจุบันนี้ค่าไฟฟ้าของไทยที่ระดับกว่า 4 บาทต่อหน่วยก็แพงอยู่แล้ว ฉะนั้นหากปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอีก จะยิ่งเป็นภัยร้ายซ้ำเติมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าถือเป็นต้นทุนที่สำคัญของสินค้าและบริการต่างๆ เมื่อต้นทุนค่าครองชีพขยับขึ้น มีโอกาสทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไม่หยุด จากล่าสุดเดือนมิถุนายน 2565 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 7.66% ทำสถิติสูงสุด (นิวไฮ) ต่อเนื่อง 13 ปี ซึ่งภาครัฐเองก็จะเหนื่อยมากขึ้น เพราะจะต้องเร่งเข้ามาแก้ไขค่าครองชีพที่เป็นปัญหาใหญ่ของครัวเรือนรายได้น้อย โดยภาครัฐอาจจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อลง แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจไทยยังไม่แข็งแรง จะเป็นการซ้ำเติมภาระรายจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มคนชั้นกลางที่มีรายจ่ายประจำทุกเดือน ทั้งการผ่อนบ้าน ผ่อนรถเพิ่มขึ้น และการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนก็จะชะลอตัวลง ตลอดจนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมก็ต้องเผชิญกับต้นทุนธุรกิจที่สูงขึ้นด้วย เรียกได้ว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นลูกระนาด
การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจึงถือเป็นอีกภัยร้ายที่สร้างความกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ฉะนั้นภาครัฐจะต้องเร่งหาวิธีการรับมือ โดยควรออกมาตรการประหยัดการใช้ไฟฟ้า หรือแคมเปญส่งเสริมการลดการใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจัง และเจาะกลุ่มในแต่ละภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงควรกำหนดเป้าหมายหรือมีตัวชี้วัดผลการประหยัดพลังงานที่เห็นผลเป็นรูปธรรมด้วย ที่สำคัญกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ภาครัฐมีมาตรการดูแลให้ส่วนลดค่าไฟฟ้านั้น เป็นมาตรการที่ควรดำเนินการต่อเนื่อง แต่จะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี เพื่อให้เกิดผลในการประหยัดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ตลอดจนมาตรการเดิมที่รัฐเคยดำเนินการในอดีตแล้วประสบผลสำเร็จ ก็ต้องงัดทุกมาตรการออกมาใช้ควบคู่กัน เช่น มาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response: DR) ที่เคยขอความร่วมมือภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมให้ร่วมกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ เป็นต้น
สุพันธุ์กล่าวอีกว่า ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นในปีนี้ หากภาครัฐคุมไม่อยู่ ปล่อยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้นลากยาวถึงต้นปีหน้า ถึงเวลานั้นภาครัฐจะต้องกลับมาดูว่าปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า รายได้ของภาคประชาชนมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากรายได้ยังอยู่ในระดับต่ำไม่สอดคล้องกับรายจ่าย ค่าครองชีพที่สูงขึ้น หรือค่าไฟฟ้าที่มีราคาแพง ย่อมเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในปีหน้าให้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแน่นอน