ผู้ส่งออกข้าวไทยประเมิน ส่งออกข้าวทั้งปีอาจทะลุ 8.5 ล้านตัน ‘ข้าวขาว’ ยังเป็นพระเอก หลังหลายประเทศและผู้นำเข้าอย่างฟิลิปปินส์-อินโดนีเซียออร์เดอร์ต่อเนื่อง พร้อมส่งเสียงสะท้อนไปยังรัฐบาล เตือนอุตสาหกรรมส่งออกข้าวไทยอาจหลุดสถานะเบอร์ต้นๆ ของโลกหากยังติดกับดัก ‘กฎหมายวิจัยพัฒนา’ ขอให้รัฐเร่งปลดล็อกนำพันธุ์ข้าวต่างประเทศมาวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น ห่วงเวียดนามเบียดแซง เพราะพัฒนาสายพันธุ์หลากหลายและกระจายความเสี่ยงราคาข้าวได้ดีกว่า
เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีแรกต้องบอกว่าอยู่ในภาวะที่ ‘สดใส’ ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 กรกฎาคม 2567 ไทยสามารถส่งออกไปแล้วกว่า 5.7 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 48.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อีกทั้งคาดการณ์ว่าครึ่งปีที่เหลือจะสามารถส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 6-7 แสนตัน ซึ่งจะทำให้ยอดส่งออกข้าวไทยเกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้กับกระทรวงพาณิชย์จาก 8.2 ล้านตัน โดยมีมูลค่ากว่า 5.3 พันล้านดอลลาร์ (ราวๆ 1.88 แสนล้านบาท) ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 8.5 ล้านตัน
ปัจจัยหลักๆ เนื่องจากหลายประเทศผู้นำเข้าหลักของไทย เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีความต้องการนำเข้าข้าวจากหลายประเทศมาชดเชยผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวน้อยลง จึงยังมีความต้องการข้าวไปสต็อกไว้บริโภคภายในประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“เดิมเราคาดการณ์ไว้ที่ 7.5 ล้านตันในช่วงต้นปี ตอนนี้เราปรับมาที่ 8.2 ล้านตัน และยังไม่อยากปรับไกลเกินไป แต่เชื่อว่าเราทำได้แน่ๆ และถ้าจะมากกว่านั้นก็ถือเป็นโบนัส และหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ราคาข้าวเปลือกก็น่าจะอยู่ในระดับที่ชาวนาพอใจ”
ห่วงปีหน้า หลายประเทศลดนำเข้า และจุดอ่อนไทยขาดความหลากหลาย
ขณะนี้ไทยยังต้องจับตาความท้าทายของภูมิอากาศ จากเอลนีโญที่แล้ง มาเป็นลานีญาที่มีฝน อาจทำให้เกิดน้ำท่วม อีกทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งตอนนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็น 35.8 บาทต่อดอลลาร์ จาก 2-3 สัปดาห์ก่อนเงินบาทอยู่ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์
บวกกับความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย แม้ว่าปีนี้ข้าวไทยจะได้รับอานิสงส์จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น เช่น จากตลาดอินเดีย ที่ยังคงมีนโยบายห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ
แต่ปีหน้า ปี 2568 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าหลายประเทศจะลดการนำเข้าข้าว เพราะผลผลิตในประเทศมีเพิ่มขึ้น โดยอินโดนีเซียที่เป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลกจะนำเข้าเพียง 1.5 ล้านตันจากปี 2567 ที่นำเข้า 3.5 ล้านตัน, อิรักนำเข้า 1.9 ล้านตันจากปี 2567 ที่ 2.2 ล้านตัน, ซาอุดีอาระเบียนำเข้า 1.7 ล้านตันจากปี 2567 ที่ 1.6 ล้านตัน
ขณะที่จีนนำเข้า 1.5 ล้านตันจากปี 2567 ที่ 1.7 ล้านตัน ส่วนไทยประเมินว่าอาจกลับมาส่งออกลดลงเหลือ 7.5 ล้านตัน ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อีกในช่วงครึ่งปีหลังนี้
“ปี 2568 ความต้องการซื้อตลาดโลกจะลดลง รวมถึงการที่ราคาข้าวไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้ไทยเสียตลาดข้าวสำคัญๆ หากทุกอย่างกลับสู่สภาพปกติ การแข่งขันจะยากลำบากขึ้น เพราะข้าวไทยขาดความหลากหลายและราคาผลผลิตต่อไร่ต่ำ”
น่าสนใจว่าปัจจุบันจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีสต็อกข้าวและเป็นตลาดใหญ่ พบพฤติกรรมการบริโภคข้าวของชาวจีนเปลี่ยนไป เจเนอเรชันใหม่ๆ นิยมซื้อข้าวในประเทศจีนเอง ดังนั้นวันนี้และในอนาคตจีนเริ่มนำเข้าลดลงต่อเนื่อง แม้ว่าในตอนนี้จะเป็นประเทศที่มีสต็อกข้าวมากที่สุดในโลก แต่อนาคตอาจจะเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสำคัญ
“วันนี้การแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลกยังมีข้อที่น่าเป็นห่วงอีกคือ ราคาข้าวไทยโดยเฉพาะต้นทุนต่างๆ ในการเพาะปลูกสูงกว่าหลายประเทศ ยิ่งทำให้ราคาข้าวไทยแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ค่อนข้างลำบากพอสมควร และที่สำคัญพันธุ์ข้าวไทยยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของหลายประเทศที่ส่วนใหญ่ชอบข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม ซึ่งไทยไม่มีพันธุ์นี้”
ขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่มีมานานกว่า 30-40 ปี ทั้งในเรื่องต้นทุน การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และที่สำคัญควรให้น้ำหนักไปที่การ ‘พัฒนาพันธุ์ข้าว’ ควรเร่งปลดล็อกแก้ไขกฎหมายที่ยังห้ามการนำเข้าพันธุ์ข้าวจากต่างประเทศมาเพื่อการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของตลาด
“เราไม่ควรห่วงเฉพาะราคาข้าวเปลือกเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อให้ข้าวไทยยังแข่งขันได้ เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลก ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”
สอดคล้องกับ ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุอีกว่า 6 เดือนแรกสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยถือว่า ‘เป็นปีที่ดี’ ซึ่งไทยส่งออกไปแล้ว 5.8 ล้านตัน และปีนี้ ‘ข้าวขาว’ ยังคงเป็นพระเอก
“แต่ราคาข้าววันนี้ไทยเราเป็นห่วงแต่ราคาข้าวเปลือกของชาวนา ตรงนี้อย่าลืมว่าคู่แข่งเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มีการพัฒนาพันธุ์และปลูกข้าวหลากหลายชนิด เพราะฉะนั้นราคาข้าวเวียดนามจึงไม่ตก เพราะของมีเยอะ ขายได้หลากหลาย ขณะที่ไทยมีข้าวขาวชนิดเดียว ขายได้ก็ได้ ขายไม่ได้ราคาก็ร่วง ตรงนี้คือประเด็นสำคัญที่ต้องสะท้อนไปถึง เป็นเรื่องระดับนโยบาย”
ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก
ซึ่งปีที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าวได้ 8.74 ล้านตัน เป็นรองเพียงอินเดีย
ขณะที่เวียดนามตีตื้นขึ้นมาที่ 3 ที่ 8.23 ล้านตัน
ซึ่งก่อนหน้านี้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประเมินว่า
ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่เวียดนามจะแซงไทย
ดังนั้นขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาพันธุ์ข้าว ไม่ใช่เน้นแต่เรื่องราคาอย่างเดียว อย่างเช่น ถ้าเราจะแข่งกับหลายๆ ประเทศ กรมการข้าวต้องมีพันธุ์ข้าวขาวที่ให้ราคา 1,200-1,500 บาทต่อไร่
จับตา ‘อินเดีย’ ทบทวนนโยบายแบนส่งออกข้าว สะเทือนตลาดค้าข้าวทั่วโลก
นอกจากนี้ต้องจับตาอินเดีย หากกลับมาทบทวนนโยบายการห้ามส่งออกข้าวขาว จะกระทบตลาดค้าข้าวโลก การส่งออกข้าวไทยอาจเผชิญความเสี่ยงอีกในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ไทยเผชิญการแข่งขันด้านราคากับอินเดียและฉุดปริมาณการส่งออกข้าวขาวไทยลดลง โดยเฉพาะเรื่องราคา ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อเนื่องไปถึงปีหน้า
ชูเกียรติกล่าวเสริมอีกว่า มั่นใจว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้สูงถึง 8.5-9 ล้านตัน เกินกว่าเป้าหมายที่ 8.2 ล้านตันหากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะครึ่งปีก็ส่งออกไป 5 ล้านตันแล้ว ภาพรวมการส่งออกข้าวปีนี้ก็น่าจะเกิน 8.5 ล้านตัน และหากยังได้รับอานิสงส์จากกรณีอินเดียยังห้ามการส่งออกข้าวขาวอยู่ รวมทั้งความต้องการข้าวในหลายประเทศที่ยังคงสูง ก็น่าจะเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้
ด้าน รณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวไทยในช่วง 7 เดือนของปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม) มีปริมาณ 5.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 25.12% มูลค่า 117,836 ล้านบาท (ประมาณ 3,304 ล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้น 55.50%
โดยได้รับผลดีจากผู้นำเข้าข้าวที่มีความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อใช้บริโภคและเก็บเป็นสต็อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ประกอบกับอินเดียยังคงใช้มาตรการควบคุมการส่งออกข้าวและค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ประมาณ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้