ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า วันนี้ (27พฤษภาคม) ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ประชุมกับสมาชิกสมาคมและภาคีเครือข่ายกว่า 70 บริษัท ซึ่งมีผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่การค้ามากกว่า 1 แสนราย นับเป็น 40% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 12% ของ GDP ร่วมกับธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 5 รายในเฟสแรก คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เพื่อเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Soft Loan) ผ่าน Digital Factoring Platform
โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เพื่อช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs และเกษตรกร ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ SMEs ทั่วประเทศขาดสภาพคล่องเป็นอย่างมาก และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เริ่มโครงการแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเซ็นทรัล รีเทล (CRC) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) โดยการนำข้อมูลการทำธุรกิจระหว่างบริษัทฯ และซัพพลายเออร์ หรือคู่ค้าเบื้องต้นกว่า 4,000 รายของเซ็นทรัล รีเทล เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทยผ่านแพลตฟอร์มฯ และได้อนุมัติสินเชื่อกลุ่มแรกให้กับ SMEs มากกว่า 1,000 ราย ในวงเงินรวม 5 พันล้านบาท ซึ่งกว่า 70% ของ SMEs เหล่านี้ยังไม่เคยเข้าถึงแหล่งเงินทุน Soft Loan มาก่อน
“แพลตฟอร์มนี้ทำให้ธนาคารฯ สามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นบนต้นทุนและความเสี่ยงที่ต่ำ และ SMEs สามารถชำระหนี้แบบอัตโนมัติผ่านช่องทางดิจิทัล เพราะฉะนั้นธนาคารจึงสามารถเสนอสินเชื่อวงเงินที่สูงและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ”
ความสำเร็จของโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งจะนำต้นแบบนี้ขยายไปสู่ SMEs มากกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศของสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและภาคีเครือข่ายภายในสิ้นปี 2564
และในเฟสต่อไปจะขยายผลไปถึงสมาชิกของทุกสมาคมฯ ตั้งแต่สมาคมศูนย์การค้าไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับการร่วมมืออย่างเต็มที่จากธนาคารพาณิชย์ของรัฐและเอกชน เพื่อช่วยให้ SMEs ไทยสามารถพลิกฟื้น เสริมสภาพคล่อง และได้แต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ