เวลาเราพูดกันว่า การอยู่ร่วมกันของพุทธ พราหมณ์ ผีในพื้นที่ต่างๆ ของสังคมไทย เช่นมีพิธีกรรมผสมผสานพุทธ พราหมณ์ ในรัฐพิธี มีสัญลักษณ์พุทธ พราหมณ์ ผีในวัด ในสำนักคนทรงเจ้า ในสถานที่และประเพณีความเชื่อของท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งสืบทอดกันมายาวนาน ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อน ‘ความหลากหลาย’ (diversity) ทางศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี
ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า นี่มันเป็นปรากฏการณ์ของความหลากหลายจริงหรือ? ผมมีประเด็นบางอย่างที่อยากชวนคิด เพื่อจะทำความเข้าใจว่ามันคือความหลากหลายจริงหรือไม่
ประเด็นแรก ในแง่อภิปรัชญา (metaphysics) ของพุทธกับพราหมณ์ที่เรารับมาจากอินเดียนั้น ไม่ได้แตกต่างกันนัก เพราะต่างก็มีโลกทัศน์ทางจักรวาลวิทยาแบบเดียวกัน คือเชื่อว่ามีโลกนี้ โลกหน้า เชื่อในสังสารวัฏ-การเวียนว่ายตายเกิดในโลกมนุษย์ สวรรค์ นรก จนกว่าจะหลุดพ้นจากกิเลสเหมือนกัน ต่างกันเพียงรายละเอียดบางอย่างเท่านั้น
เช่น พราหมณ์เชื่อเรื่อง ‘อัตตา’ ที่เป็นอมตะในตัวเราทุกคน อัตตานี้ไม่มีวันตาย มันมาใช้ร่างกายเราชั่วคราว เมื่อร่างกายเราแตกดับมันก็ไปอาศัยร่างใหม่ในภพภูมิมนุษย์หรือภพภูมิอื่นๆ การเปลี่ยนร่างของอัตตาเปรียบเหมือนเราโยนเสื้อผ้าชุดเก่าทิ้งแล้วสวมเสื้อผ้าชุดใหม่แทน
ภายใต้ความเชื่อนี้ ร่างกายเราไม่ใช่ตัวตนแท้จริงของเรา มันเป็นแค่มายา ตัวตนแท้จริง (real self) ของเราคืออัตตาที่เป็นอมตะ แท้จริงแล้วเราไม่มีวันตาย แค่เปลี่ยนร่างไปเรื่อยๆ ตามแรงดึงดูดของกิเลสตัณหาที่เรายังสลัดมันออกไปไม่ได้ แต่เมื่อวันหนึ่งเราหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาได้ อัตตาของเราก็จะกลับไปรวมตัวกับอัตตาใหญ่ที่เรียกว่า ‘มหาตมัน’ หรือ ‘ปรมาตมัน’ และดำรงอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับอัตตาใหญ่ที่ว่านั้นชั่วนิรันดร์
ส่วนพุทธอธิบายอะไรที่ซับซ้อนเข้าใจยากมากกว่า คือพุทธไม่เชื่อว่ามีอัตตาแบบนั้น เรามี ‘จิต’ แต่จิตไม่ใช่อัตตา จิตคืออะไร คือปรากฏการณ์ธรรมชาติด้านในบางอย่างของเราที่เกิดดับต่อเนื่องตลอดเวลา แต่ก็เกิดดับในรูปของการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏเช่นกัน จนกว่าเราจะฝึกจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสจึงจะหยุดเวียนว่ายตายเกิดได้ การหยุดเวียนว่ายตายเกิดเรียกว่าจิตนิพพาน คือดับกิเลสและความทุกข์ ซึ่งอาจจะดับกิเลสได้ในชีวิตนี้หรือภพชาติต่อๆ ไปก็ได้ แต่เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วพุทธเถรวาทไม่ได้บอกว่าจิตไปอยู่ที่ไหน หรือไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับอะไร บอกเพียงว่าบรรลุนิพพานคือพ้นทุกข์ ไม่เวียนว่ายตายเกิดในห้วงทุกข์หรือสังสารวัฏอีกเท่านั้น
ดูเหมือนความเชื่อเรื่อง ‘อัตตา’ ของพราหมณ์จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย หรือจินตนาการเห็นภาพได้ง่ายกว่าความเชื่อเรื่อง ‘จิต’ ของพุทธ น่าจะมีแต่บรรดานักวิชาการ หรือคนที่สนใจศึกษาเป็นพิเศษเท่านั้นถึงจะอธิบายได้ว่า จิตตามความเชื่อพุทธศาสนาคืออะไร ทำงานอย่างไร เพราะเวลาพูดเรื่องเวียนว่ายตายเกิด คนทั่วไป (แม้แต่คนพุทธส่วนมาก) ก็มักจะเชื่อว่า เรามีตัวตนนามธรรมในรูปของจิตหรือวิญญาณที่มีลักษณะสอดคล้องกับ ‘อัตตา’ ตามคำบรรยายของพราหมณ์เป็น ‘ตัวตน’ (ซึ่งมองไม่เห็น) เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ
ศาสนาอื่นๆ เช่นคริสต์ อิสลาม ที่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ก็เชื่อว่ามนุษย์มี ‘จิตอมตะ’ ที่จะไปอยู่สวรรค์กับพระเจ้าชั่วนิรันดร์ หรือไม่ก็ถูกไฟนรกแผดเผาชั่วนิรันดร์ ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก เพราะเขาไม่เชื่อเรื่องสังสารวัฏอย่างพราหมณ์กับพุทธ
โดยสรุป ความเชื่อเรื่องมี ‘จิตอมตะ’ เป็นความเชื่อที่เข้าใจได้ง่ายกว่าความเชื่อว่าไม่มีจิตอมตะ การเชื่อว่าจิตเกิดดับตลอดเวลา และจิตเช่นนี้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ ได้เช่นเดียวกับจิตอมตะหรืออัตตาตามความเชื่อของพราหมณ์ ทำให้ต้องอธิบายยากมากขึ้นว่า จิตที่เกิดใหม่กับจิตของเราขณะมีชีวิตอยู่ในชาตินี้คือจิตอันเดียวกัน หรือคือ ‘ตัวตน’ ของเราจริงๆ หรือไม่ ซึ่งศาสนาที่เชื่อเรื่องจิตอมตะจะไม่เกิดปัญหาแบบนี้ คือไม่มีปัญหาว่าตัวตนของเรามีหรือไม่มี เพราะเขาชี้ชัดลงไปว่าตัวตนของเรามีแน่นอน คือ ‘อัตตา’ หรือจิตอมตะนั่นแล
แต่พุทธศาสนาที่บอกว่าไม่มีอัตตา ทุกสิ่งเป็น ‘อนัตตา’ คือไม่มีตัวตนเป็นอมตะ ก็มีภาระต้องอธิบายว่า แล้วที่ว่าเราเวียนว่ายตายเกิดน่ะ อะไรที่เวียนว่ายตายเกิดล่ะ ตัวตนของเราในขณะนี้คืออะไร ตัวตนของเราในชีวิตหลังความตายคืออะไร มันคือตัวตนอันเดียวกันหรือคนละตัวตนกันแน่ หรือถ้าไม่มีตัวตนของเราเลย แล้วที่ว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วนั้น ‘ใคร’ กันล่ะที่ ‘ได้’ วุ่นวายจังเลยในการหาคำตอบเรื่องพวกนี้ คงมีแต่ ‘กูรูพุทธ’ เท่านั้นที่พยายามอธิบายกันหรืออธิบายได้เป็นเหตุเป็นผล ชาวพุทธบ้านๆ ทั่วไปดูเหมือนจะเชื่อแบบพราหมณ์มากกว่า เพราะพราหมณ์ (รวมทั้งคริสต์, อิสลาม) เขามีคำตอบชัดเจนตรงไปตรงมาว่า ก็อัตตาหรือจิตอมตะที่เป็นตัวตนแท้จริงของเรานั่นแหละ ที่ทำให้เรามีชีวิตหลังความตายและรับผลจากความดี ความชั่วที่ทำลงไป
ประเด็นที่สอง ในแง่ศีลธรรม พราหมณ์กับพุทธก็ไม่ได้ต่างกันมาก คือเมื่อเชื่อในอภิปรัชญาเรื่องเวียนว่ายตายเกิดเหมือนกัน ก็เชื่อตามมาเหมือนกันว่า ทำดีก็ส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี ทำชั่วก็ไปเกิดในภพภูมิเลว และถ้าขัดเกลาจิตให้พ้นจากกิเลสก็หลุดพ้นเหมือนกัน เพียงแต่ ‘อะไร’ (จิตหรืออัตตา?) ที่หลุดพ้น และเมื่อหลุดพ้นแล้วไปอยู่ที่ไหนนั้น พุทธกับพราหมณ์ให้คำตอบต่างกันดังที่ว่าไปแล้ว
ประเด็นที่สาม เรื่องระบบชนชั้น พราหมณ์เชื่อว่า ‘ระบบวรรณะสี่’ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เป็นระบบที่พระเจ้า (พระพรหม) สร้างมา แปลว่าระบบชนชั้นถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้า และพระเจ้าก็กำหนดไว้แล้วว่า ‘ธรรม’ หรือ ‘หน้าที่’ ของคนใน 4 ชนชั้นนี้ต้องทำอะไรบ้าง คุณเกิดในชนชั้นไหนก็ต้องทำหน้าที่ของชนชั้นนั้นไปจนตาย ใครก็เปลี่ยนแปลงสถานะทางชนชั้นและหน้าที่ของชนชั้นไม่ได้ พุทธศาสนาไม่เห็นด้วยว่าระบบชนชั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างมา แต่เป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์สร้างขึ้น
ทว่าแทนที่พุทธศาสนาจะต่อสู้เพื่อให้ล้มเลิกระบบชนชั้น กลับสอนว่าที่คนเกิดมาในชนชั้นที่ต่างกันเป็นเพราะทำกรรมดีกรรมชั่วมาต่างกัน ใครทำกรรมดีมาก็ส่งผลให้เกิดมาเป็นชนชั้นสูง ใครทำชั่วมาก็ส่งผลให้เกิดมาเป็นชนชั้นต่ำ
ฉะนั้น ความแตกต่างทางอภิปรัชญา (จักรวาลวิทยา) ศีลธรรม และระบบชนชั้นตามความเชื่อของพราหมณ์ พุทธดังกล่าวมา ไม่ใช่ความแตกต่างในแบบที่จะทำให้เกิดการ ‘แตกหัก’ ได้เลย เป็นเพียงความแตกต่างในบางแง่ บางด้าน แม้บางครั้งจะมีการอ้างความแตกต่างนั้นมาโจมตีกัน ข่มกันบ้างว่าความเชื่อของใครเป็น ‘สัจธรรมที่แท้’ มากกว่า แต่ก็ไม่เคยทำให้สองศาสนานี้ขัดแย้งแตกหักกัน ทว่ากลับพยายามประนีประนอมและผสมผสานกันมากกว่า
ประเด็นสุดท้าย เรื่องพิธีกรรม การประนีประนอมและผสมผสานกันทางพิธีกรรม มักเป็นไปในทางที่พุทธรับเอาและปรับประเพณีพิธีกรรมของพราหมณ์มาเป็นของตนมากกว่า เพราะเดิมทีพุทธไม่มี ‘พิธีกรรม’ มากมายอย่างที่เห็นในปัจจุบันเลย พุทธะแค่สอนธรรมที่ท่านตรัสรู้ให้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ คนที่เชื่อก็เข้ามาร่วมก่อตัวเป็นชุมชนสังฆะที่ร่วมเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ โดยได้รับปัจจัยสี่ในการยังชีพจากบรรดาคนที่ศรัทธาในแนวทางเดียวกัน
ต่อมาหลังสมัยพุทธกาล ในยุคประเพณีหรือยุคกลาง เมื่อพุทธศาสนากลายเป็นสถาบันทางสังคมมากขึ้น รัฐเข้ามาอุปถัมภ์และควบคุมมากขึ้น ชนชั้นปกครองและพระสงฆ์ได้ร่วมกันตีความพุทธศาสนาสนับสนุนสถานะและอำนาจในการปกครองของตน พิธีกรรมทางพุทธในราชสำนักจึงถูกประดิษฐ์ขึ้นในรูปแบบผสมผสานกับพิธีกรรมของพราหมณ์ (อย่างที่พัฒนามาในรูปแบบที่เราเห็นผ่านการถ่ายทอดสดราชพิธีทางทีวี เป็นต้น) ขณะที่พิธีกรรมทางพุทธแบบบ้านๆ ก็คงเริ่มมีมานานแล้วจากการผสมกับความเชื่อแบบพราหมณ์ ผีของชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ
แต่ทั้งหมดนี้คือ ‘ความหลากหลาย’ เช่นนั้นหรือ?
เพราะพราหมณ์ พุทธเมื่ออยู่ในอินเดียก็อยู่กับสังคมวรรณะสี่ เมื่อมาอยู่ในเอเชียอาคเนย์และสยามไทยก็อยู่กับระบบชนชั้นศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาสอย่างกลมกลืน โดยเฉพาะเมื่อพุทธได้กลายเป็นศาสนาของราชสำนัก ก็พยายามข่มพราหมณ์อยู่ในที มักโจมตีว่าพิธีกรรมแบบพราหมณ์งมงาย แต่วัดเองก็มากไปด้วยพิธีกรรมในทำนองเดียวกัน ราชสำนักต่างๆ ก็รับคติความเชื่อเรื่องชนชั้นตามชาติกำเนิดแบบพราหมณ์ และคติชนชั้นตามบุญบารมีแบบพุทธผสมผสานกัน เพราะทั้งสองคติความเชื่อย่อมเป็นประโยชน์แก่ชนชั้นปกครองโดยตรง
พูดรวมๆ คือ พุทธ พราหมณ์ ผีไทยๆ จากอดีตจวบปัจจุบัน ก็คือพุทธ พราหมณ์ ผีแบบผสมผสานทั้งทางอภิปรัชญา ศีลธรรม พิธีกรรมที่ผสมผสานทั้งในระดับรัฐและระดับท้องถิ่นต่างๆ ที่มีพัฒนาการมายาวนาน แต่ดูเหมือนจะมีพัฒนาการมาในทิศทางที่ต้องอยู่ภายใต้ร่มเงาหรืออำนาจของพุทธ พราหมณ์ ผีแบบรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ
หมายความว่าไม่มีพุทธ พราหมณ์ ผีแบบอื่นใดที่สามารถจะให้กำเนิดความคิดและวัฒนธรรมในทางสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเพื่อตั้งคำถาม ท้าทายพุทธ พราหมณ์ ผีแบบรัฐได้ ความหลากหลายทางความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีแบบพุทธ พราหมณ์ ผีแบบบ้านๆ ที่หากจะมี ก็มีได้ภายในกรอบที่พุทธ พราหมณ์ ผีแบบรัฐยอมให้มีได้เท่านั้น
นี่จึงไม่ใช่ความหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี บนฐานของการมีเสรีภาพ ความเสมอภาคในการปะทะสังสรรค์หรือขัดแย้งกันได้ด้วยเหตุผลและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมอย่างแท้จริง
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai