×

‘เศรษฐพุฒิ’ ย้ำชัดไม่ปิดประตูขึ้นดอกเบี้ยแรงหากสถานการณ์เปลี่ยน-เงินเฟ้อเร่งตัว แต่มองโอกาสเกิด Wage Price Spiral ยังต่ำ

24.08.2022
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่า ธปท. เผย ดอกเบี้ยไทย ในระยะข้างหน้าจะยังปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ปิดประตูขึ้นแรงหากสถานการณ์เปลี่ยน เงินเฟ้อเร่งแรงขึ้น เตรียมปรับประมาณการ GDP หลังตัวเลขไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าคาด

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษในงาน Thailand Focus 2022 โดยระบุว่า แนวทางการปรับนโยบายการเงินของไทยในช่วงที่เหลือของปีจะยังคงเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในวงล้อที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ โดยเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด ทำให้โจทย์คือ Smooth Take-off ซึ่งต่างจากโจทย์ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เศรษฐกิจฟื้นตัวร้อนแรงที่ต้องหาทาง Soft Landing อย่างไรก็ดี ธปท. ก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายหากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป 

 

“ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจเรายังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว และอาจต้องใช้เวลาถึงปลายปีนี้เพื่อกลับสู่ระดับก่อนโควิด แต่เราก็พร้อมทำหากมีความจำเป็น เพราะแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของเราคือ Gradual & Measured หรือค่อยเป็นค่อยไปและพร้อมจะปรับตามสถานการณ์” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อของไทยยังเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากฝั่งอุปทานเป็นหลัก แต่ ธปท. จะจับตาดูสถานการณ์เงินเฟ้อในช่วงต่อจากนี้อย่างใกล้ชิดว่าเงินเฟ้อจะมีแรงกดดันจากฝั่งอุปสงค์เพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังจากที่ตัวเลขการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2 ขยายตัวขึ้น 6.9% อย่างไรก็ดี ในภาพรวม ธปท. ยังมองว่าโอกาสที่จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อฝังราก หรือ Wage Price Spiral ในไทยยังอยู่ในระดับต่ำ

 

“โอกาสที่บ้านเราจะเกิด Wage Price Spiral มีไม่มาก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจเราแตกต่าง เงินเฟ้อยังมาจากอุปทานเป็นหลัก ตลาดแรงงานเรายังไม่ได้โตร้อนแรง ถ้าย้อนกลับไปดูในอดีตช่วงที่เราขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 170 บาท มาเป็น 300 บาท จะเห็นว่าเงินเฟ้อก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้โอกาสที่เงินเฟ้อจะเร่งสูงขึ้นจนเราต้องมาขึ้นดอกเบี้ยไล่ตามมีไม่มาก แต่ถ้าจำเป็นเราก็พร้อมทำ” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ผู้ว่า ธปท. ยังกล่าวถึงกรณีที่สถาบันการเงินยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในแง่ประสิทธิผลของการส่งผ่านนโยบายการเงินว่า โดยปกติการส่งผ่านดอกเบี้ยในระบบจะเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว แต่ด้วยภาวะที่เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังฟื้นตัวได้เปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และครัวเรือนรายได้ต่ำ ทำให้ภาคธนาคารคงเล็งเห็นความเสี่ยงจากผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในจุดนี้เหมือนกัน การขึ้นดอกเบี้ยจึงยังถูกชะลออยู่ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในที่สุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะเกิดขึ้นตามกลไก โดยสิ่งที่ ธปท. อยากเห็นคือการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่ โดยยอมรับว่าตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ที่ 2.5% ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ แต่หากเจาะเข้าไปดูไส้ในก็ยังพบว่าตัวเลขการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ค่อนข้างดี สะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ชัดเจน ขณะที่รายได้ของคนทั้งในและนอกภาคเกษตรก็ปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดี ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวก

 

ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้ GDP ไตรมาส 2 ออกมาค่อนข้างต่ำ เป็นเรื่องของการผลิตที่ปรับตัวลดลง แต่ก็เชื่อว่าเมื่ออุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นการผลิตในช่วงที่เหลือของปีจะเร่งตัวขึ้นได้ ส่วนความเสี่ยงจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจำกัดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยวเป็นหลัก

 

“ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าคือการท่องเที่ยว ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่เรายังมองจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ไว้ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคน ยกเว้นว่าจะเกิดการกลายพันธุ์ หรือปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้ายแรงจริงๆ ในภาพรวมเรายังมองว่า GDP ไทยปีนี้จะโตได้ 3% และปีหน้าโตได้ 4% แต่จะปรับจากประมาณการเดิมเท่าไรยังอยู่ระหว่างชั่งน้ำหนัก” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ผู้ว่า ธปท. ยังพูดถึงค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวผันผวนในช่วงนี้ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนคือเงินสกุลดอลลาร์ที่ปรับขึ้นลงตามท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐฯ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เช่น เงินเฟ้อผ่านจุดพีคแล้ว ความผันผวนในตลาดจะค่อยๆ ลดลง

 

“ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าส่วนต่างดอกเบี้ยจะทำให้เงินทุนไหลออก พอเงินบาทแข็งขึ้นก็มากังวลกันว่าจะมีเงินไหลเข้ามาเก็งกำไร ในภาพรวม ธปท. ยังไม่พบความผิดปกติของเงินทุนเคลื่อนย้าย ทุกอย่างยังเป็นไปตามกลไกปกติ” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

เมื่อถามถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ ธปท. มีความกังวลค่อนข้างมาก แต่ยังไม่ได้มองว่าจะนำไปสู่วิกฤตของสถาบันการเงิน แต่ความยากลำบากจะอยู่ที่ตัวลูกหนี้เป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงยังคงมาตรการช่วยเหลือแบบเฉพาะจุด เช่น โครงการปรับโครงสร้างหนี้ โครงการหมอหนี้ และคลินิกแก้หนี้ และในเดือนหน้าก็จะมีการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้

 

เศรษฐพุฒิระบุว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขและมีความซับซ้อนในหลายมิติ โดยการแก้ปัญหาจำเป็นต้องเดินหน้าในหลายๆ ส่วนไปพร้อมๆ กัน เช่น การดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเพื่อให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น การดูแลเงินเฟ้อเพื่อไม่ให้คนมีรายจ่ายสูงเกินไป และการออกมาตรการทางการเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising