×

เอกชนไทยส่งโจทย์ตรงถึงรัฐบาลแพทองธาร 1 เร่งกู้ชีพ SMEs ออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และเร่งอัตราการเติบโตของ GDP ไทย

โดย THE STANDARD TEAM
11.09.2024
  • LOADING...
แพทองธาร

ภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาล แพทองธาร 1 ภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของไทย กระแสตอบรับที่เกิดขึ้นล้วนเป็นไปในทิศทางบวก เพราะอย่างน้อยก็เริ่มเห็นสัญญาณของรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม โจทย์ของเศรษฐกิจไทยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยความเชื่อมั่นเพียงอย่างเดียว

 

THE STANDARD WEALTH ได้สอบถามนักธุรกิจจากหลายภาคส่วนเกี่ยวกับโจทย์เร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาล แพทองธาร 1 เร่งดำเนินการ ซึ่งได้ชุดคำตอบว่า ช่วยฟื้นธุรกิจ SMEs, แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงมาก และทำให้การเติบโตของ GDP เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง คือโจทย์หลักที่เอกชนไทยอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ

 

แนะ ครม. ชุดใหม่ เร่งกู้ชีพ SMEs ก่อนจะล้มหายตายจากไปกันหมด

 

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด หรือ MI GROUP ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในมุมผู้ประกอบการ การจัดตั้งรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างรวดเร็วนั้นถือเป็นสัญญาณบวก สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามเร่งสปีดในการบังคับใช้นโยบายให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ดีขึ้น ประกอบกับความชัดเจนเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ยังไม่คอนเฟิร์ม แต่มีความชัดเจนแล้วว่าจะปล่อยออกมาระลอกแรกในเดือนกันยายนนี้ จากก่อนหน้านี้ที่คาดหวังว่าจะได้ในเดือนธันวาคม

 

หากมองในภาพรวมไม่ได้มีนัยสำคัญ เนื่องจากกระทรวงหลักๆ คือคนเดิมทั้งหมด ซึ่งเป็นอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ ทั้งหมดคือตัวแทนของคนเก่า อาจมีตัวแปรบางกระทรวงที่เปลี่ยนแปลง อย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงสาธารณสุขที่ได้โควตาจากพรรคประชาธิปัตย์เข้ามา

 

ทั้งนี้ในมุมผู้ประกอบการไม่ได้รู้สึกแย่ลง แต่ถ้าผู้คนจะมองลบกับคณะรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยก็ไม่มีลบเพิ่ม และถ้าคนจะมองเป็นกลางหรือเป็นบวกก็จะส่งสัญญาณบวกมากขึ้น แต่โดยรวมถือว่ามี Sentiment ที่ดี มีความต่อเนื่องและแข็งแรงมากขึ้น ถ้าเทียบกับช่วงของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ

 

แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรกับเม็ดเงินโฆษณาและสื่อสารการตลาด โดยบริษัทยังคาดการณ์ว่าในปี 2567 เม็ดเงินโฆษณาจะโตขึ้นเล็กน้อย เพราะปัจจัยลบหนี้ครัวเรือนยังมีส่วนทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่าย ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจใช้งบทำการตลาดของทุกๆ ธุรกิจ

 

ยังไม่รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจส่งผลกระทบในหลายจังหวัด รวมถึงปัญหาโครงสร้างการปิดโรงงาน การถูกสินค้าต่างประเทศเข้ามาตีตลาด ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบที่นับวันยิ่งหนักขึ้น สุดท้ายแล้วในระยะสั้นนี้ยังแย่ต่อเนื่อง

 

“สุดท้ายนี้สิ่งที่อยากให้รัฐบาลทำเร่งด่วนคือต้องช่วยกู้ชีพผู้ประกอบการ SMEs ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการกีดกันหรือการป้องกันสงครามราคาจากสินค้าจีน รวมไปถึงการเปิดช่องทางให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพราะกลุ่ม SMEs คือฟันเฟืองของประเทศ ก่อนที่จะล้มหายตายจากกันไปหมด” ภวัตย้ำ

 

มุ่งติดตามนโยบาย ครม. ชุดใหม่ อย่างใกล้ชิด

 

ด้านแหล่งข่าวรายใหญ่จากแวดวงธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคกล่าวว่า ธุรกิจเอกชนมีการติดตามการทำงานของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ เพราะนายกฯ คนใหม่ และมีการแต่งตั้ง ครม. ชุดใหม่ แต่เป็นบุคคลเดิมๆ สลับสับเปลี่ยนกันไปมา ซึ่งไม่รู้ว่าใครมีประสบการณ์ในการบริหารงานมากน้อยแค่ไหน แต่มุมของเอกชนจะมุ่งโฟกัสที่กระทรวงสำคัญๆ ที่เป็นตัวกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ อย่างกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์

 

สุดท้ายต้องรอดูทิศทางนโยบายต่างๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

 

ขณะที่ พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ในมุมของอุตสาหกรรมอสังหา อยากให้รัฐบาลชุดใหม่มอบโอกาสให้คนอยากมีบ้านเข้าถึงการเป็นเจ้าของบ้านมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะมีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สนับสนุนนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ส่งเสริมให้คนไทยมีบ้านเป็นของตนเองง่ายขึ้น

 

ที่ผ่านมาถือว่าดีแล้ว แต่ก็ยังน้อยอยู่ อยากให้ทำเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันสิ่งที่ธุรกิจอสังหาค่อนข้างกังวลคือต้นทุนการจ้างงานที่กำลังเตรียมปรับขึ้น ตามด้วยทิศทางดอกเบี้ยและต้นทุนต่างๆ ยังสูง ซึ่งสวนทางกับกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลงและเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้นกว่าเดิม

 

ด้าน วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการหรือประชาชนคนไทยคนหนึ่ง เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นภาพรวมด้านเศรษฐกิจของไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

“การจัดตั้ง ครม. ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสานต่อและปรับปรุงนโยบายการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภาครัฐให้ทันปีงบประมาณ และนโยบายเพื่อจัดการหนี้สินครัวเรือนอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจของเราเติบโตขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับภาคอสังหา”

 

เงินติดล้อ ชี้ นโยบายรัฐบาลต้องเร่งปั๊ม GDP ให้โตเร็วกว่าสินเชื่อ เพื่อลดหนี้ครัวเรือน

 

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ หรือ TIDLOR กล่าวว่า บริษัทติดตามนโยบายของรัฐบาลที่เพิ่งมี ครม. ชุดใหม่อย่างใกล้ชิด ใน 3 ข้อสำคัญ โดย 2 ข้อแรกเป็นเรื่องในระยะสั้น ได้แก่

 

  1. นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการมาช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่ทยอยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 หลังจากเผชิญสถานการณ์โรคโควิดแพร่ระบาด โดยบริษัทมีความกังวลในปัญหานี้ค่อนข้างมากตั้งแต่ช่วงดังกล่าว และปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับประมาณ 80-90% ต่อ GDP

 

“ควรโฟกัสเติบโตของ GDP ซึ่งเป็นตัวหารของหนี้ครัวเรือน เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเพราะมีความกังวลว่า GDP จะไม่โต โดยหากสามารถผลักดันให้อัตราการขยายตัวของ GDP เร็วกว่าการขยายตัวของสินเชื่อ จะเป็นปัจจัยส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงได้”

 

  1. นโยบายแก้สถานการณ์ปัญหาหนี้เสีย (NPL) ปัจจุบันของไทยที่ปัญหามีความรุนแรง แม้ปัจจุบันสถาบันการเงินของไทยมีเงินทุนพร้อมปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า แต่มีความยากคือมีความกังวลประเด็น NPL สูง อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยมีการควบคุมเพดานดอกเบี้ยในการปล่อยสินเชื่อที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยปล่อยกู้ โดยหากสถาบันการเงินของไทยมีความคุ้มทุนในการทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อมากกว่าปัจจุบัน เชื่อว่าสถาบันการเงินจะกล้าปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนมากขึ้น

 

  1. เรื่องระยะยาวคือนโยบายด้านการเน้นสร้างคุณภาพของข้อมูล (Data) กับเทคโนโลยี เพื่อมาช่วยในการลดต้นทุนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากกำหนดให้เครดิตบูโรเป็นภาคบังคับ กำหนดให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องส่งรายงานข้อมูลของลูกค้าเข้ามายังเครดิตบูโร จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีข้อมูลที่สามารถใช้บริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินจะลดลงจากปัจจุบัน รวมทั้งจะส่งผลให้สถาบันการเงินสามารถลดเบี้ยที่คิดกับลูกค้าลงตามไปด้วย

 

อีกทั้งยังเสนอให้มีการตั้งอินชัวรันซ์บูโร เพื่อให้ผู้บริโภคจ่ายค่าเบี้ยประกันได้ถูกลงจากปัจจุบัน เพราะขณะนี้อินชัวรันซ์บูโรถือเป็น Infrastructure ที่สำคัญของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียนที่กำหนดเป็นภาคบังคับ เพราะจะเป็นฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงของผู้ประกอบการธุรกิจประกัน

 

อนาคตของประเทศต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา

 

เสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองภาพรวมของเศรษฐไทยในงาน The Secret Sauce Summit 2024 ว่า โดยรวมต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจแย่ กำลังซื้อของชาวบ้านหดหายไปมาก ถ้าดูจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงเกือบถึง 100% แล้ว ถือว่ารุนแรง กับการที่ชาวบ้านมีหนี้ในระดับ 90% ของ GDP สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายทั้งปีต้องแบ่งไปทั้งใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและใช้จ่ายหนี้ กำลังซื้อจึงหายไปมาก

 

สิ่งที่รัฐบาลที่ผ่านมาหรือรัฐบาลในปัจจุบันทำคือการพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และหวังว่าการบริโภคจะเกิดการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ขึ้นมา เรามองว่าคนที่มีความเห็นแตกต่างกันว่าการกระตุ้นในลักษณะนี้จะถูกหรือไม่ ที่เริ่มให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางนั้น มองว่าเป็นสิ่งที่กำลังถกเถียงกัน

 

แต่สิ่งที่รู้สึกว่าในฐานะที่ประเทศมีคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ เรามองว่าสิ่งสำคัญประเทศไทยต้องมองไปข้างหน้าคือเราจะเดินไปยังวันข้างหน้าอย่างไร เรื่องใหญ่สุดคือการศึกษา เราไม่เคยพูดถึงการสร้างคนขึ้นมาใหม่ และเราไม่เคยคิดจะแก้ปัญหา ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่กัดกร่อนประเทศไทยมากๆ คือคอร์รัปชัน ตั้งแต่เราเป็นเด็กก็จะหวังว่าบ้านเมืองจะเจริญขึ้น มีความรู้ การศึกษา คิดว่าคอร์รัปชันจะลดลงไป แต่เรากลับเห็นคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น

 

ดังนั้นต้องสร้างคนที่จะอยู่ในโลกยุคใหม่ สิ่งที่คาราบาวกรุ๊ปทำคือใช้ AI เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยด้านการทำงาน และช่วยให้เราได้เรียนรู้ เพิ่มทักษะ และคุณค่าของคน ทั้งหมดเป็นเรื่องสำคัญ

 

สตาร์ทอัพ อีกหนึ่งทางลัดเพื่อทางรอดของเศรษฐกิจไทย

นอกจากเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม โลกปัจจุบันก็กำลังขยับเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น สังเกตได้จากบริษัทมากกว่าครึ่งที่มีมูลค่ามากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหลัก แต่ในเวลานี้ประเทศไทยก็มีความท้าทายที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกดังกล่าว เมื่อธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศถูกมองว่าเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ล้าหลังไปแล้ว

 

ในเวลาเดียวกัน ไทยก็กำลังสูญเสียอำนาจด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เม็ดเงินจำนวนมากไหลออกไปสู่บริษัทต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 มีเงินที่ไหลออกจากการซื้อของผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซสูงถึง 6.4 แสนล้านบาท เนื่องจากไทยขาดแพลตฟอร์ม และเป็นผลให้ผู้ใช้งานท้องถิ่นออกไปใช้บริการของต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ดี ความหวังของประเทศไทยก็ยังไม่หมด ธนวิชญ์ ต้นกันยา นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย เชื่อว่าประเทศไทยมีจุดแข็งเชิงสุขภาพ อาหาร และการท่องเที่ยว ที่สตาร์ทอัพสามารถต่อยอดและพัฒนาให้เกิดระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศหรือกระทั่งขยายสู่ระดับโลกได้

 

สำหรับสิ่งที่ธนวิชญ์ ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ อยากฝากถึงภาครัฐและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นวาระเร่งด่วนคือเรื่องเงินทุนสนับสนุน

 

“ตอนนี้ไทยกำลังถูกล่าอาณานิคมด้านดิจิทัลอย่างเงียบๆ จากบริษัทต่างชาติ ผมคิดว่าการให้เงินทุนเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีมูลค่ามากกว่าที่เป็นในปัจจุบันคือกุญแจสำคัญ เพราะวันนี้สตาร์ทอัพไทยเสียเปรียบจากเงินทุนที่ไม่เพียงพอ ทำให้เหมือนว่าเราแทบจะแพ้ตั้งแต่เริ่ม แม้ว่าการลงทุนกับสตาร์ทอัพในสายตาภาครัฐอาจดูมีความเสี่ยง แต่อีกมุมที่ต้องคิดคือประเทศไทยโดยรวมไม่สามารถใช้วิธีเดิมเพื่อแข่งในโลกใหม่ได้อีกแล้ว” ธนวิชญ์กล่าว

 

นอกจากนี้ ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อดีตนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย เคยกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า “ตอนนี้ธุรกิจสตาร์ทอัพคือหนึ่งในทางลัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทย เพราะสตาร์ทอัพเป็นประเภทธุรกิจที่มีศักยภาพในการขยายและเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เราเห็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นบางแห่งสามารถโตจนมูลค่าบริษัททะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ในเวลาไม่ถึง 10 ปี ในขณะที่บริษัทดั้งเดิมอาจต้องใช้หลายสิบปี”

 

กลับมาที่สามอุตสาหกรรมที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยมานานและยังคงเป็นโอกาสทองของไทยในวันนี้ ทั้งด้านสุขภาพ อาหาร และการท่องเที่ยว แต่เมื่อเราเปลี่ยนจาก Old Economy สู่ AI Economy ธนวิชญ์มองว่าเราจำเป็นต้องคว้าโอกาสไว้ให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นสามอุตสาหกรรมดังกล่าวก็จะถูกล่าอาณานิคมจากบริษัทต่างชาติได้หากเราขยับตัวช้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising