×

อัตราความยากจนไทย ‘ลดลง’ ในปี 2024 จากการแจกเงิน แต่รายได้คนแทบไม่เพิ่ม น่าห่วงหรือไม่?

17.02.2025
  • LOADING...
thai-poverty-rate-2024

อัตราความยากจนไทยลดลงในปี 2024 จากปัจจัยหลักคือการแจกเงินและสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ ไม่ใช่เพราะคนมีรายได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ World Bank เตือน! อัตราความยากจนไทยสามารถเด้งกลับขึ้นได้เสมอ อย่างเช่นที่เคยเกิดในอดีต หากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี รายได้คนจนลด แนะภาครัฐพัฒนาทักษะแรงงานและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

 

ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัวรายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ซึ่งประเมินว่า อัตราความยากจน (Poverty Rate) ของประเทศไทยลดลงเหลือ 8.2% ในปี 2024 เนื่องมาจากมาตรการช่วยเหลือ และสวัสดิการต่างๆ ของภาครัฐฯ รวมไปถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ‘เป็นหลัก’ มากกว่าการเติบโตของรายได้ของผู้มีรายได้น้อย ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง (Uneven) ขณะที่ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำ ก็คาดว่าจะลดลงประมาณ 1.5 Gini Points สะท้อนว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยดีขึ้น

 

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า “ก่อนหน้านี้ปัจจัยที่ทำให้อัตราความยากจนของไทยลดลงมาจากเรื่องรายได้ (Income) ด้วย แต่ปัจจุบันมาจากเรื่องสวัสดิการมากกว่า ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้สะท้อนมาจากเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้ผู้มีรายได้น้อยต้องพึ่งสวัสดิการของรัฐฯ อย่างดิจิทัลวอลเล็ต” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

 

เปิดอัตราความยากจนไทย ‘ย้อนหลัง’

 

ทั้งนี้ อัตราความยากจนดังกล่าวที่ 8.2% ในปี 2024 คือความยากจนในระดับเส้นความยากจนระหว่างประเทศสำหรับประเทศระดับรายได้ปานกลางในระดับสูง (The upper middle-income international poverty line) โดยอัตราความยากจนย้อนหลังของไทย มีดังนี้

 

ปี 2015: 14.6%

ปี 2016: 15.7%

ปี 2017: 15.1%

ปี 2018: 15.6%

ปี 2019: 13.1%

ปี 2020: 13.2%

ปี 2021: 12.2%

ปี 2022: 11%

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2022 ธนาคารโลกปรับปรุงเส้นแบ่งความยากจนระหว่างประเทศ (International Poverty Line:IPL) โดยแบ่งเป็น

  • ความยากจนสมบูรณ์โลก (International Poverty Line) อยู่ที่ 2.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน
  • เส้นความยากจนสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับต่ำ (Lower Middle-Income) อยู่ที่ 3.65 ดอลลาร์ต่อวัน
  • ประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper Middle-Income) อยู่ที่ 6.85 ดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มนี้

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

อย่าวางใจ! อัตราความยากจนในไทยมีโอกาส ‘เพิ่มขึ้น’

 

สำหรับในระยะต่อไป หลังหมดโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ดร.เกียรติพงศ์ระบุว่า อัตราความยากจนของไทยมีความเป็นไปได้ที่จะ ‘เพิ่มขึ้น’ อีกครั้ง เนื่องมาจากโครงการแจกเงิน 10,000 บาทในระยะแรก (เฟส 1) ซึ่งครอบคลุมผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้พิการ น่าจะครอบคลุมผู้ที่อยู่ใต้เส้นความยากจน (Poverty line) ไปมากแล้ว ดังนั้นผลกระทบต่ออัตราความยากจน (Poverty Rate) น่าจะมีไปมากแล้ว เมื่อพิจารณาจากกลุ่มตัวอย่างที่เหลือ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุในระยะที่ 2 และคนชนชั้นกลางในระยะที่ 3

 

นอกจากนี้ ดร.เกียรติพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า “โอกาสที่อัตราความยากจนในไทยจะกลับมาเพิ่มขึ้น ‘มีเสมอ’ โดยต้องพิจารณาภาพรวมปีนั้นประกอบด้วย ตัวอย่างเช่น ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่ รายได้ของผู้ยากจนเพิ่มขึ้นหรือไม่”

 

ทำอย่างไร? ให้อัตราความยากจนในไทยลดลงอย่างยั่งยืน 

 

ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) มองว่า อัตราความยากจนที่ลดลงซึ่งมาจากสวัสดิการของภาครัฐก็เป็นเรื่องที่ควร เนื่องจากในประเทศไทยยังมีผู้คนหลายกลุ่มจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลจริงๆ ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุ

 

อย่างไรก็ตาม ดร.กอบศักดิ์ย้ำว่า รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือแบบเดิมๆ ต่อไปนานๆ ไม่ได้ โดยควรเปลี่ยนรูปแบบผ่านการทำให้ผู้มีรายได้น้อย หรือ “คนข้างล่างให้โตได้ด้วยตัวเอง หรือต้องให้เขาหารายได้เองให้ได้อย่างยั่งยืน”

 

หากต้องการให้อัตราความยากจนในไทยลดลงอย่างยั่งยืน ธนาคารโลกแนะนำว่า ในระยะกลางไทยจะต้องลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น อุทกภัย ควบคู่ไปกับการจัดการความท้าทายด้านโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุและรายได้ของแรงงาน

 

“ไทยจำเป็นต้องทำให้มั่นใจว่า ผู้มีรายได้น้อยจะมีรายได้และการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ภาครัฐจะต้องพัฒนาทักษะแรงงานและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่แค่ให้สวัสดิการและแจกเงินเท่านั้น แต่ต้องทำให้แรงงานมีทักษะและเข้าไปอยู่ในตลาดแรงงานได้” ดร.เกียรติพงศ์กล่าวเพิ่มเติม

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising